คลังยอมถอย ปล่อยซีเอ็มดีเอฟเป็นเอกชน ให้ตลท.บริหาร เปิดช่องพิจารณาเงินส่งกองทุนใหม่

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน(ซีเอ็มดีเอฟ) โดยระบุให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)มีหน้าที่ส่งเงินกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 90% ของทุกปี และต้องส่งเงินประเดิมเข้ากองทุน 8,000 ล้านบาทโดยกองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคลของรัฐ มีคณะกรรมการจากภาครัฐ เช่น ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการ ก.ล.ต สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นั้น

เมื่อเวลา 14.00 น.ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และก.ล.ต.จัดแถลงข่าวด่วนเรื่องกองทุนซีเอ็มดีเอฟโดยมีนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการก.ล.ต.และนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท.ร่วมแถลงข่าว
นายรพีกล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 30 มิถุนายน ก.ล.ต. และตลท. ได้เดินทางเข้าหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นการจัดตั้งกองทุนซีเอ็มดีเอฟ ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นแทบทุกฝ่ายเห็นว่าซีเอ็มดีเอฟไม่ควรถูกบริหารงานโดยรัฐเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน มีกรรมการที่มาจากทางการเพียงบางส่วน ควรมีตัวแทนของภาคตลาดเงินตลาดทุนเข้าเป็นกรรมการ การส่งเงินเข้ากองทุนควรต้องคำนึงถึงความสามารถของตลท.ที่จะลงทุนและดำเนินการในระยะยาวได้

ทั้งนี้ ในการหารือครั้งนี้กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท.เห็นตรงกันว่าควรต้องปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์หรือหาทางออกอื่นที่ไม่ต้องออกเป็นกฎหมายคือ 1.ให้กองทุนซีเอ็มดีเอฟเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์แยกออกจากตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เพื่อการบริหารงานอย่างคล่องตัวแบบเอกชน 2.กองทุนดังกล่าวจะดำเนินงานโดยตลาดหลักทรัพย์ 3.คณะกรรมการจำนวน7-9 ท่านประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ 3 ท่าน คือ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขา ก.ล.ต. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่เหลือจะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคตลาดทุนที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แต่งตั้ง โดยมีประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์เป็น ประธาน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

4.เงินประเดิมและเงินที่ ตลท. ต้องนำส่งกองทุนนั้นจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าตลท.จะต้องนำส่งเงินจำนวนเท่าใด เพื่อให้ตลท. มีเงินเพียงพอสำหรับดำเนินงาน และลงทุนในอนาคต และหากในอนาคตตลท.มีความจำเป็นต้องการเงินทุนเพิ่มกองทุนสามารถใส่ทุนเพิ่มให้ตลท. ได้ หลังจากนี้กระทรวงการคลัง ตลท.และก.ล.ต.จะหารือร่วมกันถึงการแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน ส่วนกองทุนดังกล่าวจะต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมสรรพากร ขณะที่กลไกการจัดตั้งคณะกรรมการและการป้องกันการเข้ามาของนักการเมืองนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความคล้ายคลึงกับร่างกฎหมายการดูแลรัฐวิสาหกิจจึงเชื่อว่ามีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับการตรวจสอบการใช้ไปของเงินกองทุน ที่มีกลไกของคณะกรรมการ บุคคลภายนอกรวมถึงผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามาดูแล และเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนนั้น จะนำไปพัฒนาตลาดทุนในด้านต่างๆ เช่น สนับสนุนเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของซีแอลเอ็มวี การสร้างความรู้ด้านการเงิน งานวิจัยเกี่ยวกับตลาดทุน การออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image