ทฤษฎีประกอบสร้างนิยม (constructivism) กับไอร์แลนด์และเซอร์เบีย : โกวิท วงค์สุรวัฒน์

ทฤษฎีประกอบสร้างนิยม (Constructivism) เป็นแนวความคิดที่เป็นที่นิยมอย่างสูงในแวดวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งอยู่บนฐานของคำอธิบายที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างภายในสังคมมนุษย์หรือรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นซึ่งยืมมาจากวิชาสังคมวิทยาที่อธิบายถึงบรรทัดฐานของสังคม (social norms) ซึ่งบรรทัดฐาน คือตัวกำหนดตามพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของบุคคลในสังคม ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าในสถานการณ์นั้นๆ บุคคลควรปฏิบัติเช่นใดบ้าง ซึ่งพฤติกรรมจะอยู่ในแนวเดียวกัน คือไม่ทำความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ประกอบด้วย
1.วิถีประชา (folkways) เป็นข้อตกลงของคนหมู่มากแล้วนำมาเป็นแนวปฏิบัติเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ถ้าทำผิดสังคมลงโทษไม่รุนแรง เช่น การไปงานศพใส่ชุดดำ แต่ถ้าไม่ใส่ชุดดำผลที่ได้คือการถูกนินทา ถูกตำหนิทำให้รู้สึกอับอาย หรือการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
2.จารีตประเพณี (mores) เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเพราะจะทำให้สังคมเกิดความสงบสุขมีความโน้มเอียงไปในทางศีลธรรม ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติมีบทลงโทษจากสังคมค่อนข้างรุนแรงและชัดเจน เช่น ห้ามเป็นชู้กับเมียคนอื่น ลูกควรกตัญญูต่อพ่อแม่ในประเทศจีน หรือการที่ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องจ่ายค่าสินสอดให้กับครอบครัวฝ่ายชายในประเทศอินเดีย เป็นอาทิ
3.กฎหมาย (laws) เป็นสิ่งที่รัฐได้กำหนดให้บุคคลต้องปฏิบัติหรือไม่ให้ปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น ห้ามฆ่าคน ห้ามลักขโมย ถ้าทำผิดมีบทลงโทษที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แนวความคิดแบบประกอบสร้างนิยม (Constructivism) มุ่งจะอธิบายถึงความเป็นสิ่งที่ถูก “สมมุติ” ขึ้นจนเป็นบรรทัดฐานทางสังคม คือสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมและการกระทำเป็นการควบคุมทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ บรรทัดฐานนี้มักขึ้นอยู่กับบางระดับของการได้รับความยินยอมและดำรงอยู่โดยการบังคับทางสังคมขึ้นมา พื้นฐานและหลักการของแนวคิดนี้จึงอยู่ที่ปัจจัยที่สำคัญในการนำมาวิเคราะห์ และกำหนดพฤติกรรมของรัฐในเชิงโครงสร้าง หรือตัวแสดงต่างๆ จึงอยู่ที่ “กลุ่มบรรทัดฐาน” หรือ “ชุดความคิด” ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ในสังคมนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้น และส่งทอดต่อๆ กันมาจากชนชั้นนำ หรืออาจเกิดขึ้นจากแนวนโยบายต่างประเทศ โดยชนชั้นนำใช้มันเพื่อเป็นการควบคุมกำกับพฤติกรรมของตัวแสดงต่างๆ บนสนามการเมืองโลก โดยให้บรรทัดฐาน หรือชุดความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ฝังลงไปในกระบวนการรับรู้หรือการรับรู้ และสำนึกหลักของมนุษย์และตัวแสดงร่วมกันให้ได้
ตัวอย่างเช่น การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขององค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ.2491 เป็นการเริ่มต้นของการสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาเป็นครั้งแรกของวงการการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาจนเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง-United Nation’s International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) จนในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น อันมีสิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิของพวกเกย์ และเลสเบี้ยน จึงเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้วนั่นเองอีทีนี้ก็เกิดปรากฏการณ์แบบแปลกใจช็อกโลก 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง กล่าวคือในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 นี้ที่ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศเกาะอยู่ใกล้กับเกาะบริเตนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นพวกอนุรักษนิยมหัวดื้อ นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ซึ่งถือว่าการรักร่วมเพศเป็นการผิดบาป ขนาดพระผู้เป็นเจ้าต้องส่งฝนไฟมาถล่มเมืองโซดอมและกอเมอราห์ ซึ่งผู้คนเป็นเกย์กันทั้งเมือง ในพระคัมภีร์ไบเบิลจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อนายลีโอ วารัดคาร์ ผู้เป็นเกย์ที่มีอายุเพียง 38 ปี จัดเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไอร์แลนด์เลยทีเดียว แถมยังมีแฟนเป็นผู้ชายเป็นตัวเป็นตนอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ยังเป็นลูกครึ่งมีพ่อเป็นอินเดียและแม่เป็นไอริชอีกด้วย
เรื่องไอร์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีเป็นเกย์นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ เนื่องจากในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์มีกฎหมายอาญาลงโทษพวกเกย์นี่ถึงขนาดจำคุกเลยนะครับ เพิ่งจะมายกเลิกกฎหมายนี้เมื่อ พ.ศ.2536 นี่เอง ด้วยการลงประชามติและไอร์แลนด์เพิ่งออกกฎหมายให้ผู้ชายกับผู้ชายแต่งงานกันได้เมื่อ 2 ปีมานี้เอง (ต้องลงประชามติเหมือนกัน)
คราวนี้ก็ประเทศเซอร์เบียร์ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทางออกทะเลในคาบสมุทรบอลข่าน กำลังสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่เดิมเซอร์เบียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูโกสลาเวีย แต่ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นใน พ.ศ.2534 รบกันฆ่ากันแบบล้างเผ่าพันธุ์กันเลยเกือบ 20 ปี
ในที่สุดยูโกสลาเวียซึ่งเป็นประเทศที่มีเนื้อที่น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีกก็แตกออกเป็น 7 ประเทศ และประเทศเซอร์เบียคือประเทศที่เหมารบกับเขาเกือบทุกประเทศเหมือนกัน โดยเฉพาะกับประเทศโครเอเชียที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ส่วนเซอร์เบียมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกาย ออร์ธอดอกซ์อนุรักษนิยม ถือว่าการรักร่วมเพศนี่เป็นโรคร้ายน่ารังเกียจมากนะครับ แต่ในวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ เซอร์เบียร์ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศคือ คุณอนา เบอร์นาบิช วัย 41 ปี ผู้มีเชื้อสายโครแอต (โครเอเชีย) ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากอังกฤษ และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเอกชนมาโดยตลอด เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงบริหารรัฐกิจและการปกครองท้องถิ่น
เมื่อปีที่แล้วนี้เอง คุณอนา เบอร์นาบิช มีรสนิยมทางเพศเป็นพวก “หญิงรักหญิง” หรือเลสเบี้ยนนั่นเอง แถมประกาศตัวว่าเป็นเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผยอีกด้วย
น่าแปลกใจนะครับที่ประเทศอนุรักษนิยมมากๆอย่างไอร์แลนด์กับเซอร์เบียจะเปลี่ยนแปลงได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่หากพิจารณาตามทฤษฎี ประกอบสร้างนิยม (Constructivism) แล้วก็พอจะเข้าใจได้ครับ เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงกฎหมายรักร่วมเพศของทั้งสองประเทศนี้มาเป็นระยะ จากอิทธิพลของปัจจัยภายนอกคือ ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2491 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ.2519 ขององค์การสหประชาชาติซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image