24 มิถุนา 2475 มรดกคณะราษฎร ที่พิพิธภัณฑ์ไทย (เลือก) ไม่เล่า?

สุนทราภรณ์ ในยุคมาลานำไทย มีพัฒนาการจากวงดนตรีรัฐ ร้องเพลงปลุกใจตามแนวคิดชาตินิยม ก่อนเข้าสู่ป๊อป คัลเจอร์

เป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการว่า “รัฐประชาชาติไทย” ถือกำเนิดครั้งแรกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เมื่อสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จากการปฏิวัติของ “คณะราษฎร” นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา

สำนึกเกี่ยวกับชาติ มารยาท วัฒนธรรมและการแต่งกายที่ถูกปลูกฝังว่าดีงามตามอย่างสากล ดนตรีที่ได้รับการการันตีว่ามี “อารยะ” อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านจาก “สยามเป็นไทย” แม้กระทั่งเพลงชาติที่ร้องกันหน้าเสาธงจนถึงทุกวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในห้วงเวลา 15 ปีของ “ยุคคณะราษฎร”

เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นไทย” ในภาพลักษณ์ที่เรารู้จักและคุ้นเคย

เพลงชาติสยามแต่งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2475 ต่อมาปรับเพิ่มเติมแล้วประกาศใช้ใน พ.ศ.2477 ก่อนเปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2482 ทั้งหมดเกิดขึ้นตามแนวคิดคณะราษฎร

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นที่กล่าวกันว่าสำคัญยิ่งก็คือ การขยายการศึกษามวลชน พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับมีผลในเชิงปฏิบัติเป็นครั้งแรก โรงเรียนในชนบทมากมายเกิดขึ้นจากจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้น

Advertisement

สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นแล้วจบลงอย่างสิ้นเชิง หากแต่ยังโลดแล่นในสังคมปัจจุบัน ถูกผลิตซ้ำและใช้งานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ทว่า พื้นที่ซึ่งถูกคาดหวังตามพันธกิจในการจัดการความรู้เกี่ยวกับอดีต อย่าง “พิพิธภัณฑ์” ในบ้านเรา เล่าเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร เลือกที่จะหลงลืม จดจำ เน้นย้ำ หรือลดทอนแนวคิดบางประการ?

เป็นประเด็นที่ชวนให้ทบทวนเป็นอย่างยิ่ง

เพลงชาติ วัฒนธรรม และความเป็นไทย(ที่ไม่ถูกเล่า)?

เริ่มจากประเด็นภาพจำเกี่ยวกับความ “รักชาติ” ที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมทางดนตรี และการแสดงมากมาย ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของคณะราษฎร

อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักแต่งเพลง คอลัมนิสต์ และเจ้าของผลงานหนังสือ “เสียงแห่งความทรงจำ” ย้อนอธิบายถึงมรดกวัฒนธรรมในยุคหลัง 2475 ว่าคณะราษฎรมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างแนวคิด “ชาตินิยม”

เพลงชาติสยามเวอร์ชั่นแรกถูกแต่งขึ้น โดยขุนวิจิตรมาตรา และพระเจนดุริยางค์ในปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร้องขึ้นต้นว่า “แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง” จากนั้นมีการปรับเนื้ออีกหลายครั้ง กระทั่งได้เพลงชาติเวอร์ชั่นปัจจุบันซึ่งประกาศใช้ใน พ.ศ.2482 ประพันธ์คำร้องโดยหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

ไม่เพียงเท่านั้น เพลงในเทศกาลต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะปีใหม่สากล ลอยกระทง สงกรานต์ ฯลฯ ก็เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎร โดยวงกรมโฆษณาการ มีหน้าที่ร้องเพลงปลุกใจแนวชาตินิยมตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในยุคนั้น ในขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งก็ก้าวเข้าสู่ปริมณฑลของ “ป๊อป คัลเจอร์” ร้องเพลงในโรงภาพยนตร์และงานรื่นเริง เป็นที่รู้จักในนาม “สุนทราภรณ์” นั่นเอง

ยังไม่นับการแสดงแนวปลุกใจมากมาย อาทิ อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง และเพลงชวนฮึกเหิมนับไม่ถ้วน เช่นที่ฮัมกันติดปากอย่าง “รักเมืองไทย ชูชาติไทย ทะนุบำรุงให้รุ่งเรือง สมเป็นเมืองของไทย” ก็มาจากแนวคิดคณะราษฎร

ถามว่าพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางดนตรี ได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่?

อติภพ ครุ่นคิดแล้วบอกว่า “ยังไม่เห็น”

หรืออย่างน้อย ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่าง “เชื่อมโยง” กับประวัติศาสตร์แนวคิดช่วงดังกล่าวให้คนได้เรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

โปสเตอร์หาเสียงของพระวุฑฒิภาคภักดี เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยหลัง พ.ศ.2475 ส่วนหนึ่งของนิทรรศการถาวรรัฐสภาไทย อาคารรำไพพรรณี ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ

ประชาธิปไตย กรมโฆษณาการ
และยุคเปลี่ยนผ่าน ‘สยามเป็นไทย’

มาถึงประเด็นบทบาทของพิพิธภัณฑ์ไทยที่เล่าถึงเหตุการณ์ในการปฏิวัติ รวมถึงบรรยากาศในช่วงเวลานั้น

แน่นอนว่าพิพิธภัณฑสถานทั่วประเทศที่ลงท้ายด้วยคำว่า “แห่งชาติ” ไม่ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้

ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวในงานเสวนา “เรื่องที่พิพิธภัณฑ์ (อาจ) ไม่ได้เล่า” เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล 2017 ตอนหนึ่งว่า ตัวตนของประวัติศาสตร์ช่วง 2475 เป็นสิ่งที่น่าจะได้รับการอภิปรายว่าถูกนำเสนออย่างไรในพิพิธภัณฑ์ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นหมุดหมายที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์ไทย โดยยกพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งที่มีการนำเสนอเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าว คือ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ มิวเซียมสยาม ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ทั้งคู่นำเสนอคนละแง่มุม

“พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ นอกจากพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ก็ยังนำเสนอเรื่องการปฏิวัติของคณะราษฎรด้วย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในรัชสมัยของพระองค์ มีการให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดอะไรขึ้น โดยนำเสนอผ่านนิทรรศการว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยตามแนวทางประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เป็นความทรงจำร่วมในสังคมไทย

แก้วเซรามิกที่ระลึกแห่งวันได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 โดยบริษัทนม ตราแหม่มทูนหัว จัดแสดงที่ “พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กรุงเทพฯ

“ในขณะที่มิวเซียมสยาม มีห้องที่ชื่อว่ากำเนิดประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการชุด เรียงความประเทศไทย เนื้อหาหลัก พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของคณะราษฎร โดยไฮไลต์ที่การเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย และบทบาทของกรมโฆษณาการในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยเมื่อเทียบกับสมัยนายกฯคนอื่นๆ ในช่วง 15 ปีของคณะราษฎร มีบริเวณให้ผู้ชมเล่นบทผู้ประกาศข่าว มีการให้ภาพว่าเป็นยุคแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งในแง่ของข้อเท็จจริง ก็เป็นอย่างนั้น” ดร.ธนาวิกล่าว พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่า นอกเหนือจากประเด็นที่ว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์หรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เพราะอะไรจึงเป็นแง่มุมที่ถูกเลือกเพื่อนำเสนอในพิพิธภัณฑ์

‘เห็น แต่เหมือนไม่เห็น’
ศิลปะ-สถาปัตย์คณะราษฎร

นักประวัติศาสตร์ศิลปะท่านนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า แต่เดิมความสนใจของผู้คนเกี่ยวกับศิลปกรรมในยุคดังกล่าวไม่ได้แพร่หลาย ทว่า เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม

“ก่อนหน้านี้ คนอาจนั่งรถผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทุกวัน แต่ไม่ได้นึกว่าใครสร้าง เช่นเดียวกับมรดกอื่นๆ ของคณะราษฎร เราเห็น แต่เหมือนไม่เห็นไปพร้อมๆ กัน คือ เห็นแต่วัตถุ โดยมองไม่เห็นความหมายและเหตุการณ์ที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ แต่พอเกิดรัฐประหารปี”49 ความสนใจเรื่องคณะราษฎรโผล่ขึ้นมาใหม่ มีการจัดงานรำลึก 24 มิ.ย.2475 การรื้อฟื้นอดีต ถูกผลักดันด้วยเหตุการณ์ร่วมสมัยบางอย่าง นับเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายสำหรับงานศึกษาเกี่ยวกับทั้งความทรงจำ, ศิลปกรรมและพิพิธภัณฑ์”

ฉากจำลองห้องอ่านข่าวที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ บอกเล่าบทบาทของกรมโฆษณาการในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงหลังจัดแสดงมานาน 8 ปี

เมื่อประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นการดีหรือไม่ หากลุกขึ้นมาก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์คณะราษฎร” หรือ “พิพิธภัณฑ์ 2475”?

ประเด็นนี้ ดร.ธนาวิมองว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องจำเป็น” เนื่องจากภารกิจของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บของให้คนไปเดินดู แต่ต้องมาขบคิดกันว่าในฐานะสถาบันที่ผลิตองค์ความรู้จะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร เช่น อาจสร้างกิจกรรม งานเสวนา และนิทรรศการชั่วคราวเพื่อให้ความรู้ เพราะอดีตไม่ได้อยู่ข้างหลังอีกต่อไป แต่ถูกนำกลับมามีบทบาทใหม่ในยุคร่วมสมัย

พิพิธภัณฑ์ชุมชน “ไออาร์เอยุคใหม่” ที่ไอร์แลนด์เหนือ เล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้คน

กล่อมให้จำ ย้ำให้ลืม

จากพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ลองออกไปส่องมุมมองของชาวโลกกันบ้าง

ดร.ฐิติวุฒิ บุณยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งปวารณาตนเป็น “มิวเซียมเลิฟเวอร์” เล่าว่า ในต่างประเทศมีพิพิธภัณฑ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของผู้คน อย่างที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ มีการใช้คุกที่เคยจองจำนักโทษทางการเมืองมาเป็นมิวเซียมเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือที่กรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ ก็มีพิพิธภัณฑ์ชุมชน “ไออาร์เอยุคใหม่” เล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของตน มีการนำเสื้อผ้า กระบอกน้ำ ข้าวของเครื่องใช้มาจัดแสดงให้ชม

อย่างไรก็ตาม ดร.ฐิติวุฒิมองว่า ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย หรือมิวเซียมแห่งใดในโลก นิทรรศการที่ถูกจัดแสดง ย่อมมี “การเมือง” ควบคุมอยู่ พิพิธภัณฑ์เป็นการเลือกจำ หรือลืม โดยตอกย้ำจุดที่อยากให้คนจดจำ เลือกความทรงจำ รวมถึงลดทอนความคิดบางอย่าง เพื่อสืบทอดความทรงจำนั้นๆ

การที่พิพิธภัณฑ์เลือกไม่เล่า คือ การเลือกที่จะลืม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image