ประสานักดูนก : เหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา

เหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา วัยเด็ก

เหยี่ยวปลาในบ้านเรา มี 2 ชนิด คือ เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา และเหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา จากชื่อก็พะยี่ห้อลักษณะเด่นของชุดขนว่า ตัวเต็มวัยมีหัวสีเทา ต่างกันที่ขนาดเท่านั้น คือ ใหญ่และเล็ก ขนาดตัวยาว 70 และ 60 ซม ตามลำดับ ต่างกัน 10 ซม โดยเฉลี่ย แต่จริงๆ แล้ว จุดจำแนกที่สำคัญระหว่างคู่คล้าย 2 ชนิดนี้อยู่ที่ขนหาง เหยี่ยวปลาใหญ่จะมีแถบขาวและดำตัดกันชัดเจนในขณะที่เหยี่ยวปลาเล็กมีแถบสีคล้ำที่หาง

เหยี่ยวปลาเป็นเหยี่ยวประจำถิ่นที่อาศัยในป่า และจำเป็นต้องมีลำธาร หรือคลองกลางป่าเป็นแหล่งล่าปลาน้ำจืด เหยี่ยวปลาจึงจะอาศัยอยู่ได้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เป็นป่าดิบชื้นที่ราบต่ำที่มีบางส่วนถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนรัชชประภา ร่องน้ำที่กินลึกเข้าไปในป่าดิบ หรือคลอง จึงเป็นถิ่นอาศัยที่เอื้อต่อการล่าของเหยี่ยวปลา ป่าคลองแสงจึงเป็นแหล่งชมเหยี่ยวปลาที่สำคัญในประเทศ พบได้ตลอดปีเพราะเหยี่ยวไม่ได้อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลไปที่อื่น เดือนมิถุนายน ลูกเหยี่ยวพากันออกจากรัง มาฝึกบินฝึกล่าด้วยตนเอง โดยมีแม่เหยี่ยวคอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ บางครั้งถ้าลูกเหยี่ยวจับปลาเองไม่ได้ ก็จะล่าปลามาให้ลูกฉีกกินเอง

เหยี่ยวปลามีพฤติกรรมหวงถิ่นอย่างมาก มักส่งเสียงร้องประกาศอาณาเขตในช่วงเช้า และยามเย็นเพื่อเตือนนกนักล่าชนิดอื่นๆ มิให้เข้ามาในพื้นที่ล่าปลาของตัว ในเวลากลางวัน เมื่อมีลมร้อนก็จะร่อนบนฟ้า คอยตรวจตราอาณาเขตบ้านของตน

ป่าคลองแสงเป็นแหล่งอนุบาลของนกออก วัยเด็กและวัยรุ่นที่สำคัญ มีนกออกวัยไม่เต็มเหล่านี้หลายตัวที่อาศัยอยู่ตลอดปี จนกว่าจะเต็มวัยเจริญพันธุ์ จับคู่แล้วพากันไปทำรังวางไข่ที่ชายทะเลซึ่งห่างจากป่าคลองแสง ไม่เกิน 50 กม. ด้วยระยะขจัดที่นกนักล่าขนาดใหญ่ระดับนกออก ที่เป็นนกอินทรีทะเล สามารถบินไปมาได้สบายๆ แม้จะตัวใหญ่กว่าแต่ยังวัยละอ่อน นกออกเหล่านี้จะตกเป็นลูกไล่ของเหยี่ยวปลาที่แม้ตัวเล็กกว่าแต่ด้วยชำนาญพื้นที่ อาศัยอยู่ตลอดปี คอยไล่นกออก จะได้ลดคู่แข่งแย่งปลาในคลอง กระนั้นเมื่อพื้นที่ป่าคลองแสงกว้างใหญ่ อุดมด้วยปลาจำนวนมาก จึงยังมีพื้นที่หากินให้นกออกอาศัยอยู่ได้ไปตลอดหลายปี

Advertisement

วิธีการจับปลาของเหยี่ยวปลา นกออก จะเหมือนเหยี่ยวแดง จะบินต่ำลงใกล้ผิวน้ำ ใช้กรงเล็บยาวจับปลาที่ลอยตัวขึ้นมาใกล้ผิวน้ำเพื่อรับอากาศ ต่างจากเหยี่ยวออสเปรที่จะทุ่มตัวลงในน้ำเพื่อจับปลา แม้ว่าเหยี่ยวออสเปรเป็นนกอพยพที่ควรจะเดินทางกลับไปเขตอบอุ่นเพื่อจับคู่ทำรังแล้ว แต่ บางตัวก็ไม่อพยพกลับ อาศัยอยู่ในคลองแสงตลอดปี เพราะไม่พร้อมที่จะกลับไปผสมพันธุ์ ซึ่งมักจะเป็นเหยี่ยววัยเด็ก

ดังนั้นป่าคลองแสงจึงเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญมากต่อเหยี่ยวกินปลา ทั้งที่เป็นเหยี่ยวประจำถิ่นและอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในฤดูหนาว ทั้งในแง่การอนุรักษ์และแหล่งศึกษาเหยี่ยวปลาในบ้านเรา.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image