“สศช.”ชี้จีดีพี5%ต่อปีมีโอกาสเกิดขึ้นในแผน12เหตุศก.โลกดีภัยแล้งสิ้นสุด-แต่สังคมสูงวัย-มีลูกน้อยยังเป็นปัจจัยฉุด

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตั้งการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งประเทศ (จีดีพี) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) ให้ขยายตัวเฉลี่ย 5%ต่อปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง หรือ มีรายได้เฉลี่ย 12,600 เหรียญสหรัฐ/คน/ปี ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศไทย สามารถขยายตัวได้เพียง 3.5% ต่อปีเท่านั้น เนื่องจากต้องยอมรับว่าในช่วงดังกล่าวประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทบต่อเกษตรกร ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และภาคลงทุน อย่างไรก็ตามในปีนี้ ปัญหาเหล่านี้ได้เริ่มคลี่คลาย จึงเชื่อว่าจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น หรือเหมือนเครื่องบินที่กำลังทะยานขึ้น (เทคออฟ) รวมทั้งภาครัฐก็พร้อมสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5% อาทิ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โครงการส่งเสริมการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“ปัจจัยสำคัญ อย่างหนึ่งที่จะทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวได้ที่ 5% คือ การลงทุนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งในส่วนของการลงทุนภาครัฐ พบว่า สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 10% ของจีดีพีทั้งประเทศ แต่ในส่วนของภาคเอกชนที่ตั้งเป้าไว้ที่ 7.5% ของจีดีพีทั้งประเทศ ยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะปรับดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน”นายปรเมธี กล่าว

นายปรเมธี กล่าวว่า นอกจากเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสังคม อย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังถือเป็นสิ่งที่ท้าทายของประเทศ เนื่องจากไทยยังจประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำด้วย โดยปัจจุบันอัตราการมีลูกต่อครอบครัวอยู่ที่ 1.6 คน และประมาณการว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะลดลงอีกเหลือ 1.3คน โดยเด็กเกิดใหม่ปัจจุบันลดลงจาก 1 ล้านคนต่อปี เหลือ 7 แสนคนต่อปี และในอนาคตจะลดลงไปอีก ทำให้มีปัญหาวัยแรงงานหดตัว อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนประชากรของชาติขึ้น คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปลายเดือนกรกฎาคม ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งในแผนตั้งเป้าหมายที่จะตรึงอัตราการมีบุตรของครอบครัวไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 1.6 คน ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและยาก เพราะปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีบุตรลดลงไปเรื่อยๆ

“คนรุ่นใหม่ๆในเจเนอเรชั่นวาย แซดและ แอลฟ่า ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าอยากมีครอบครัวหรือแต่งงานมีบุตร และมักจะอยู่กับโทรศัพท์มือถือ มากกว่าอยู่กับคนอื่น เป็นดิจิทัล คอนเน็ค จึงมีโอกาสมีลูกได้ยาก และจากประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเกิดน้อย รัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีบุตรในหลายเรื่อง ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยก็ต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนสำหรับมาตรการนั้นๆ แต่ก็มีหลายมาตรการที่ทำได้ในเรื่องการปรับพฤติกรรม เช่น การให้ผู้ชายมามีส่วนในการเลี้ยงลูกมากขึ้น สามารถลางานมาเลี้ยงลูก ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว”นายปรเมธี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image