จะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) กับปัญหากาตาร์ โดย:โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

จะงอยแอฟริกา

ไม่ทราบว่าใครแปลชื่อ Horn of Africa ซึ่งเป็นคาบสมุทรในแอฟริกาตะวันออกที่มีแผ่นดินยื่นเข้าไปในทะเลอาหรับหลายร้อยกิโลเมตรและตั้งอยู่ทางด้านใต้ของอ่าวเอเดน อันเป็นส่วนที่อยู่ทางตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกาว่า “จะงอยแอฟริกา” เนื่องจากเขาสัตว์ (horn) นั้นมักมีลักษณะงอนขึ้น ส่วนจะงอย (beak) นั้นแปลว่า “ปลายหรือที่สุดที่มีลักษณะโค้งหรืองุ้มลง เช่น จะงอยปากนกแก้ว” (ดูรูป)

ช่องแคบมันเดบเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันดิบวันละ 3.8 ล้านบาร์เรล
ที่ตั้งประเทศเอริเทรียกับประเทศจิบูตี

เอาเถอะ! ไหนๆ คำว่าจะงอยแอฟริกาก็ใช้กันจนติดแล้ว จึงขอใช้อ้างอิงว่าเป็นจะงอยแอฟริกาก็แล้วกัน สำหรับจะงอยแอฟริกามีเนื้อที่ประมาณ 2 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณหนึ่งร้อยสิบห้าล้านคน ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ประเทศเอธิโอเปียมีประชากร 96.6 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์, ประเทศเอริเทรีย มีประชากร 12.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม, ประเทศจิบูตี มีประชากรประมาณแปดแสนเท่านั้น คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและประเทศโซมาเลียมีประชากร 12.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

ทั้ง 4 ประเทศในจะงอยแอฟริกาก็เช่นเดียวกันกับ 7 ประเทศในคาบสมุทรอาระเบียที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจตะวันตกในอดีตและรับซากเดนของจักรวรรดินิยมที่ทิ้งปัญหาเขตแดนของแต่ละประเทศที่ประเทศเจ้าอาณานิคมทิ้งไว้ให้ ซึ่งยังคงเป็นปัญหากระทบกระทั่งขนาดรบราฆ่าฟันกันเป็นระยะ ซึ่งทั้ง 4 ประเทศในจะงอยแอฟริกาก็รบแย่งดินแดนกันตั้งแต่ได้เอกราชกันมิได้ว่างเว้นเลย และที่ล่าสุดนี้ก็คือประเทศเอริเทรียรบกับจิบูตีแย่งภูเขาแย่งเกาะกัน ซึ่งเป็นปัญหาค้างคากันระหว่างอิตาลีเจ้าอาณานิคมของเอริเทรียกับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมจิบูตี เมื่อ พ.ศ.2551 โดยเอริเทรียยกทัพเข้ามายึดดินแดนปัญหานี้ไป แต่ก็ยอมถอนทหารไปใน พ.ศ. 2553 โดยมีพระเอกคือประเทศกาตาร์ไกล่เกลี่ยและส่งทหารของกาตาร์มาประจำเป็นกันชนในดินแดนปัญหานี้จึงสงบลงไปถึง 7 ปี

ครั้นกลุ่มประเทศอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์กับการ์ตาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ศกนี้ ทั้งเอริเทรียและจิบูตีประกาศสนับสนุนซาอุดีอาระเบียเข้าข้างซาอุดีอาระเบียทั้งสองประเทศทำให้กาตาร์ถอนกำลังทหารรักษาสันติภาพระหว่างเอริเทรียและจิบูตีกลับประเทศ เอริเทรียก็ฉวยโอกาสส่งกองกำลังเข้ายึดดินแดนที่เป็นข้อพิพาททันที

Advertisement

โดยทางจิบูตีได้โวยวายฟ้องนานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติด้วย

ความจริงประเทศจิบูตีนี้เป็นประเทศเล็กๆ มีเนื้อที่แค่ 23,200 ตารางกิโลเมตร (ขนาดเนื้อที่พอๆ กับจังหวัดนครราชสีมา) จัดว่าเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในบรรดา 4 ประเทศที่ตั้งอยู่บนจะงอยแอฟริกา แต่ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของจิบูตีบนจะงอยแอฟริกานั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นช่องแคบอันตราย (choke point) บริเวณเมืองจิบูตีกับเยเมน สำหรับเรือบรรทุกน้ำมันดิบที่จะต้องเข้าออกทะเลแดงเพื่อผ่านคลองสุเอซเพื่อเข้าออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยเฉพาะจุดตรงช่องแคบมันเดบ (Bab el-Mandab) คือช่วงปากทางอ่าวเอเดนเข้าสู่ทะเลแดงซึ่งแคบเพียง 28.5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันดิบถึงวันละ 3.8 ล้านบาร์เรล

ใน พ.ศ.2552 ได้มีการเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานข้ามช่องแคบนี้เป็นระยะทาง 28.5 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างจิบูตีกับเยเมน โดยบริษัท Middle East Development LLC ของเฏาะรีก บิน ลาเดน นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย พี่ชายต่างมารดาของโอซามะ บิน ลาเดน ถ้าสะพานนี้สร้างเสร็จจะเป็นสะพานขึงที่มีช่วงกลางยาวที่สุดในโลก (4.987 กิโลเมตร) แต่โครงการต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในเยเมน

นอกจากนี้จิบูตียังเป็นทางออกสู่ทะเลทางเดียวสำหรับประเทศเอธิโอเปียประเทศพี่เบิ้มใหญ่ของจะงอยแอฟริกาแต่ไม่มีทางออกทะเลโดยมีทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองหลวงทั้งของเอธิโอเปียกับจิบูตีอีกด้วย

จิบูตีเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีฐานทัพถาวรของประเทศต่างๆ ตั้งอยู่หลายประเทศ โดยฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ในจิบูตี และฐานทัพนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสก็ตั้งอยู่ในจิบูตีซึ่งเป็นอาณานิคมดั้งเดิมของฝรั่งเศสอีกด้วย นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็ยังมีฐานทัพสำหรับกำลังทางนาวีของญี่ปุ่นเป็นแห่งแรกในจิบูตีอีกด้วย และญี่ปุ่นยังได้ขยายฐานทัพเรือในจิบูตีเพื่อรองรับเครื่องบินบรรทุกขนาดใหญ่และเครื่องบินรบเพิ่มเติมขึ้นอีกในปีนี้

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างฐานทัพในจิบูตีเป็นฐานทัพแห่งแรกของจีนในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของจีนเนื่องจากจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และมีชาวจีนเดินทางมาอยู่และทำงานในทวีปแอฟริกามากกว่า 1 ล้านคนแล้ว

ดังนั้นการตั้งฐานทัพในทวีปแอฟริกาจึงเป็นความจำเป็นอันดับหนึ่งของจีนเพื่อป้องกันความปลอดภัยของชาวจีนและผลประโยชน์ของชาติในทวีปแอฟริกา ซึ่งจีนได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดมาแล้วในกรณีสงครามกลางเมืองในลิเบียเมื่อ พ.ศ.2554 เมื่อสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศสได้เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ประกาศพื้นที่ห้ามบินในลิเบียเพื่อป้องกันกองทัพอากาศของลิเบียที่มีประสิทธิภาพสูงเข้าโจมตีเหล่ากบฏลิเบียทั่วประเทศเพื่อที่จะดำเนินการเพื่อสันติภาพต่อไปซึ่งจีนก็เห็นด้วย แต่ปรากฏว่าทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสกระทำการเกินอำนาจที่ได้รับด้วยการใช้กำลังทางอากาศของทั้ง 3 ประเทศโจมตีกองทัพอากาศและกองทัพบกรวมทั้งกองทัพเรือของรัฐบาลลิเบียภายใต้การนำของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี เสียย่อยยับจนฝ่ายกบฏได้ชัยชนะจากการสู้รบทำให้จีนต้องอพยพคนงานจีนกว่า 35,000 คนออกจากลิเบียและเงินลงทุนนับหมื่นล้านบาทไปโดยปราศจากการป้องกันผลประโยชน์ด้วยกำลังทหารของจีนเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากจีนขาดเรือบรรทุก เครื่องบิน และโลจิสติกส์ (คือ ระบบการจัดการการผสมผสานของข้อมูลการขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การบรรจุหีบห่อเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนมายังแอฟริกา) ดังนั้นการมีฐานทัพที่จิบูตีจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งในการป้องกันผลประโยชน์อันมหาศาลของจีนในแอฟริกา

ส่วนซาอุดีอาระเบียก็เพิ่งมีฐานทัพอยู่ในจิบูตีเช่นกัน เนื่องจากฝ่ายกบฏฮูตีสามารถยึดครองเยเมนตะวันตกซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจิบูตีตรงช่องแคบมันเดบและอิหร่านใช้เป็นเส้นทางเรือที่จะส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ให้กับกบฏฮูตีทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องสร้างฐานทัพในจิบูตีเพื่อสอดแนมและสกัดกั้นอิหร่านในการดำเนินการช่วยเหลือฝ่ายกบฏฮูตีซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาหรับรบสงครามกลางเมืองเพื่อปราบปรามกบฏฮูตีอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

ดูท่าปัญหากาตาร์คงจะบานปลายออกเป็นเรื่องใหญ่แล้วละครับ เนื่องจากได้ลามเข้าสู่จะงอยแอฟริกาเข้าแล้วนี่ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image