แบบนี้ก็ได้เหรอ? เจาะมหกรรม ‘ลอกข่าว’ ฉาววงการสื่อ ก๊อปเกรดเอ แค่พลาด หรือขาดจิตสำนึก?

อุ๊แม่เจ้า! ไม่ใช่แค่เสิ่นเจิ้นเสียแล้วที่ตกเป็นจำเลยสังคมในการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วยการก๊อปสินค้าแบรนด์เนมที่เหมือนเปี๊ยบจนโลกตะลึง ทว่า ณ บัดนาว ก็มีกรณีก๊อปเกรดเอสั่นสะท้านวงการสื่อซึ่งกระจายตัวสู่ความรับรู้ของสาธารณชนคนโซเชียลอย่างรวดเร็ว เมื่อ กรุณา บัวคำศรี นักข่าวและพิธีกรชื่อดังเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงสำนักข่าวแห่งหนึ่งซึ่งลอกทั้งเนื้อหาและภาพข่าวจากสารคดีเรื่อง “อาหารเปื้อนฝุ่น” ที่เผยแพร่ทางพีพีทีวีไปใช้โดยไม่ให้เครดิต พร้อมทั้งเล่าถึงขั้นตอนต่างๆ ว่ากว่าจะได้มาซึ่งผลงานชิ้นนี้ เธอต้องตื่นตี 3 อดหลับอดนอน นั่งรถนั่งเรือ เดินทางไกลหลายสิบชั่วโมง ฝ่าฝนเสี่ยงลูกปืนเข้าไปในสลัมที่อาชญากรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งของฟิลิปปินส์ ถึงขนาดต้องมีตำรวจ 3 นายคอยคุ้มกัน แล้วคุยกับชาวบ้านอยู่ 2 วันก่อนกลับมาเขียนสคริปต์ และตัดต่ออีกหลายวัน

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เหนื่อย ท้อ ไปจนถึงผิดหวัง ทว่า เป็นตอนที่โดนฉกไปใช้ทั้งดุ้น แถมเคลมว่าเป็นของตัวเองซะงั้น !!!

พร้อมกันนั้น ก็แนบภาพข่าวดังกล่าวของตน เทียบกับ ทีนิวส์ เป็นการเฉลยว่า สำนักข่าวแห่งใดกันหนอที่อาจหาญลอกผลงานคนอื่น โดยนำไปพาดหัวใหม่ว่า “ไม่น่าเชื่อว่านี่คือเรื่องจริง!!! อาหารจากกองขยะที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้งชุมชนให้ยังมีชีวิตผ่านไปอีกวันๆ หนึ่ง!!!” ที่เหลือ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ราวกับงานโคลนนิ่ง ทำเอาคนในแวดวงสื่อจนถึงชาวเน็ตแห่แชร์และโพสต์ให้กำลังใจเจ้าตัว ในขณะเดียวกันก็รุมเมนต์ประณามพฤติกรรมอันน่าละอายจนต้องส่ายหน้า มองบน และถอนหายใจเฮือกใหญ่

นักข่าวอัดอั้น แห่ประจานถ้วนหน้า

เหตุการณ์นี้ สร้างแรงกระเพื่อมราวกับอัดอั้นมานาน นักข่าวจากหลายสำนัก พร้อมใจกันล้อมวงกันเมาธ์บอกเล่าประสบการณ์การถูกก๊อป ก่อนถูกผสมโรงโดยผู้บริโภคเชียร์ให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กระทั่งมีเสียงเล็ดลอดลือสนั่นว่าคนในวงการปิ๊งไอเดียจะแปะมือร่วมฟ้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสืบไป

Advertisement

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ทีนิวส์ เผยแพร่จดหมายขอโทษ “อย่างไม่มีข้อแก้ตัว” โดยระบุว่าได้ลงโทษขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดแล้ว ทั้งยังตบท้ายด้วยว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวของตนได้ขยายงานข่าวในนิวมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยมีข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ราว 400-500 ข่าว/วัน หรือ 15,000 ข่าว/เดือน

ข้อมูลนี้ จุดประเด็นใหม่ขยายไปสู่พูดคุยถึงความเป็นไปได้ของการลงพื้นที่ทำข่าวจริง (แบบไม่ก๊อปชาวบ้าน) !!!

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสำนักข่าวดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันเกิดการลอกข่าวมากมายโดยเว็บไซต์ที่ผุดขึ้นไวยิ่งกว่าดอกเห็ด ใครไม่เคยโดนลอก คงต้องพิจารณาตัวเองโดยด่วน

พฤติการณ์เยี่ยงนี้สะท้อนสิ่งใดในแวดวงสื่อสารมวลชนประเทศไทย และส่งผลอย่างไรต่อประชาชนผู้รับข่าวสาร?

ผิดจริยธรรมสากล (อ้าง) อัพข่าวเยอะ ‘ฟังไม่ขึ้น’

นอกจากสามัญสำนึกพื้นฐานซึ่งใครๆ ก็มองเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นพฤติกรรมที่ชวนเบะปาก มาลองเช็กหลักวิชาการ ตรวจสอบตำราวารสารศาสตร์ดูสักนิดว่า สิ่งนี้ผิดหรือไม่ เพราะอะไร?

“ผิดแน่นอน”

รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวประโยคแรก พร้อมอธิบายว่า ผู้ที่จะเขียนข่าวได้ ต้องเป็นคนที่รับทราบมากับตัวเอง จึงจะสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น การลอกข่าวของผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดลอกที่ไม่มีการอ้างอิง ไม่ใช่เพียงข่าวเหตุการณ์ แต่รวมถึงสกู๊ปที่ผ่านการสร้างสรรค์

“ถ้าตั้งใจลอก ก็ผิดจริยธรรมสากล การคัดลอกเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าจะวงการไหนก็ผิด หากไม่มีการอ้างอิง”

ส่วนข้ออ้าง (ถ้ามี) ว่า ในวันหนึ่งๆ สำนักข่าวของตนผลิตข่าวมากมายมหาศาล ระดับอภิมหาอลังการแห่งการอัพข่าวออนไลน์ จึงอาจมีความผิดพลาด (โดยการลอกงานคนอื่นเสียเลย) นั้น

อาจารย์ตอบทันควันว่า “ฟังไม่ขึ้น” เพราะการผลิตข่าวเยอะเป็นความต้องการของผู้ผลิต ในขณะที่ผู้รับสารต้องการสิ่งที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ

สั้นๆ แต่ชัดเจน!!!

จรรยาบรรณที่ขาด จิตสำนึกที่ต้องตั้งคำถาม

นอกเหนือจากประเด็นการลอกแบบทำมึน ไม่ใส่เครดิต ที่มา หรืออ้างอิงต้นฉบับแล้ว กรณีก๊อบปี้ระดับแอ๊ดวานซ์อย่างการใส่ชื่อบุคคลในสำนักข่าวของตัวเองเป็น “ผู้เรียบเรียง” ก็เกิดขึ้นสม่ำเสมอ ชวนให้ตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณว่า การจิ๊กผลงานชาวบ้านเป็นสมบัติของตัวเองนั้น ต้องใช้ความกล้าขนาดไหน?

“อันนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ต้องให้เกียรติคนที่เป็นต้นเรื่อง ประเภทที่ก๊อปมาใส่เป็นเครดิตตัวเอง ยิ่งแย่มากๆ ขาดจรรยาบรรณอย่างยิ่ง”

ผศ.ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ม.รังสิต แสดงความเห็น พร้อมทั้งวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมยุคนี้จึงมีสื่อช่างลอกเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

“การผลิตข่าวบางอย่างต้นทุนสูง แต่สปอนเซอร์เข้าไม่เยอะ สื่อต่างๆ ก็พยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด การจะต้องมีทีมข่าวของตัวเองค่อนข้างเยอะอยู่ไม่รอด จึงต้องใช้วิธีนี้”

อาจารย์ยังบอกว่า การใช้ข้อมูลของผู้อื่น ควรอ้างอิงแหล่งที่มา ให้เกียรติว่าได้มาจากที่ไหน มีการกลั่นกรองให้ถูกต้องมากขึ้น ไม่ใช่ก๊อปมาทั้งดุ้น เอาง่าย เอาเร็ว ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาด ไม่ว่าสื่อเล็กๆ หรือสื่อใหญ่ระดับประเทศ ก็เคยพลาดมาแล้ว

“…ถ้าตั้งใจลอก ก็ผิดจริยธรรมสากล
การคัดลอกเป็นเรื่องสากล ไม่ว่าจะวงการไหนก็ผิด
หากไม่มีการอ้างอิง… “

แรงจูงใจผลิตข่าวคุณภาพลด ผลเสียตกที่ผู้อ่าน

มาถึงอีกประเด็นสำคัญ นั่นคือ “การลงทุน” ซึ่งสื่อสำนักต่างๆ ว่าจ้างนักข่าว ออกทุนการเดินทาง รวมถึงกระบวนการผลิตซึ่งกว่าจะได้ข่าว สกู๊ป หรือสารคดีแต่ละชิ้น ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น การถูกหน่วยงานที่อ้างตนเป็นสื่อ แต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์รอคลิกขวากด “คัดลอก” แล้วนำไปแปะขึ้นเว็บไซต์เป็นผลงานของตัวเอง จึงไม่เพียงชวนให้ “รมณ์เสีย” แต่บางรายอาจเข้าข่ายหมดกำลังใจในการสร้างผลงานคุณภาพ

ผศ.ดร.ดวงกมล ชาติประเสริฐ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองในประเด็นเรื่องการลงทุนว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ “คนในวงการ” ต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน

“ถ้าพูดเรื่องคนหนึ่งลงทุน อีกคนเอาไปใช้ คงต้องเป็นเรื่องใหญ่ ประเด็นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด คิดว่าเป็นประเด็นใหญ่ที่คนในวงการต้องมาคุยกัน ทรัพย์สินในลักษณะข่าวที่เป็นสาธารณะ การถูกนำไปใช้ต่อ มีกฎเกณฑ์อย่างไรที่รับได้ รับไม่ได้ ในแง่แรงจูงใจในการทำธุรกิจ เราลงทุนเยอะ แต่คนอื่นเอาไปใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุน แรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีจะลดน้อยถอยลงในที่สุด ในเมื่อคนอื่นไม่ต้องทำ ก็ได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเรา แต่การลงทุนของสื่อ คงเป็นประเด็นที่ต้องพูดกันอย่างชัดเจนมากกว่านี้”

อาจารย์ยังย้ำว่า การทำข่าว คือการนำความจริงมานำเสนอ ต้องหาแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล การลอกกันนั้นถือว่าวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข่าวผิดเพี้ยนตั้งแต่ต้น และไม่ได้มีความใส่ใจในคุณภาพของข้อมูล ถ้าข่าวเหมือนๆ กันหมด ก็เหมือนมีสื่อเดียว ขาดความหลากหลายทั้งในข้อมูลและแง่มุมให้ตรวจสอบความถูกต้อง กลายเป็นข้อจำกัดในสังคม

“หลักการที่ดีที่สุดในสังคมโดยเฉพาะถ้าเราคิดว่าเป็นสังคมที่จำเป็นต้องใช้ข่าวสาร สังคมที่ผู้อยู่อาศัยมีส่วนที่จะต้องร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ การได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ มันมีความสำคัญ พอมีข้อมูลมาจากหลายแหล่ง ความเหมือน-ความต่างทำให้เปรียบเทียบได้ ทำให้มีหลายแง่มุมให้ตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อไหร่ข้อมูลมาจากแหล่งเดียวก็ขาดคุณสมบัติที่จะได้เห็นแง่มุมหลากหลาย มันเป็นข้อจำกัดในสังคม”

นักข่าว ‘ขาใหญ่’ เด็กใหม่ ‘อย่าแหลม’

เขยิบมาอีกสถานการณ์ที่ไม่ใช่การลอกข่าวโดยตรง แต่นำไปสู่ผลงานข่าวที่มีประเด็นใกล้เคียงกัน นอกเหนือจากข่าวแจก ข่าวแถลงซึ่งเป็นธรรมดาที่ข้อมูลเนื้อหาย่อมคล้ายคลึง นั่นคือการมี “ขาใหญ่” แบบไม่เป็นทางการ แต่เป็นที่รู้กันในกลุ่มนักข่าวประจำหน่วยงานราชการบางแห่ง ว่าจะคิดอ่านทำประเด็นข่าวใด ต้องมีการเกาะกลุ่ม อย่าแหลม ใครคิดประเด็นแจ่มๆ ต้องแจ้งทราบล่วงหน้า อย่าให้เห็นว่ามีข้อมูลที่ตนแอนด์เดอะแก๊งไม่เคยรู้ มิเช่นนั้น จะเจอมาตรการเพิกเฉยทางสังคม นับเป็นปมหยุมหยิมที่ทำนักข่าวหน้าใหม่หมดกำลังใจในการทำงาน ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้แง่มุมข่าวออกมาแทบไม่ต่างกัน

ประเด็นนี้ ผศ.ดร.ดวงกมลตั้งคำถามกลับว่า นักข่าวจะยอมศิโรราบเดินตามระบบเพื่อให้ชีวิตง่าย หรือจะหาทางแก้ไข เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

“ตามหลักไม่ควรมีขาใหญ่ไง (หัวเราะ) เวลาดูปรากฏการณ์ นักข่าวมีสิทธิที่จะมีมุมมอง เหตุที่ต้องมีสื่อหลายๆ สื่อ เพราะแต่ละสื่อก็จะมีประเด็นการนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างกัน สิ่งนั้นจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ้าทุกคนเสนอเหมือนกัน คนรับข่าวสารไม่ได้มีทางเลือก ไม่มีอำนาจต่อรอง แต่อะไรบางอย่างในสังคมไทย ก็ทำให้สิ่งที่ควรจะเป็นไม่ได้เกิด มันมีระบบอะไรบางอย่าง แล้วแต่ว่าเราจะยอมเป็นไปตามระบบเพื่อให้ชีวิตง่าย หรือจะหาทางแก้ไข ก็เป็นคนละเรื่อง ในทุกวงการมีหมด ชีวิตง่าย ไม่รู้จะทำอะไร ใครเขาจะเล่นอะไร ก็เล่นไป ไม่มีปัญญาทำอะไร”

ทุนน้อย ต้องใช้สมอง
อย่าทำเหมือน ‘โจรกระชากสร้อย’

จากมุมมองของนักวิชาการ มาลองแซะถามผู้อาวุโสในวงการอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กันบ้าง

“หน้าด้านมาก ใช้ไม่ได้

“เหมือนโจรกระชากสร้อยกลางตลาด!!!”

ขึงขัง แจกหมัดหนักตามสไตล์ ต่อด้วยคำอธิบายว่า การลอกข่าวสมควรต้องถูกประณาม ปล่อยไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง กรณีเว็บไซต์ข่าวที่ทุนน้อย ไม่มีนักข่าวภาคสนามลงพื้นที่ ก็ต้องใช้สมองหาประเด็นที่แตกต่าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้อ่าน หลักการแข่งขันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ว่าจะมี “กึ๋น” หรือไม่

สุจิตต์ยังย้อนเล่าถึงคราวออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ซึ่งต่อมาเป็นประชาชาติรายวัน เมื่อหลายสิบปีก่อน ว่า ขณะนั้นตนอายุไม่ถึง 30 ปี ประสบการณ์น้อย ทุนก็น้อย ในจำนวนทุนที่น้อยนั้น มาจากคนที่ลงหุ้น กับเงินกู้ ไม่มีนักข่าวเยอะแยะลงพื้นที่ภาคสนาม ดังนั้น ต้องหามุมทำข่าวเดี่ยว จะไปลงพื้นที่ทั้งหมดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีคน เทคโนโลยีก็ไม่ถึงขั้น บางทีเอาข่าวจากวารสารราชการมาเขียนเป็นข่าว

“ต้องหาไอเดีย ต้องมีสมอง ครีเอตเอง จะไปลอกเอาดื้อๆ ไม่ได้ อย่าคิดว่าคนอ่านไม่รู้”

ขณะที่ประเด็นของกรุณา บัวคำศรี เป็นที่ฮือฮาผ่านโซเชียล ถามว่าในอดีต เวลามีประเด็นฉาวในวงการสื่อ นักหนังสือพิมพ์ยุคเก่าเขาเมาธ์มอยกันที่ไหน ครั้งยังไม่มีโซเชียลและไลน์กรุ๊ปเหมือน พ.ศ.นี้

สุจิตต์บอกว่า “ร้านเหล้า”

“ด่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง

“ยุคนั้นรู้อยู่แล้วใครเป็นใคร รู้ไส้รู้พุงกันหมด ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่มีหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ลอกข่าวเยอะแยะ เป็นแนวตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก”

สุจิตต์ยังบอกว่า น.ส.พ.เหล่านี้สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้เอง ค่อยๆ หายไปทีละฉบับ สองฉบับ โดยไม่มีใครรังแก ไม่ต้องมีการฟ้องร้องทางกฎหมาย เชื่อว่า สื่อออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพก็คงเหมือนกัน

คืออยู่ได้แค่ชั่วคราว เพราะไม่ใช่ตัวจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image