โชว์ศักยภาพไทยใน Astana Expo 2017 ตีโจทย์พลังงานทดแทนสู่พลังงานอนาคต

อาคารจัดแสดงลูกโลก Astana Expo 2017 นำเสนอFuture Energy ของประเทศคาซัคสถาน

เมื่อพูดถึงงาน International Recognized Exhibition Expo2017 Astana นับว่าเป็นงานมหกรรมนานาชาติของมวลมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเลยก็ว่าได้

ซึ่งในปีนี้กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 115 ประเทศ และ 20 กว่าองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการในช่วงเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กันยายน 2560

สำหรับปีนี้ได้กำหนดธีมหลักให้แต่ละประเทศนำเสนอไอเดียเกี่ยวกับ พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ประเทศเจ้าภาพได้เนรมิตพื้นที่กว้าง 1,740,000 ตารางเมตร หรือ 1,087.5 ไร่ ให้ทุกประเทศแสดงผลงาน โดยมีไฮไลต์เป็นแลนด์มาร์กอย่าง ตัวลูกโลกกลม สูง 7 ชั้น ซึ่งคาซัคสถานทุ่มทุนสร้างกว่า 16,000 ล้านบาท จัดแสดงนิทรรศการพลังงานของประเทศตนเองด้วย

ตีโจทย์พลังงานอนาคต เน้นใช้พลังงานทดแทน

Advertisement

สำหรับประเทศไทยมีกระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพหลักในการนำเสนอ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาชุมชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)

พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน บอกว่า กระทรวงพลังงานได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลักจัดงานนี้ภายใต้หัวข้อ “พลังงานแห่งอนาคต” โดยเลือกแนวคิดนำเสนอการพัฒนาพลังงานชีวภาพเพื่อมวลมนุษยชาติ Bio energy for all ซึ่งจะแสดงศักยภาพพลังงานทดแทนจากการนำผลผลิตการเกษตรที่เหลือใช้จากการบริโภคมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เรื่องนี้จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ในงาน expo2017 เลยก็ว่าได้ เพราะประเทศคาซัคสถานส่วนใหญ่จะเน้นการใช้พลังงานน้ำมัน แก๊ส พลังงานลม และแสงแดด เป็นหลัก ไม่ใช้พลังงานทดแทน และการนำเสนอพลังงานทดแทนในปีนี้ สิ่งสำคัญคือการน้อมนำแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นบิดาแห่งพลังงานไทย มาเผยแพร่ให้ประชาคมโลกได้รับรู้แนวคิดเรื่องพลังงานในโครงการต่างๆ ของพระองค์ท่าน”

พล.อ.สุรศักดิ์แสดงความมั่นใจว่าการจัดนิทรรศการของคนไทยจะสร้างความประทับใจและดึงดูดให้คนต่างชาติเข้าชมได้มากกว่า 500,000 คน และติดอันดับ 1 ใน 5 อาคารการจัดแสดงงานในครั้งนี้ด้วย

ศาลาไทย (Thai pavilion)

อลังการศาลาไทย
จัดเต็มความรู้-วัฒนธรรม

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า กระทรวงพลังงานทุ่มทุนสร้างศาลาไทย (Thai pavilion) อย่างอลังการ ด้วยงบประมาณ 249 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นชาติแรกที่เนรมิตรอาคารเสร็จก่อนประเทศอื่นๆ โดยพาวิลเลียนไทยจัดแสดงนิทรรศการสื่อถึงความเป็นไทยบนพื้นที่ 974.67 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่จัดแสดง 3 ห้อง

ห้องแรก LiveExhibition : Our ways,Our Thai : วิถีเรา วิถีไทย นำเสนอการแสดงวัฒนธรรมไทยผ่านรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่งดงาม

เริ่มจากความอ่อนช้อยในระบำชุดต่างๆ ทั้ง รำโนราห์บูชายัญ ฟ้อนภูไท และความสง่างามของโขนยกรบ หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ตามมาด้วยความระทึกใจของศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งการแสดงเหล่านี้จะสร้างความประทับใจ และตื่นตาตื่นใจให้กับชาวต่างชาติ

นิทรรศการห้องที่ 2 Theater farming the future energy ปลูกพลังงาน ปลูกอนาคต เน้นเรื่องราวของห้องทดลองพลังงานแห่งอนาคต เพื่อสร้างพลังงานทดแทนมาใช้เป็นพลังงานในอนาคต

โดยพลังงานที่ว่านั้นเป็นพลังงานที่ถูกพัฒนามาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย

นั่นเป็นเพราะพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีวิสัยทัศน์และพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนให้คนไทยนำมาใช้ได้อย่างพอเพียง

โดยเสนอผ่านห้องฉายภาพยนตร์แบบ 4D ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้ถึงพลังงานแห่งอนาคต ที่มีตัวเอกเป็นหุ่นยนต์ Animatronic ชื่อน้อง “พลัง” พาผู้เข้าชมงานรับชม Animation แบบสามมิติ ให้รับรู้ถึงพลังงานแห่งอนาคตของไทยอย่างตื่นตาตื่นใจ

ปิดท้ายด้วยนิทรรศการห้องที่ 3 Interactive Exhibition : Energy Creation Lab สร้างพลังงาน สร้างพลังไทย เป็นห้องที่รวบรวมพลังงานชีวมวลพลังงานชีวภาพ ไม่ว่าจะ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ ของเสีย มันสำปะหลัง และปาล์ม ที่สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ มากไปกว่านั้นยังช่วยเหลือเกษตรกรและคนไทยให้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนในอนาคต

‘พลังงานทดแทน’จุดหมายก้าวต่อไป

อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบายว่า ประเทศเรามีพลังงานทดแทนสมบูรณ์ที่สุดของโลก ทั้งจากวัสดุทางด้านเกษตร ไบโอแก๊ส แสงแดด ครบทุกรูปแบบ พลังงานทดแทนของเราจะเป็นการพัฒนาพลังงานในอนาคตของโลก จึงนำมาโชว์ให้ชาวต่างชาติชมในงานนี้ เพราะทุกอย่างเป็นสิ่งแปลกใหม่ในประเทศภูมิภาคนี้

“สำหรับ Bio energy for all นั้น เราจะโชว์ อ้อย ปาล์ม น้ำมัน พืช มูลสัตว์ มันสำปะหลัง อันเป็นของที่เหลือใช้แล้ว เรานำมาเป็นพลังงานทดแทนและเรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าไทยจะเดินไปในทิศทางนี้ด้วยการใช้พลังงานในอนาคต ทั้งยังสอดรับการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) หรือที่เรียกว่า COP21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาที่รวมกันทำข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ให้บรรลุสำเร็จ ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030”

ปลัดกระทรวงพลังงานขยายความเพิ่มเติมให้เข้าใจถึงสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 50% ซึ่งทุกวันนี้เวลาเราเติมน้ำมันดีเซล ใช้พลังงานทดแทดแทน ปาล์มน้ำมัน เอสทานอลอยู่ 10% ตามแผน 20 ปี จะเพิ่มเป็น 30% ขณะที่พลังงานไฟฟ้า ตอนนี้เกือบ 10% ในอนาคต 20-30% ส่วนพลังงานความร้อน โดยเฉพาะถ่านหินภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทุกวันนี้เราพยายามผลิตพลังงานจากพืชที่เหลือใช้แทนการนำเข้าถ่านหิน และน้ำมัน

“ถ้าเราใช้พลังงานทดแทนได้เต็มรูปแบบ การนำเข้าพลังงานก็จะลดน้อยลงไป ทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” ปลัดกระทรวงพลังงาน เน้นย้ำถึงแนวทางการใช้พลังงานทดแทน

นอกจากเรื่องราวของพลังงานทดแทนที่ชาวไทยภูมิใจนำเสนอออกสู่สายคนต่างชาติแล้ว ในมหกรรมดังกล่าวยังช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย จำพวกเย็บปักถักร้อย ทอผ้า สานเสื่อ ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลเป็นการกระตุ้นภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยออกสู่สายตาชาวโลกด้วย

มองอนาคตบุกเอเชียกลาง

“ผมคิดว่าเป็นโอกาสดี ถ้าไม่มีงาน Expo ครั้งนี้ นักธุรกิจไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับคาซัคสถานมากนัก การมีงานนี้เสมือนเป็นการเปิดดวงตาเราให้มองถึงประเทศนี้มากขึ้น”

เป็นคำกล่าวของ ณัฐ ภิญโญวัฒนชีพ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ถึงโอกาสการลงทุนในภูมิภาคนี้

(จากซ้าย) ณัฐ ภิญโญวัฒนชีพ, พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์, อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม

เพราะอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อมีถนนวันเบลท์วันโรดของจีน การขนส่งจะลดระยะทางมาประเทศนี้ได้มากกว่า 12 วัน เพื่อไปอิหร่าน ตุรกี จึงเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มการท่องเที่ยวได้

สำหรับโอกาสของประเทศไทย ท่านทูตบอกว่า ในที่นี้คิดว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะอาหารฮาลาล น่าจะเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจไทยลงทุนด้านอาหาร โดยเราต้องมาทำตลาดที่นี่ จะมาขายอย่างเดียวโดยไม่รู้จักตลาดไม่ได้ ต้องปรับกระบวนทัศน์มองอนาคตในภูมิภาคเอเชียกลาง เพราะพื้นที่แถบนี้หลังจากงาน Expo นี้ จะเปลี่ยนเป็นไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์ในเอเชียกลาง ซึ่งมีหลายอย่างคนไทยไม่ทราบ เช่น ในด้านการท่องเที่ยว ผู้บริโภค สินค้า และอาหารฮาลาล จะเป็นการเสริมศักยภาพให้นักธุรกิจไทย

“แม้ว่ามูลค่าการค้าในไทยและอาเซียนต่อคาซัคสถานจะมีน้อยเพียงแค่ 50-70 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น เพราะไม่ได้ส่งสินค้ามาโดยตรง ต้องส่งผ่านประเทศรัสเซีย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดทางด้านภาษาและมีกฎระเบียบมาก เพราะตลาดในอัสตานายังเป็นตลาดเล็ก มีแค่ 1 ล้านคน กับการที่จะส่งสินค้าจำนวนน้อยคงลำบาก แต่เราก็มีการคุยกันอยู่กับสำนักงานการค้าต่างประเทศที่มอสโก ประเทศรัสเซีย ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร หากมีนักธุรกิจไทยสนใจการลงทุน เราจะได้ดำเนินการ”

สำหรับเส้นทางที่จะติดต่อคมนาคมกับภูมิภาคเอเชียกลางนั้น ท่านทูตไทยประจำคาซัคสถาน ตอบว่า อาจจะใช้ทางจีนเข้าประเทศเวียดนามและเข้าสู่ไทย เป็นมิติใหม่ที่สามารถส่งผ่านสินค้ามายังภูมิภาคนี้ได้

“อยากให้มองว่าประชากร 180 ล้านคน ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียค่อนข้างน่าสนใจ เพราะทางกระทรวงพาณิชย์เริ่มเจรจาและมาเป็นสมาชิกที่นี่”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image