อาศรม มิวสิก วงออเคสตราไทย-เทศยุคใหม่ที่ไร้สำนัก:ความงามแบบพิมพ์นิยม โดย:บวรพงศ์ ศุภโสภณ

บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากการได้มีโอกาสชมดนตรีคลาสสิก,การบรรเลงของวงออเคสตราในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่ได้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางและปรัชญาความเชื่อบางอย่างในทางดนตรี จึงอดไม่ได้ที่อยากจะแสดงความเห็นเปรียบเทียบในความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปที่ว่านี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสชมการแสดงของวงออเคสตราในระดับนานาชาติหลายวงทั้งที่มาแสดงในประเทศไทยและเท่าที่ได้พบเห็นในต่างประเทศ ผนวกกับการได้ชมการแสดงของวงอย่าง ทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) วงสัญชาติไทยเราที่มีกิจกรรมการแสดงที่จริงจังและต่อเนื่องที่สุดในขณะนี้ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา ภายหลังการคัดเลือกนักดนตรีชุดใหม่ ที่ทำให้เริ่มเห็นภาพทิศทางและมุมมองปรัชญาความเชื่อของวงออเคสตราในยุคปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้น

เราจะเห็นด้วยหรือไม่ เราจะชื่นชมหรือคัดค้านคงจะไม่ส่งผลอะไรกับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าด้วยพลังขับเคลื่อนในทางดนตรีมันอยู่เหนือความคิดถูก-ผิด หรือควร-ไม่ควรใดๆ การเฝ้าดูเพื่อศึกษาเรียนรู้น่าจะมีประโยชน์มากที่สุด
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็คือสไตล์การบรรเลงของวงออเคสตรายุคใหม่ที่เน้นน้ำเสียงอันงดงาม, กลมกล่อมไพเราะ มีการผสมผสานในน้ำเสียงของเครื่องดนตรีในทุกหมวดหมู่ได้แบบที่เรียกว่าเป็นเนื้อเสียงเดียวกัน, น้ำเสียงที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความจริงแล้วแนวคิดที่ว่านี้ก็ถือเป็นหลักการใหญ่อันสำคัญของการบรรเลงดนตรีตะวันตกมานานแล้ว นั่นก็คือคำว่า “อองซอมเบลอ” (Ensemble ภาษาฝรั่งเศส ที่มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Together หรือ “ด้วยกัน” ในภาษาไทยนั่นเอง)

Advertisement

การสร้างเสียงวงดนตรีให้เป็นน้ำเสียงเดียวกันอย่างแนบสนิทไร้รอยต่อไร้ตะเข็บ, เสียงที่ไพเราะรื่นหูปราศจาก “สากเสี้ยนทางเสียง” ที่อาจระคายหูผู้ฟังในบางมิติ แนวคิดการบรรเลงแบบนี้กำลังได้รับการเน้นให้โดดเด่นเป็นพิเศษในยุคปัจจุบัน และสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากเสียงของวงทีพีโอของเราหลังการคัดเลือกนักดนตรีครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมาก็คือวงออเคสตราวงนี้ก็ดูว่ากำลังจะมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นที่ว่านี้

ไม่เน้นการบรรเลงแบบจี๊ดจ๊าด, ล้ำ หรือก๋ากั่นในบางจุดทุกสิ่งทุกอย่างพยายามควบคุมให้อยู่ในกรอบแห่งความพอดีพองาม

ความจริงเรื่องการคัดเลือกนักดนตรีเข้าวงครั้งใหญ่ของวงออเคสตราอันดับหนึ่งของเมืองไทยแบบนี้ น่าที่จะได้เป็นข่าวในพื้นที่ข่าวประจำวันได้บ้าง อาจเปรียบได้เสมือนกับการคัดตัวนักฟุตบอลทีมชาติไทยนั่นเอง แต่ก็นั่นแหละข่าวใหญ่ของวงการดนตรีชนิดนี้ไม่สามารถเรียกร้องความสนใจแบบนั้นได้

เมื่อหลายปีก่อนวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกออเคสตรานำหัวหน้ากลุ่มทรอมโบนคนใหม่ชาวอังกฤษเข้ารับตำแหน่ง (เขาชื่อว่า “Ian Bousfield” ย้ายไปจากวงลอนดอนซิมโฟนีฯ) เรื่องนี้เกิดเป็นประเด็นให้เล่าขานกันในตอนนั้นอยู่พอควร เพราะวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิกยึดมั่นในเรื่องขนบ-จารีตและความเป็น “สำนักเดียวกัน” อย่างเข้มข้น การรับนักดนตรีต่างชาติเข้าไปนั่งในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มของวงออเคสตราระดับทีมชาติจึงอาจเป็นเสมือนการฝ่าขนบจารีตที่ยึดถือกันมายาวนาน

นี่จึงกลายเป็น “ข่าว” ที่อาจมีน้ำหนักเสมือนการเปลี่ยนตัวศูนย์หน้าหัวหอกตัวยิงประตูในฟุตบอลทีมชาติ

และการที่วงทีพีโอที่เสมือนเป็น “ทีมชาติ” ในทางดนตรีคัดเลือกนักดนตรีครั้งใหญ่แล้วไม่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ข่าวของสื่อกระแสหลักในบ้านเรา ก็ยังคงตอกย้ำและสะท้อนถึงสถานะได้ชัดเจนว่าบ้านเราให้ความสำคัญกับศิลปะดนตรีที่ทั่วโลกยอมรับกันว่าเป็น “วิจิตรศิลป์ทางดนตรี” ของมวลมนุษยชาติกันมากแค่ไหน (บางทีก็น่าตั้งคำถามว่าบ้านเรามีพื้นที่ข่าวทางศิลปวัฒนธรรมหรือไม่ และถ้ามีแล้วได้นำเสนออะไรบ้างที่เป็นข่าว?)

เรื่องในแวดวงเล็กๆ น้อยๆ อีกเรื่องก็คือ TPO เสนอเงื่อนไขเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงอย่างสมเหตุสมผล (เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในบ้านเรา) จนเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักดนตรีฝีมือดีๆ จากต่างชาติมากมายสมัครเข้ามาคัดเลือกด้วย การคัดเลือกด้วยกระบวนการที่อาจจะดูไร้ความเมตตาปรานีไปบ้างนั่นก็คือการคัดเลือกโดยการใช้การฟังเสียงเพียงอย่างเดียว “หลังม่าน” โดยไม่ให้มีการเห็นหน้ากันระหว่างคณะกรรมการกับนักดนตรี ที่แวดวงในเรียกวิธีนี้ว่า “Blind” (ขออภัยที่ยังไม่สามารถหาคำภาษาไทยที่สั้นกระชับและเหมาะสมมาใช้ได้)

วิธีการที่ดูจะแห้งแล้ง, ไร้น้ำใจไม่คิดถึงสายสัมพันธ์ใดๆ ของนักดนตรีเก่าที่เคยร่วมงานกันมา (นักดนตรีเดิมทุกคนต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกใหม่ทั้งวง) แม้ว่าจะฟังดูขาดเยื่อใยไมตรีใดๆ แต่ในทางการสร้างและรักษามาตรฐานทางดนตรีนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือวิธีการคัดเลือกนักดนตรีที่ยุติธรรมที่สุด

ตัดสินกันด้วยความสามารถทางดนตรีล้วนๆ โดยไม่ให้มีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตากัน คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนักหากเราจะถือได้ว่านี่คือ “หลักธรรมาภิบาลทางดนตรี” ที่แน่ชัดและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ผลที่ออกมาสร้างทั้ง “เซอร์ไพรส์” และความน่าตกใจอยู่ไม่น้อยเกิดการสลับตำแหน่งกันไปหลายเก้าอี้ นักดนตรีระดับหัวหน้ากลุ่มที่สูงด้วยประสบการณ์หลายคนต้องตกเก้าอี้หลุดจากตำแหน่งไปอย่างน่าเสียดาย จะว่ากันไปแล้วการใช้วิธี “Blind” ที่ว่านี้ก็มีช่องโหว่อยู่ในตัวเองด้วยเช่นกัน เช่น ในกรณีที่นักดนตรีที่มีประสบการณ์สูงฝีมือดี แต่บังเอิญเกิดการเจ็บป่วยแบบกะทันหันในวันคัดเลือกอย่างโชคร้ายต้องบรรเลงหลังม่านอย่างผิดฟอร์มในวันนั้น เขาก็อาจหลุดจากตำแหน่งไปด้วยความโชคร้ายหรือ “ดวง” โดยปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่เมื่อบวก, ลบ, คูณ, หาร และต้องเลือกเหตุผลและหลักการใหญ่มันจึงยังหลีกไม่ได้ที่จะต้องใช้วิธีการนี้ นักดนตรีในบางตำแหน่งมีผลต่อทิศทางการบรรเลงของวง (เครื่องดนตรีบางชนิดจะมีบทบาทในการช่วยนำทิศทางของวงอยู่กลายๆ)

สำหรับตำแหน่งที่ดูจะสร้างความประหลาดใจและน่าตกใจอย่างมากที่สุดในครั้งนี้ของวง TPO เห็นจะไม่มีใครเกินตำแหน่งในกลุ่มทรัมเป็ต (นี่เป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังมากและมีบทบาทในการนำวงอยู่ในที) หัวหน้ากลุ่มที่สูงด้วยประสบการณ์นำวงมาหลายปีมีผลงานโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ต้องมาเสียเก้าอี้ให้กับ “เด็กเมื่อวานซืน” (เขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มนักศึกษาปี 2) ด้วยความโชคร้ายที่ไปทำการรักษาฟันหน้าอย่างเร่งด่วนก่อนการคัดเลือกเพียงไม่กี่วัน นี่เป็นการส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนเป่าทรัมเป็ตหรือแตรอื่นๆ ทุกชนิด เกิดเป็นเรื่องวุ่นวายภายในอยู่ไม่เบาว่า “เด็กเมื่อวานซืน” จะสามารถนั่งในตำแหน่งที่เสมือนเป็นหัวใจสำคัญแบบนี้ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

เรื่องที่น่าชื่นชมอย่างมากไม่แพ้เรื่องของดนตรีก็คือเรื่อง “น้ำใจนักดนตรี” ซึ่งปกติเราจะคุ้นเคยกันดีกับแนวคิด “น้ำใจนักกีฬา” นั่นก็คือ รู้แพ้, รู้ชนะ, รู้อภัย หัวหน้ากลุ่มที่เคยครอบครองตำแหน่งมาหลายปีมีประสบการณ์และผลงานในวงอยู่ไม่น้อยผู้นี้ เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่นชม, ยกย่องความสามารถของน้องใหม่ที่มาแย่งเก้าอี้, แย่งงานของเขาด้วยความจริงใจ ยอมรับผลการคัดเลือกด้วยหัวใจสุภาพบุรุษอย่างไม่ลังเลหรือกังขาใดๆ (น้องใหม่ผู้นี้ก็อ่อนน้อมถ่อมตนควรค่าอย่างยิ่งกับคำยกย่องที่รุ่นพี่มอบให้)

นี่อาจมองดูเป็นเรื่องเล็กๆ ภายใน แต่นี่คือคำว่า “สปิริต” คือความหมายแห่งคำว่าน้ำใจนักดนตรีอันควรเป็นกรณีศึกษาที่วงการดนตรีศึกษาและดนตรีอาชีพจะมองข้ามไม่ได้หากคิดที่จะพัฒนาวงการอย่างแท้จริง

ความจริงเรื่องเด็กเมื่อวานซืนที่สามารถเบียดตัวเข้าไปชิงเก้าอี้ตำแหน่งสำคัญๆ ในวงออเคสตราก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย วงซิมโฟนีออเคสตราชั้นนำหลายวงทั่วโลกต่างเคยได้รับหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ฝีมือดี (แต่อ่อนประสบการณ์) ในวัย 20 ต้นๆ มาแล้วมากมาย สำหรับกรณีนี้จึงอาจเป็นเรื่องใหม่อยู่บ้างสำหรับวงออเคสตราอาชีพบ้านเรา

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ณ วันนี้เราได้เรียนรู้ถึงคำใหม่ว่า “น้ำใจนักดนตรี”

ยังอดคิดไม่ได้ว่านี่หากหัวหน้ากลุ่มคนเก่าไม่มีหัวใจที่แข็งแกร่งแบบนี้ เขาก็คงอ้างเหตุผลสารพัดในระบบการคัดเลือกนักดนตรีด้วยวิธีนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามเขาชื่นชมยกย่องเด็กใหม่ผู้นี้ อีกทั้งรับประกันด้วยตัวเองว่า เด็กคนนี้ต่อไปจะรุ่งเรืองและไปได้ไกลในหนทางดนตรี ความจริงแล้วการเล่นกีฬาหรือเล่นดนตรี น่าจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนๆ กันที่เราอาจมองข้ามนั่นก็คือ การฝึกและพัฒนายกระดับจิตใจให้สูง ขึ้นไปด้วย รู้จักเคารพในกฎเกณฑ์และกติกาอย่างเคร่งครัด เล่นดนตรี, เล่นกีฬาจึงเสมือนการฝึกจิต, ฝึกธรรมะ, ฝึกการยอมรับและเผชิญกับความจริงอย่างกล้าหาญ

ถ้าวงการใดหรือสถาบันองค์กรใดก็ตามมีแต่คนเก่ง, คนฉลาด, มีฝีมือแต่ไร้น้ำใจไร้สปิริต พลั้งพลาดแล้วตีรวน วงการหรือองค์กรนั้นก็คงไม่เจริญก้าวหน้า นี่จึงเป็นเรื่องเล็กๆ อันดีงามที่น่ายกย่อง ที่สำคัญก็คือวันนี้เขาหลุดจากตำแหน่ง แต่ปีหน้าฟ้าใหม่โอกาสใหม่ๆ ในวันข้างหน้ายังมีอยู่ การเฝ้ารักษา-ปรับปรุงมาตรฐานของตนเอง รอคอยการกลับมาทวงคืนตำแหน่งตามครรลองตามกติกาที่ถูกต้องร่วมกัน ย่อมนำมาซึ่งการดำรงอยู่ในตำแหน่งอย่างสง่างาม

ศิลปะปฏิบัติในทุกแขนงมีปรัชญาในการพัฒนาจิตใจให้เจริญควบคู่ไปด้วยกันเสมอ ด้วยความเชื่อที่คล้ายๆกันว่า ผลงานศิลปะที่ดีย่อมมาจากจิตที่ละเอียดอ่อนดีงามของผู้สร้างสรรค์

สองเดือนที่ผ่านมานี้วงทีพีโอชุดใหม่ที่มีนักดนตรีหน้าใหม่ผลัดเปลี่ยนเข้ามา เริ่มสร้างแนวทางใหม่ในการบรรเลงอย่างเริ่มพอจะเห็นได้ชัด การบรรเลงที่เน้นคำว่า “Ensemble” มากขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น มันคือทิศทางที่วงออเคสตราทั่วโลกในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปในแนวเดียวกัน ความกลมกลืนและกลมกล่อม, สะอาดและงดงามในทางดนตรี โดยส่วนตัวแล้วผมเองยังแบ่งรับ-แบ่งสู้กับแนวทางที่ว่านี้

เมื่อราว 20-30 ปีก่อน ผู้ฟังดนตรีคลาสสิกล้วนตระหนักว่า เสน่ห์อันสำคัญประการหนึ่งของดนตรีคลาสสิก (ความจริงน่าจะสำหรับดนตรีทุกชนิดและศิลปะทุกแขนง) นั่นก็คือ “ความหลากหลายทางศิลปะ”, ทางสไตล์, รูปแบบและลีลาของการแสดงออกด้วยหลักความเชื่อใหญ่ๆ ที่ว่า “ความงามมิได้มีเพียงหนึ่งเดียว” ตำนานเล่าขานของวงชั้นนำอย่างชิคาโกซิมโฟนีออเคสตราที่ขึ้นชื่อว่ามีกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (แตร) ที่ดังกึกก้องแต่แสนจะไพเราะ, สะอาดสง่างามที่สุดไม่มีเหลือแล้วในวงชิคาโกซิมโฟนีฯในวันนี้, วงฟิลาเดลเฟียออเคสตราที่เคยขึ้นชื่อเรื่องกลุ่มเครื่องสายอันเจิดจ้าแจ่มจรัส, เลนินกราดฟิลฮาร์โมนิก หรือวงออเคสตราสายพันธุ์รัสเซียที่บรรเลงในลีลาอันดุดัน, เกรี้ยวกราดในแบบที่อาจได้เรียกว่า “เดินหน้าแล้วฆ่ามัน” อันชวนขนหัวลุก….ฯลฯ

ความหลากหลายทางสไตล์, ความหลากหลายทางชีวะดุริยางค์เหล่านี้ กลายเป็นเพียงเรื่องราวตำนานในอดีตที่วงออเคสตราทั้งหลายในยุคปัจจุบันมิได้พิสมัยหรือปรารถนาอีกต่อไป พวกเขาร่วมกันกำหนดหลักสุนทรียศาสตร์ขึ้นมาในนิยามความหมายใหม่ (จะจงใจหรือไม่ก็ตาม) กลายเป็นลีลาแบบสากล, มาตรฐานเดียวกัน มันคือวงออเคสตราในภาพลักษณ์รูปหล่อพิมพ์นิยม, นิสัยดี, วจีไพเราะเหมือนๆ กัน อาจชักนำมาให้ไกลถึงวงการเพลงไทยสากล (ทั้งลูกกรุง, ลูกทุ่ง, สตริง หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะเรียกขานกัน)

ความงามที่กำหนดมาในแบบเดียวกันนักร้องชาย-หญิงที่ต่างก็ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงลีลาในแบบเดียวกัน จนถ้าไม่ได้เห็นหน้าก็แทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร คนที่ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงแท้ๆ แบบนักร้องสมัยก่อนอันเป็นธรรมชาติที่พระเจ้าประทานลงมาแต่กำเนิดคงไม่สามารถยืนอยู่ในวงการได้ นักแสดงภาพยนตร์, ละครทั้งหลายต้องไปเหลาใบหน้า, ทำศัลยกรรมให้ออกมามีรูปแบบเดียวกัน

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องคนละเรื่องแบบนี้จะมีอะไรที่เหมือนและคล้องจองกันได้ เรื่องอื่นๆ ผมอาจอธิบายสาเหตุไม่ได้ แต่เรื่องดนตรีคลาสสิกผมขออนุมานเอาด้วยความคิดส่วนตัวว่ามันคือ “คู่ขนานบนความขัดแย้ง” (Parallel and Paradox) นักดนตรีในวงออเคสตราปัจจุบันต่างล้วนมีพื้นฐานทางการศึกษาที่ดีจากสถาบันการศึกษาที่มีระบบระเบียบอันดี สิ่งดีๆ ในระบบการศึกษาเหล่านี้มีข้อด้อยที่ติดตามมาอย่างแยกไม่ออกนั่นก็คือ การถูกสั่งสอนมาในวิธีการรูปแบบเดียวกันจน “พื้นที่ส่วนตัว” อันบริสุทธิ์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดต้องสูญเสียไปโดยไม่รู้ตัว

นี่คือราคา, นี่คือมูลค่าที่มองไม่เห็นที่เราต้องจับจ่ายต้องซื้อหาและแลกไปกับการฝึกฝนในระบบที่จำเป็นต่อการอยู่รอดในวงการ

เรื่องราวของดนตรีและศิลปะจึงดูจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนน่าคิดน่าพิจารณาเป็นอย่างมาก หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ หรือผีเสื้อขยับปีก-เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (Butterfly Effect) หรืออาจไปให้ไกลถึงกับหลักอิทัปปัจจยตานั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image