กยท.ขอเวลาแก้ปัญหาราคายางชี้ผ่านจุดวิกฤตไปแล้วจากนี้ราคาน่าจะดีขึ้น

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปแบบของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้หลายครั้งที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลกมีการปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลต่อราคายางด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่า แนวโน้มของยางพาราปรับตัวขึ้นลงตามวงจรของเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วสถานการณ์ในช่วงนี้มีความใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการขึ้นลงของราคายางจะมาจากปัจจัยต่างๆ คือ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน จะกำหนดกรอบราคาในแต่ละปี ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นแทนการพึ่งพิงการส่งออก

นายธีธัชกล่าวว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ยางแผ่นดิบ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50.97 บาท/กิโลกรัม ลดลง 1.16 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 53.13 บาท/กิโลกรัม ลดลงเพียง 0.98 บาท/กิโลกรัม เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคายางของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่ง กยท.มองว่าราคาได้ผ่านวิกฤตที่ลดลงอย่างรุนแรงแต่ละวันแล้ว แต่ราคายางที่ลดลงช่วงนี้ มีสาเหตุจากสต๊อกยางของจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยพื้นฐานอื่นที่สนับสนุนราคายางคือ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับการขยายตัวในภาคการส่งออก หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย ที่ 1.5% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ยังคงมีการขยายตัว ในภาคการผลิตจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของเดือนมิถุนายน ยังคงเพิ่มขึ้น และยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 สอดรับกับรายงานยอดขายรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้น 13.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในช่วงนี้ มีปริมาณฝน 40-60% ในภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ส่วนพื้นที่ปลูกยางอื่น มีปริมาณฝน 60-70% ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลงจึงน่าจะส่งผลให้ สถานการณ์ราคายางขยับตัวขึ้น

“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 ประเทศผู้ผลิตยางโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ประชุมร่วมกันในเวทีสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) ครั้งที่ 28 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอในการนำมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาราคายางผันผวนในระยะสั้น พร้อมทั้งจะเร่งดำเนินการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของ 3 ประเทศ ให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดในช่วงเดือนธันวาคมเป็นเดือนกันยายนนี้เพื่อประชุมหารือแนวทางและมาตรการแก้ปัญหายางพารา นับว่าเป็นปัจจัยบวกในเชิงจิตวิทยาที่จะกระตุ้นให้สถานการณ์ราคายางมีทิศทางดีขึ้น” นายธีธัชกล่าว

นายธีธัชกล่าวว่า ส่วนมาตรการการและแนวทางแก้ปัญหายางพารานั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งการอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา การดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติม ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง อีกจำนวน 11,460 ครัวเรือน ในขณะเดียวกัน กยท.มีกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียยางพาราทั้งระบบ ด้วยการจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.

Advertisement

นายธีธัชกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังมีมาตรการขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยมอบให้ กยท.เร่งเตรียมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีผู้ประกอบกิจการส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ทั้ง 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กยท.ลงทุนร่วมกัน องค์กรละ 200 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท เข้าซื้อยางในตลาดซื้อขายจริงและตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะสามารถขยายผลได้ถึง 10 เท่า ของวงเงินดังกล่าว และซื้อยางได้ประมาณ 200,000 ตัน ซึ่งส่งผลดีต่อราคายาง และเป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนภายใต้การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะสามารถรักษาระดับราคา ผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสมดุลอีกครั้ง และรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเพื่อส่งเสริมยางพาราด้วยการใช้ยางให้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพารา อาทิ ของเล่นเด็ก หมอน กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง รถยนต์ และรถทุกประเภท นอกจากนี้ ยางพารายังมีประโยชน์ด้านยุทโธปกรณ์ฝึกซ้อมทางทหาร ด้านคมนาคม ด้านการแพทย์ เพราะฉะนั้น หากทุกคนร่วมกันส่งเสริมและหันมาใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นจะทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่มีขายผลผลิตอย่างเดียวรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอีกประมาณ 5-6 เท่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศโดยรวมได้

“ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ข้อเสนอแนะ ต่างๆ ซึ่ง กยท.พร้อมรับฟังและนำไปปรับใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม และฝากถึงทุกกลุ่มที่ต้องการนำเสนอแนวทาง สามารถส่งข้อเสนอแนะผ่านช่องทางต่างๆ หรือสำนักงานสาขาของ กยท.ทั่วประเทศ การรวมตัวกันเพื่อกดดันรัฐบาลด้วยการประท้วงหรือการเดินขบวนอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง และการแก้ไขปัญหาทำให้ยากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อราคายาง จึงขอเวลาให้รัฐบาลและ กยท.ได้ใช้เวลาและวิธีการต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาราคายางที่ผันผวน เพราะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงจะแก้ไขได้ การสร้างข่าวในทางลบ การสร้างความขัดแย้งหรือการรวมกลุ่มกดดัน มิใช่วิธีการแก้ไขปัญหาในเวลานี้ รัฐบาลและ กยท.มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและทำอย่างจริงจังมาโดยตลอด ขอให้พี่น้องเกษตรกรเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันเป็นเพียงการปรับตัวในระยะสั้น และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วอีกครั้งอย่างแน่นอน” นายธีธัชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image