คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : แค่คืบ

ฟัง “ฟินเทค นวัตกรรมการเงิน เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” ที่มติชนจัดเนื่องในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 40 แล้ว ตื่นตาตื่นใจ

อาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นำทีมเปิดการรับรู้

อาจารย์สมคิดเพิ่งปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นและกลับมา

บอกว่า นายกรัฐมนตรี อาเบะ ประกาศให้ญี่ปุ่นขับเคลื่อนสู่ 5.0 ใน 10 ปี

Advertisement

รัฐบาลเขาจะทำให้สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยี

สังคมแห่งนวัตกรรม

ดังนั้น ไทยในฐานะสมาชิกของโลกที่ต้องอยู่ร่วมกับนานาอารยประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับตัว

Advertisement

แม้จะยังก้าวไปสู่ 5.0 ไม่ได้ เอาแค่ไทยแลนด์ 4.0 นี่แหละ

ถ้าทำได้ก็ติดต่อกับชาวโลกได้สบาย

ไทยแลนด์ 4.0 เคยบอกกล่าวเอาไว้เมื่อการเสวนามติชนปีที่ 40 ปีครั้งก่อนว่า หัวใจคือนวัตกรรม

ดังนั้น หากประเทศไทยจะยกระดับเป็น 4.0 ทุกฝ่ายต้องมีนวัตกรรม

แม้แต่ “การเงิน” ซึ่งเป็นเสมือนเลือดหล่อเลี้ยงประเทศก็ต้องมีนวัตกรรม

เรียกว่านวัตกรรมทางการเงิน หรือชื่อย่อว่า “ฟินเทค”

เมื่ออาจารย์สมคิดบอกเล่าจนเห็นความจำเป็น รัฐมนตรีอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ขุนคลังก็ขึ้นเวที

ฉายภาพงานของกระทรวงการคลัง 5 ด้าน

ด้านแรกคือ ความมั่นคง โดยสร้าง เอสเคิร์ฟใหม่ให้ไทย สอดรับกับนโยบายที่อาจารย์สมคิดเสนอ

ด้านต่อๆ มาคือ ความปลอดภัย การพัฒนา ลดเหลื่อมล้ำ และการเก็บรายได้

จบจากรัฐมนตรีคลัง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นมาสานต่อ

บอกเล่าให้เห็นว่า เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเงิน จะทำให้ หนึ่ง คนที่มีเงินออมส่วนเกินจะไปลงทุนได้โดยตรงผ่านทางเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์

ภาษายากๆ เรียกว่า “เพียร์ทูเพียร์”

สอง เทคโนโลยีจะลดการตรวจเช็กจากส่วนกลาง ข้อมูลจะกระจายตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล เกิดความโปร่งใส และมีความรวดเร็ว

สาม สมาร์ทโฟนจะมีบทบาทสำคัญ สี่ พรมแดนภาคการเงินระหว่างประเทศหดหาย

และ ห้า บิ๊กดาต้าหรือข้อมูลรายธุรกรรมที่มีการบันทึก จะโดดเด่นเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ช่วยให้ หนึ่ง เพิ่มผลิตภาพให้ระบบเศรษฐกิจได้

สอง ช่วยสร้างระบบคุ้มกันภัยให้ระบบ และสาม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ลองย้อนกลับไปทบทวนคำกล่าวของรัฐมนตรีคลังอีกสักรอบ จะเห็นว่าฟินเทคสามารถตอบโจทย์ให้กระทรวงการคลังได้เป็นอย่างดี

ต่อมาถึงคิวของบิ๊กธนาคารรัฐ และเอกชนขึ้นมาถ่ายทอดความรู้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ธนาคารไทยพาณิชย์

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ธนาคารกสิกรไทย

และ นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

ทุกคนต่างยืนยันเหมือนกันว่า เทคโนโลยีได้เข้ามาอยู่ข้างๆ ตัวเราแล้ว

นายฉัตรชัย ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ปรับปรุงระบบบริการของธนาคาร

ในเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มเปิดสาขาธนาคารที่มีคนทำงานเพียง 2 คน

นายอรพงศ์ ยกตัวอย่างให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คน

มองเห็นความสำคัญของคนทุกรุ่นที่อยู่หน้าแทบเล็ต

มองเห็นพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นโจทย์สำหรับธนาคารต้องตอบให้ได้

ขณะที่นายธนพงษ์ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของกสิกรไทย

เริ่มตั้งแต่การลดสาขาลง เพราะลูกค้าเริ่มใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น

มีการจับมือกับพันธมิตรอย่างเอไอเอส และผลักดันให้เกิดสตาร์อัพ

บริษัทที่นายธนพงษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ เพิ่งเปิดตัวกองทุนไปเมื่อไม่นาน

มีเงินกองทุน 1 พันล้านบาทเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งนายทวีลาภขึ้นมาอธิบายได้สรุปจังหวะก้าวของฟินเทคได้อย่างชัดแจ้งนายทวีลาภกระตุ้นให้ทราบว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา

แม้แต่การเปลี่ยนแปลงในภาคการเงิน

ทศวรรษ 1860 โลกมีเซมิคอนดักเตอร์ ทศวรรษ 1970 มีเมนเฟรมคอมพิวเตอร์

ทศวรรษ 1980 มีเทอร์มินัล และระบบแลน ทศวรรษ 1990 มีอินเตอร์เน็ต

จากนั้นทศวรรษ 2000 เมื่อมีสมาร์ทดีไวซ์ และต่อมามีโทรศัพท์มือถือ

ทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ต่อไปเทคโนโลยีจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรามากขึ้น และอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา

ระบบเครื่องยืนยันตัวตนทางชีวภาพ เช่น สแกนม่านตา ฯลฯ การเก็บข้อมูลใน “คลาวด์”

การใช้บล็อกเชน ควอนตัม คอมพิวติ้ง และหุ่นยนต์ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเรา

นายทวีลาภย้ำว่าทุกอย่างอยู่ใกล้ตัวเรานี่แหละ

หลายคนอาจรู้แล้ว แต่อีกหลายคนอาจยังไม่รู้

แต่เราควรจะรู้ตัวก่อนที่ทุกอย่างจะมาปรากฏ จะได้ไม่ตกใจ

ควรรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

รู้ถึงผลกระทบ และรู้ถึงประโยชน์

รู้และทำความเข้าใจ รู้เพื่อให้เราเท่าทันโลก

เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ใกล้แค่คืบนี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image