คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ความสำเร็จในอดีตไม่การันตีอนาคต

คําว่า Disruptive Technology (เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาก่อกวนหรือทำลายธุรกิจเดิม) คงเป็นเรื่องที่พูดกันไปอีกนาน แต่ “นาน” ในยุคดิจิทัล มีอายุค่อนข้างสั้นมาก ระดับ 10 ปี อาจนานไปด้วยซ้ำ แตกต่างจากในอดีตมาก

ในอดีต กว่าจะมียอดขายถึง 50 ล้านเครื่องทั่วโลก “วิทยุ” ใช้เวลาถึง 38 ปี

ด้วยตัวเลข 50 ล้านเท่ากัน โทรทัศน์ใช้เวลา 13 ปี คอมพิวเตอร์ใช้เวลา 4 ปี สมาร์ทโฟนใช้เวลา 2 ปี และเกมดัง “โปเกมอนโก” ใช้เวลาเพียง 19 วัน

การเปลี่ยนแปลงในโลกทุกวันนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงขึ้นมาก ถ้าปรับตัวไม่ทันการณ์ก็คงอยู่รอดได้ยาก

Advertisement

เคยเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ดีๆ มีสิทธิโดนกลืนหายไปในคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทันรู้ตัว ที่ยกตัวอย่างกันบ่อยๆ ก็

เช่น ผู้ผลิตฟิล์ม “โกดัก”, ผู้ผลิตมือถือ “โนเกีย”, เจ้าของเครือข่ายร้านวิดีโอ “บล็อกบลัสเตอร์” ทั้งหมดต่าง “เคย” เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ทั้งสิ้น

สื่อสิ่งพิมพ์ ประเภท “นิตยสาร” ในบ้านเราที่ปิดตัวไปเป็นจำนวนมากในรอบปีที่ผ่านมาก็เป็นผลพวงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเทคโนโลยี

Advertisement

เมื่อกลุ่มคนอ่านหันไปนิยมเสพสื่อออนไลน์ เม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักก็หดหายตามไป

ด้วยอย่างรวดเร็ว บ้างจึงเลือกที่จะเลิกกิจการ ที่พอปรับตัวได้ก็ขยับเข้าสู่สมรภูมิธุรกิจสื่อออนไลน์

ธุรกิจสื่อโดนก่อนธุรกิจอื่น เปรียบได้กับยืนอยู่กลางมรสุมดิจิทัล แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะรอด หลายธุรกิจเห็นมรสุมตั้งเค้าตรงหน้า เช่น ในธุรกิจธนาคารที่ลุกขึ้นมาลงทุน “ฟินเทค” กันยกใหญ่

ไม่ว่าเราจะอยู่ในธุรกิจอะไร เตรียมตัวไว้ได้เลยว่าจะโดนก่อกวนจากเทคโนโลยีเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน ทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม

ยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กโลก ซึ่งเพิ่งมีจำนวนผู้ใช้บริการทะลุ 2,000 ล้านคนทั่วโลกไปเมื่อไม่กี่วันก่อน “มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก” บอกว่า “องค์กรที่เรียนรู้ได้เร็วที่สุด จะเป็นองค์กรที่อยู่รอดได้”

ไม่ต้องเก่งที่สุด แต่ต้องปรับตัวได้เร็วที่สุด

“เอไอเอส” ยักษ์มือถือมือวางอันดับหนึ่งของไทย ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 40 ล้านคน (เกินครึ่งของประชากรในประเทศ) จึงกำลังเปลี่ยนตนเองอย่างหนักเช่นกัน

วันแรกที่รับตำแหน่ง “ซีอีโอ” เมื่อ 3 ปีก่อน “สมชัย เลิศสุทธิวงค์”

ประกาศทิศทางใหม่ของเอไอเอสที่จะมุ่งไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ “ดิจิทัล” เลิกขีดตนเองเป็นแค่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป

บริการทุกสิ่งในโลกดิจิทัลที่ผู้บริโภคต้องการ “เอไอเอส” จัดให้

ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อส่งต่อบริการไปยังผู้บริโภค

ที่ฮือฮาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือการคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดรายการในช่องดังระดับโลกอย่าง HBO, Cinemax, FOX, NBA, National Geographic เป็นต้น โดยนำบริการ HBO Go หรือการดูรายการแบบ Video on Demand มาให้บริการในบ้านเราผ่านแอพพลิเคชั่นบน

มือถือ และกล่องเอไอเอสเพลย์บ็อกซ์ (ผู้ใช้ไฮสปีดอินเตอร์เน็ตของเอไอเอส) โดยมีเนื้อหาภาษาไทย และมีตัวเลือกทั้งพากษ์ไทย และซับไตเติลภาษาไทย

HBO มีซีรีส์ดังอย่าง Games of Throne ที่มีกลุ่มแฟนคลับรอคอยซีซั่นใหม่เป็นจำนวนมาก

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อีกภารกิจสำคัญในฐานะ

“ซีอีโอ” เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล คือการ

ทรานส์ฟอร์ม “บุคลากร” ในองค์กรให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

แม้จะมั่นใจว่า เอไอเอสมีบุคลากรที่ดี และที่เติบโตมาได้ทุกวันนี้ เกิดจาก “คน” ทั้งสิ้น แต่ความเก่งอย่างเดิมไม่การันตีความสำเร็จในอนาคต อันเป็นที่มาของสโลแกนที่เป็นวัฒนธรรมในองค์กรในปัจจุบัน ที่เรียกว่า FIND U ย่อมาจาก F-Fighting Spirit หัวใจนักสู้

I-Innovation เพราะเงินซื้อเทคโนโลยีได้ แต่ต้องสร้างความแตกต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์

N-New Ability ทักษะความสามารถแบบใหม่ๆ เช่น พนักงานสาขาไม่ใช่แค่บริการดี แต่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสมาร์ทโฟน หรือสาขาที่ภูเก็ตต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อรองรับลูกค้าต่างประเทศ

D-Digital Life การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลได้ พนักงานต้องใช้เป็นด้วย และ U-Sense of Urgency การตระหนักรู้ในสิ่งที่ต้องเปลี่ยน ต้องเร็ว

“เอไอเอสมีบุคลากรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่การปรับเปลี่ยนตอนที่ยังแข็งแรงเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ง่ายที่จะบอกให้คนที่ทำดีมานานเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ในฐานะผู้นำต้องทำ ตอนผมเป็นซีอีโอใหม่ๆ คนในองค์กร 99% รักผม วันนี้อาจเหลือ 80% อย่างที่บอกว่าไม่ง่ายที่จะบอกให้คนที่ทำดีมานาน เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง”

“สมชัย” อธิบายว่า สาเหตุที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จเปลี่ยนแปลงตนเองยาก เพราะความเชื่อในกระบวนการที่เคยทำมาในอดีตแล้วประสบความสำเร็จ ต่างจากบริษัทที่กำลังเจอวิกฤต ซึ่งคนชินกับการเปลี่ยนแปลง

“แต่สิ่งที่เรากำลังบอกในวันนี้จะเป็น Success Story ในอนาคต การเปลี่ยนผ่านจาก GEN หนึ่งไปอีก GEN หนึ่ง เป็นสิ่งที่ท้าทายของเอไอเอส ปัจจุบันเรามีคน 12,000 คน เป็น GEN Y 70% GEN X 28% ที่เหลือเป็นเบบี้บูมเมอร์ การแข่งขันทุกวันนี้ทำแบบเดิม คิดแบบเดิมเอาไม่อยู่”

บุคลากรแบบไหนที่องค์กรอย่างเอไอเอสต้องการ

“จะเป็นพันธุ์ไหนก็ได้ ขอให้องค์กรอยู่รอด คนรุ่นใหม่รุ่นเก่าไม่ได้อยู่ที่อายุ คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็มี ดังนั้น ถ้าจะทำให้องค์กรพร้อมที่จะต่อสู้ และแข่งขันได้ทุกรูปแบบ ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนตนเองได้ตลอดเวลา”

เหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จในเรื่องของการบริหารบุคลากรสำหรับเขา คือการที่คนอยู่กับองค์กรเพราะเลือกที่จะอยู่ เพราะองค์กรดูแลได้ดี และได้เติบโตไปพร้อมองค์กร

“เมื่อไรก็ตามที่ตลาดอยากได้คนของเอไอเอส ผมถือว่าเป็นอีกวันที่พิสูจน์ความสำเร็จในการพัฒนาคนของเราได้ ผมเชื่อในเรื่องใจ เพราะผมเป็นคนเก่าที่เกิดมากับเอไอเอส และที่อยู่มาได้ เพราะใจมีความสุข”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image