ทอท.ดำเนินกิจการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจโดยยึดหลักความถูกต้อง เท่าเทียมและเป็นธรรม

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า การให้สัมปทานกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ในการทำสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในอาคารผู้โดยสารของ ทอท.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และหลักวิชาการ เช่น กรณีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ซึ่งการประเมินมูลค่าการลงทุนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ

โดย ทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่าการลงทุนทั้งสัญญาร้านค้าปลอดอากร และการประมูลกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2โครงการมีมูลค่าการลงทุนไม่เกินหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งการประเมินมูลค่าการลงทุนได้อิงราคาก่อสร้างของกิจการในลักษณะเดียวกัน และเมื่อภาครัฐประเมินราคาตามมาตรฐานที่ยอมรับได้ดังกล่าวแล้ว ผู้ลงทุนจะพิจารณาลงทุนจริงเป็นเท่าใดในขอบเขตงานขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ลงทุนที่จะเห็นเหมาะสมกับสภาพกิจการของตนต่อไป ทั้งนี้ หากมีการขยายพื้นที่การประกอบการหรือมีการต่ออายุสัญญาสัมปทาน ทอท.จะคำนวณเม็ดเงินลงทุนส่วนเพิ่มตามสัดส่วนพื้นที่หรือระยะเวลาสัญญาเดิมกับขอบเขตพื้นที่ หรือระยะเวลาส่วนที่ขยายเพิ่มขึ้นยังคงไม่เกินวงเงินตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ ทอท.ได้คิดค่าตอบแทนตามสัดส่วนของพื้นที่หรือระยะเวลาที่ขยายนั้นเพิ่มเติมด้วย

สำหรับการเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในสนามบิน (Pick up Counter) ณ ท่าอากาศยาน ของ ทอท. คณะกรรมการ ทอท.ในขณะนั้นได้จัดให้มีการเปิดประมูล“พื้นที่เชิงพาณิชย์” ทุกประเภทตามขอบเขตสัญญา และได้เน้นว่าต้องตั้งอยู่ภายในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งทางผู้ชนะประมูลได้เสนอข้อมูลประกอบสัญญารวม Pick Up Counter ไว้ด้วยเป็น “เงื่อนไขประกอบสัญญา” ดังนั้น ทอท.จึงต้องให้สิทธิผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียวตามข้อตกลงสัญญา ภายในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อครบสัญญา ทอท.ก็จะเป็นเจ้าของตามเดิม แล้วจึงเปิดประมูลใหม่เป็นระยะๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันคณะกรรมการ ทอท.มีการเปลี่ยนรูปแบบประมูล ซึ่งได้เริ่มดำเนินการ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เมื่อปี 2558 โดยแยกพื้นที่ Pick up Counter ออกจากพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน และได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ Pick up Counter ได้ด้วยหรือเรียกตามสากลว่า CommonUse ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) สัญญาฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2563 หลังจากนั้น ทอท.จะเปิดให้มีการประมูล Pick up Counter โดยดำเนินการคล้ายกับที่ ทภก. แต่จะมีการพิจารณาว่าควรจะดำเนินการในรูปแบบ Common Use หรืออาจให้มี Pick up Counter ของทุกบริษัทซึ่งจะมีการพิจารณารูปแบบดังกล่าวในระยะต่อไป

ในด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อการให้บริการของ ทอท. ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และ ทสภ.นั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ทอท.ได้เห็นชอบในมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ณ ทดม. และ ทสภ.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือกับทุกหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวและที่ปฏิบัติงานใน ทดม.และ ทสภ.ได้แก่ ผู้ประกอบการสายการบิน ผู้เช่าทุกรายผู้ประกอบการร้านค้าและบริการ โดยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ เช่น การขยายระยะเวลาและการปรับลดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมในการขึ้น – ลงของอากาศยาน (Landing Fee) และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) การปรับลดค่าเช่าพื้นที่และค่าธรรมเนียมการใช้บริการในอาคาร การปรับลดค่าตอบแทน และการขยายอายุสัญญา เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการ ทอท.ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยฟื้นฟูและเติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

สำหรับประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อพิมพ์ต่างๆ ว่าจะมีการยื่นฟ้องคณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร ทอท. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหลายคำฟ้องในการทำสัญญาเอื้อประโยชน์กับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นจำนวนมากและได้มีการยื่นฟ้องไปแล้วหนึ่งคดีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งว่ารับพิจารณาคดีและไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 นั้น ทอท.ขอชี้แจงว่า ทอท.8ยินดีที่จะไปชี้แจงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ หากจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องคดีใในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตลอดระยะเวลาการบริหารสัญญาที่ผ่านมา คณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร มิได้มีการกระทำการใดๆ อันเป็นการหลีกเลี่ยง หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ได้มีการบริหารสัญญาด้วยความรอบคอบระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของรัฐและผู้ถือหุ้นตลอดมา ดังจะเห็นได้จากการที่ ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจในลำดับต้นๆ ที่สามารถทำกำไรนำส่งให้กับรัฐในอัตราที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งมีการนำเงินรายได้มาพัฒนาท่าอากาศยานในหลายๆด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image