‘ไพรมารีโหวต’เพื่อ..? โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อ สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองเพิ่มเติมให้มี “ไพรมารีโหวต” หรือการเลือกตั้งเบื้องต้นเข้าไปด้วย

สาระสำคัญคือ บังคับว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต

จากร่างเดิมที่ กรธ.ของ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดหลวมๆ ให้การคัดเลือกผู้สมัครฟังความเห็นสมาชิกในพื้นที่ประกอบการพิจารณา

สนช.เพิ่มความเข้มข้นในมาตรา 35 ให้พรรคการเมืองจะต้องมีตัวแทนในทุกเขตเลือกตั้ง

Advertisement

เพิ่มในมาตรา 49 ให้ผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาจากการลงคะแนนเลือกของที่ประชุมสาขาพรรคการเมืองที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน

หรือที่ประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

ส่วนผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ กำหนดว่าต้องคัดเลือกโดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง

Advertisement

จากนั้นจัดการประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อ

เมื่อได้รายชื่อแล้ว ส่งให้กรรมการบริหารพรรคดำเนินการต่อไป

เจอ 2 รายการนี้เข้าไป พรรคการเมืองก็กระอัก เพราะเท่ากับ “งานงอก” จากเดิมที่หนักอยู่แล้ว

ต้องมานับหนึ่งใหม่อีกรอบ ตั้งตัวแทนพรรค หาสมาชิกสาขาพรรคให้ครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมูๆ

โดยเฉพาะในยามที่ประชาชนแหยงๆ การเมือง การสมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียเงิน อย่างในปัจจุบันนี้

ถ้าพูดกันอย่างลอยๆ เชิงหลักการ ไพรมารีโหวตเป็นระบบที่ดี เพราะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนจากพื้นฐาน

แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลตามหลักการต้องมีขั้นตอนและใช้เวลาในการสร้างพื้นฐาน

ถ้าทำเร็วๆ ลวกๆ จะกลายเป็นช่องทางต่อรอง เล่นเกม และบั่นทอนทำลายความแข็งแรงขององค์กรพรรคแบบไทยๆ ที่ยังโซเซ ไม่มีความต่อเนื่อง

นักการเมืองรุ่นใหญ่หลายคนฟันธงว่า ถ้าจะให้พรรคการเมืองทำแบบนี้ เลือกตั้งปี 2561 ที่พูดๆ กันคงเป็นไปไม่ได้แล้ว

บ้างก็ชี้ว่าเป็นการเติมเข้ามาเพื่อ “เตะถ่วง” ไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น

และยังถกเถียงกันอยู่ว่า หากเกิดปัญหาในไพรมารีโหวต จะร้องเรียนร้องค้านกันยังไง จะมี กกต.เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งหมดนี้ต้องรอดูว่า ในขั้นตอนการปรับแก้โดยคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง กกต. กรธ. และ สนช. ผลจะออกมายังไง

จะตัดออกตามความประสงค์ของอาจารย์มีชัย หรือจะต้องเจอกันครึ่งทาง ค่อนทาง ฯลฯ

เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างอ้าง “เจตนาดี” อ้าง “หลักการ” ด้วยกันทั้งหมด

แต่ “เจตนาดี” หรือหลักการที่มาผิดจังหวะจะโคน อาจเกิดผลเป็นตรงกันข้าม

โดยเฉพาะเจตนาดี รักประชาธิปไตย แต่ยังไม่ค่อยอยากให้มีการเลือกตั้ง

การแก้ไขที่กำลังจะเกิดขึ้นจะบ่งบอกเบื้องลึกของเรื่องนี้

……………

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image