วนศาสตร์ มก.จับมือญี่ปุ่น วิจัยการจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงพลังงานจากไม้โตเร็ว ป้อนโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ เพื่อวิจัยและนวัตกรรมการจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงพลังงานจากไม้โตเร็ว สำหรับโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นในระยะยาว กับนายมาซามิ นากะคุโบ ประธานกลุ่มบริษัท เจซีเอส ประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการผลิตไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน การจัดการสวนยางพาราแบบผสมผสาน โดยการใช้ระบบมาตรฐานการจัดการอย่างยั่งยืนตามแนวทาง FSC เข้ามาเพื่อการันตีความถูกต้องตามกฎหมายและความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

โครงการนี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเจริญเติบโตด้านไม้เศรษฐกิจ การสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่เกษตรไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน ความถึงการดำเนินการแบบเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2560 ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันวิชาการป่าไม้ แห่งเดียวของประเทศไทยมีอายุย่างเข้าปีที่ 82 ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งทำธุรกิจโรงงานไฟฟ้าชีวมวล จากไม้ จำนวน 20 โรง โดยแต่ละโรงงานมีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 50 MW มีความต้องการเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ดหรือ Wood Pellet เป็นวัตถุดดิบตลอด 24 ชั่วโมงประมาณ 250,000 ตัน/โรงงาน โดยกลุ่ม JCS นี้ต้องการ Wood Pellet จากประเทศไทยประมาณ ปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน

ตัวเลขข้อมูลความต้องการ Wood Pellet จำนวนประมาณ 5 ล้านต้น/ปี สำหรับโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้ไม้สดประมาณ 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ไม่นับรวมปริมาณการใช้ไม้ในรูปแบบอื่นๆ ทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก รวมทั้งประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ไม้ยางพารานั้น เมื่อตัดฟันแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 25 ปีจึงจะสามารถตัดฟันได้ อีกรอบหนึ่ง ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่อาจจะต้องมีการแข่งขันกัน ทำให้ราคาสูงขึ้น หรือมีการขนส่งที่ไกลขึ้นถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย

Advertisement

ดังนั้น JC Services และกลุ่ม JCV หรือ JC Joint Venture จึงมอบหมายให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการวัตถุดิบในระยะยาว ประกอบด้วย โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไม้โตเร็วที่เหมาะสมและให้ผลผลิตสูง โครงการหารูปแบบการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน ร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน การปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานในพื้นที่ดินไม่เหมาะสมกับพืชเกษตรอื่น และระบบบริหารจัดการวัตถุดิบและการจัดการให้สามารถจัดเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน เช่น การทำ Torrefraction เป็นต้น

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ดินไม่เหมาะสมมาปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน ประเทศไทยมีพื้นที่ดังกล่าวอยู่มากกว่า 11.2 ล้านไร่ โครงการภายใต้ความร่วมมือดังกล่างนี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศและยังสามารถเก็บกักคาร์บอนเพื่อช่วยลดโลกร้อนได้เป็นจำนวนมหาศาล

ประเทศญี่ปุ่นมีข้อกำหนดให้ Wood Pellet ที่จะนำเข้าไปใช้ในโรงไฟฟ้าต้องได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หรือ ใบเซอร์ ตามข้อตกลงสหประชาชาติ อันเป็นการยืนยันว่าเป็นไม้ที่ถูกกฏหมายและมาจากป่าที่ปลูกด้วยการดูแลที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำระบบการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง FSC (Forest Stewardship Council) ให้กับแปลงปลูกไม้ตามความต้องการสำหรับโรงงานผลิต Wood Pellet ทั้ง 20 โรงงาน รวมทั้งการดำเนินการติดตาม ประเมิน เพื่อให้ได้มาตรฐานตลอดระยะเวลา 20 ปี

สำหรับระบบการรับรองป่าไม้ตามแนวทาง FSC นั้น ขณะนี้ คณะวนศาสตร์ ได้ร่วมมือกับ เครือข่ายการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (T-CERN) และ FSC – Greater Maekong พัฒนามาตรฐาน FSC สำหรับประเทศไทย หรือ เรียกว่า FSC – Thailand อันจะเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงระบบการรับรอง FSC ได้ง่าย ราคาค่าตรวจรับรองไม่แพง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้ดำเนินการล้ำหน้าประเทศไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึง ลาวและพม่า

ขณะที่รูปแบบการพัฒนา FSC – Thailand นั้น ปัจจุบันได้ส่งร่างข้อเสนอให้กับ FSC – International พิจารณา ประกอบด้วย รูปแบบของสวนป่าที่สามารถขอการรับรอง FSC สำหรับประเทศไทยนั้น มี 3 รูปแบบคือ (1) สวนป่าทั่วไป (2) วนเกษตร (3) ฟาร์มป่าไม้ คาดว่าแล้วเสร็จประมาณปลายปี พ.ศ.2560 แต่อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับประเทศไทยขาดโอกาสในเรื่องไม้เศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกฎหมายป่าไม้ที่มีและใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์จำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image