ชุมชนต้นแบบ : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดย:สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน-กมลวรรณ พลับจีน

ชุมชนบ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน
เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่มีรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธีการทำการเกษตร กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร มีแหล่งการเรียนรู้ชุมชนที่สำคัญ คือ ป่าดอนปู่ตา ซึ่งเป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ช่วยกันปกป้องรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้างคืน สามารถเข้าพักที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์บ้านบัวเทิง นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้การรณรงค์เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ศึกษาอีกด้วย

ด้วยความหลากหลายของทรัพยากรทางการเกษตร รูปแบบการจัดการท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาเรียนรู้ดังกล่าว จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ที่ชุมชนบ้านบัวเทิงเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ สร้างงานให้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน คนในชุมชนอยู่กันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูล จึงเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งของไทยชุมชนหนึ่ง

แต่กว่าจะมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศอย่างปัจจุบันได้นั้น ชุมชนบ้านบัวเทิงได้เผชิญทั้งปัญหาและอุปสรรคมากมาย ชุมชนนี้ผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้อย่างไร ก็จะชวนมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 เริ่มจากเกษตรกรชาว จ.นครปฐมได้เข้ามาเช่าที่ดินเพื่อปลูกกุหลาบ เบญจมาศ และได้จ้างคนในชุมชนเป็นคนงานช่วยดูแลสวน อีกทั้งยังถ่ายทอดวิธีการปลูก การดูแลรักษาไม้ดอกไม้ประดับให้กับคนในชุมชน ภายหลังเกษตรกรชาวนครปฐมได้เลิกปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

ต่อมาปี 2537 นายประสิทธิ์ บุญแก้ว เกษตรกรในชุมชนจึงเช่าที่ดินเพื่อปลูกกุหลาบ ซึ่งติดกับริมถนน จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดรายได้จากการจำหน่ายกิ่งพันธุ์ ดอกกุหลาบ และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ แต่ทำได้อยู่ 4 ปีก็ต้องเลิก เนื่องจากประสบปัญหาศัตรูพืช ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน ส่งผลให้ต้นทุนสูง และเกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา

Advertisement

หลังจากนั้นนายประสิทธิ์ บุญแก้ว ได้ย้ายเข้ามาทำสวนเกษตรในหมู่บ้านบัวเทิง โดยเป็นลักษณะของเกษตรแบบผสมผสาน เช่น กล้วย ส้มโอ มะนาว แก้วมังกร ควบคู่กับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้ครอบครัวได้เป็นอย่างดี จึงเกิดการขยายพื้นที่ออกไปยังสวนใกล้เคียง และขยายออกไปจนครอบคลุมเกือบทั้งชุมชน

ชุมชนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน เกิดงานสร้างรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตร แต่ชุมชนนี้ก็ยังคงต้องเผชิญสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชุมชน การไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ การแย่งชิงตลาดส่งดอกไม้ เป็นต้น

นักท่องเที่ยวเริ่มน้อยลง ด้วยปัญหาสำคัญอีกหนึ่งประการ คือ ชุมชนบ้านบัวเทิงไม่มีรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่ชัดเจน (กิติพจน์ แสนสิงห์, 2552)

Advertisement

ในปี 2551 นายกิติพจน์ แสนสิงห์ ได้รับทุนโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาปริญญาโท จ.อุบลราชธานี CBMAG (Community-Based Master Research Grant) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานี และได้บังเอิญผ่านมาเที่ยวชมชุมชนบ้านบัวเทิง มีโอกาสได้พูดคุยกับคนในหมู่บ้านหลายครั้ง เมื่อทราบถึงปัญหา จึงสนใจดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริงผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) ดังนี้

1) กระบวนการสร้างความเข้าใจ ผ่านเวทีประชุม เวทีประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนถึงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย การหาอาสาสมัครเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย ตลอดจนการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ทีมวิจัยทำงานร่วมกัน เวทีต่างๆ ไม่ได้จัดขึ้นแค่ครั้งเดียว ต้องอาศัยความอดทน พยายาม เพื่อค่อยๆ ให้ชาวบ้านได้ซึมซาบ และสร้างความคุ้นเคยกับนักวิจัย พี่เลี้ยง รวมไปถึงคนในชุมชนด้วยกันเอง

จุดเด่นของกระบวนการนี้ คือ การเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มีโอกาสในการแสดงออกทั้งทางความคิดและการกระทำ ตั้งแต่การร่วมแสดงความคิดเห็น สร้างเป้าหมาย ข้อตกลงร่วมกัน วางบทบาทหน้าที่ให้รับผิดชอบ ทำให้คนในชุมชนรู้สึกถึงการมีตัวตน เห็นคุณค่า ศักยภาพของตนเอง กล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการเกิดอารมณ์ร่วมในการแสวงหาความรู้ เพราะไม่ได้มาจากการบังคับหรือสั่งการจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

2) การจัดเวทีเพื่อเติมความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเก็บข้อมูลให้กับทีมวิจัยชาวบ้าน อาทิ การออกแบบสัมภาษณ์ เทคนิควิธีการสัมภาษณ์ วิธีการจดบันทึก จากนั้นจึงแบ่งทีมวิจัยเพื่อลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลกับปราชญ์ชาวบ้าน เป็นลักษณะของการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอดีตและปัจจุบัน ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ข้อมูลชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม ความเชื่อ โครงสร้างขององค์กรต่างๆ ในชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนในกิจกรรมชุมชน เป็นต้น หลังจากได้ข้อมูลครบแล้วจึงนำมาสังเคราะห์เพื่อทราบต้นทุนของชุมชน

จุดเด่นของกระบวนการนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและทีมพี่เลี้ยงกับนักวิจัยชาวบ้าน สร้างการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ผู้วิจัยและทีมพี่เลี้ยงก็ให้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการทำวิจัย เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ กับนักวิจัยชาวบ้าน นักวิจัยชาวบ้านก็ให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนแก่ผู้วิจัยและทีมพี่เลี้ยง ตลอดจนการทำให้คนในชุมชนทราบประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และทรัพยากรต่างๆ ของชุมชน เกิดการตระหนักรัก และหวงแหนชุมชน

3) การลงพื้นที่เพื่อสำรวจศักยภาพและเส้นทางการท่องเที่ยว โดยการสอบถามคนในชุมชน เพื่อนำมากำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวและจัดทำแผนผังชุมชน จัดเวทีให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นำไปสู่การทดลองจัดรูปแบบการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ ประเมินผล และสรุป

จุดเด่นของกระบวนการนี้ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของคนภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามาเที่ยวชมและเห็นศักยภาพของชุมชนในมิติที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายที่ชัดเจนในการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนในอนาคตต่อไป

ผลจากการทำวิจัยครั้งนั้น ทำให้ชุมชนบ้านบัวเทิงได้รูปแบบการท่องเที่ยวที่ชัดเจน กล่าวคือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย 6 ฐานการเรียนรู้ ดังนี้ ฐานการเรียนรู้ที่ 1 เสาหลักบ้าน ฐานการเรียนรู้ที่ 2 สวนเกษตรผสมผสาน ฐานการเรียนรู้ที่ 3 สวนพุทรา 3 รส ฐานการเรียนรู้ที่ 4 การปลูกแก้วมังกร ฐานการเรียนรู้ที่ 5 ป่าชุมชน (ดอนปู่ตา) และฐานการเรียนรู้ที่ 6 บัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรจนสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตได้

แม้ผ่านมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี งานวิจัยจบไปแล้ว แต่ก็ยังคงทิ้งร่องรอยหลักฐานที่ไม่ใช่แค่รูปธรรมเท่านั้น ยังมีหลักฐานนามธรรมที่เป็นอาวุธความรู้ติดตั้งไว้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นอาวุธที่มีพลังสำคัญช่วยคุ้มครองชุมชนไม่ให้กลับมาล้มเหลวอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา นั่นก็คือ วิธีการคิดแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบและตลอดชีวิต

อาวุธความรู้นี้เมื่อถูกติดตั้งแล้ว จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ถูกติดตั้งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการปฏิบัติให้เห็นในชีวิตประจำวัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งที่แท้จริง ไม่ใช่การเรียกว่าเป็นชุมชนเพียงเพราะอาศัยอยู่ในอาณาเขตเดียวกันเพียงเท่านั้น แต่คือ การอาศัยร่วมกันอย่างมีเป้าหมายในการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสิ่งเดียวกัน มีสัมพันธภาพที่ดี ติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างใกล้ชิด

นอกจากเป็นชุมชนเข้มแข็งที่แท้จริงแล้วยังยั่งยืนอีกด้วย เพราะกระบวนการสร้างอาวุธความรู้นี้ไม่ได้ถูกสร้างโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน เกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ ทั้งร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมแก้ไขปัญหา

การเปิดเวทีพูดคุยกันเสมือนกับเป็นการเปิดใจ สร้างการไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้กระจ่างชัดในเจตนาของทุกฝ่าย สร้างความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ระแวง จึงทำให้ได้แนวทางนำไปสู่ความสำเร็จและความสงบสุข นอกจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเองแล้ว หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีส่วนสำคัญที่จะคอยเป็นพี่เลี้ยง กระตุ้น หนุนเสริม ผลักดัน ให้การทำงานนั้นสำเร็จผล จะเห็นได้ชัดเจนจากงานโครงการวิจัยนี้ที่อยู่ได้รับคำปรึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภายใต้มูลนิธิประชาสังคม จ.อุบลราชธานีที่เป็นภาคีเครือข่ายการทำงานวิชาการในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่การทำงานแบบแยกส่วนระหว่างนักวิชาการและชาวบ้านอีกต่อไป กลไกสำคัญที่คอยเชื่อมประสานทั้งสองส่วนให้ขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างสมดุล คือ node เป็นเสมือนสะพานเชื่อม ให้เกิดระบบพี่เลี้ยงทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

จะเห็นได้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้อยู่แต่บนหิ้ง หรือเป็นงานวิจัยที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา แต่งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยสร้างความงอกงามให้กับชีวิตของคนในชุมชน สร้างพลังชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนผสานเครือข่ายนักวิชาการในพื้นที่ได้อย่างแน่นแฟ้นมาจนถึงทุกวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image