อาศรม มิวสิก เส้นทางเพลงสรรเสริญพระบารมี โดย:สุกรี เจริญสุข

หอสมุดแห่งชาติรัสเซีย (National Library of Russia)
หนังสือรวมโน้ตเพลงประจำชาติ ของปโยตร์ สชูโรฟสกี

 

จากหนังสือ 99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2530 เป็นต้นมา ก็ได้พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อสงสัยว่า ปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย ส่งบทเพลงมาถึงเมืองสยามได้อย่างไร ทำไมมีชื่อบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเพลง มีทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีหลายสำนวน และยังมีชื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกหลากหลายชื่อ อาทิ เพลงสรรเสริญพระนารายณ์ เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย เพลงสรรเสริญพระจันทร์ เพลงสรรเสริญเสือป่า เป็นต้น

ระยะเวลา 30 ปี ที่ต้องค้นหาข้อมูลอย่างเงียบๆ เจอใครที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ดนตรีรัสเซีย ดนตรีในฝรั่งเศส หรือดนตรีในยุโรป ก็มักจะสอบถามหาความรู้เพิ่มเติม ปัญหาก็คือ อ่านและพูดภาษารัสเซียไม่ได้ เมื่อปี พ.ศ.2544 มีอาจารย์วาไลรี ริชาเยฟ (Valeriy Rizayev) มาจากประเทศอุซเบกิสถาน เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่อยู่ในสหภาพโซเวียตเก่า อ่านพูดเขียนภาษารัสเซียได้ จึงได้มอบหมายให้งานพิเศษเพิ่ม เพื่อที่จะช่วยค้นเรื่องราวของปโยตร์ สชูโรฟสกี จากข้อมูลที่เป็นภาษารัสเซีย โดยที่ อ.วาไลรี ริชาเยฟ ได้ทำการบ้านค้นหาหนังสือ (On Line) เรื่องที่เกี่ยวกับปโยตร์ สชูโรฟสกี จากห้องสมุดในกรุงปารีส ในเยอรมนี และในกรุงมอสโก เมื่อได้ข้อมูลเพิ่มก็จะมอบเอกสารให้

อ.วาไลรี ริชาเยฟ ได้ค้นพบหนังสือของปโยตร์ สชูโรฟสกี ที่รวบรวมโน้ตเพลงชาติต่างๆ รวม 88 ชาติ (ในสมัยนั้น) ซึ่งยังเป็นชาติที่มีเอกราชและมีอิสรภาพ โดยมีเพลงประจำชาติเป็นของตนเอง ที่แสดงถึงสิทธิและเสรีภาพ ไม่ขึ้นแก่ประเทศใด ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจใด อ.วาไลรี ริชาเยฟ จึงได้ทำสำเนาหนังสือเล่มนั้นให้ พร้อมกับแจกจ่ายไปยังนักวิชาการอื่นๆ ให้ช่วยกันค้นคว้าเพิ่มเติม

Advertisement

ต่อมา อ.วาไลรี ริชาเยฟ ได้เป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาดนตรีให้ลูกสาวนักการทูตรัสเซีย ซึ่งท่านมีภรรยาเป็นคนลาว เพราะว่าลูกสาวเธอเตรียมตัวจะไปเรียนร้องเพลงที่สถาบันดนตรีกรุงมอสโก ดังนั้น ความประสงค์ที่จะค้นหาเรื่องของปโยตร์ สชูโรฟสกี ก็มีอนาคตมากขึ้น เมื่อนักการทูตรัสเซียรับปากจะเป็นธุระให้ การค้นพบหนังสือของปโยตร์ สชูโรฟสกี การค้นหาหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตและเรื่องราวของเขา ก็ทำให้ตาสว่างมากขึ้น มีหนังสือที่เกี่ยวกับปโยตร์ สชูโรฟสกี อีกหลายเล่ม มองเห็นเส้นทางที่จะได้พิสูจน์ว่า บทเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เป็นฉบับปัจจุบันนั้น เป็นมาอย่างไร มีเส้นทางไหนที่มีหลักฐานมากที่สุด

ปีนี้ (พ.ศ.2560) เป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย 120 ปี ผมจึงได้รับเชิญจากท่านทูตเพื่อวางแผนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ท่านทูตเล่าว่า ตอนนี้ไทย-รัสเซียไม่ต้องทำวีซ่าเข้าประเทศ คนไทยไปได้เลย ฝ่ายรัสเซียก็มาเที่ยวเมืองไทยปีละกว่า 2 ล้านคน เมื่อมีโอกาสก็ได้เรียนท่านทูตไปว่า น่าจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะทางดนตรีและวัฒนธรรม

จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน 2 เรื่องด้วยกัน คือ (1) ต้องการความช่วยเหลือค้นคว้าเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเรื่องราวของปโยตร์ สชูโรฟสกี ที่ห้องสมุดกรุงมอสโก และ (2) ขอให้ท่านทูตส่งวงซิมโฟนีชั้นนำของรัสเซีย (State Tchaikovsky Symphony) มาแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่และความมีวัฒนธรรม (ดนตรี) ของรัสเซีย เพราะอย่างวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) แม้ว่าวงดนตรีจะเล่นบทเพลงของนักประพันธ์ของรัสเซียก็จริง แต่เป็นการตีความดนตรีแบบมือสอง จากเยอรมันบ้าง อเมริกันบ้าง อิตาเลียนบ้าง ญี่ปุ่นและจีนบ้าง แต่ยังไม่เคยได้ฟังวงดนตรีชั้นนำของรัสเซียตีความบทเพลงของรัสเซียเลย

Advertisement

นอกจากวงสนทนาวันนั้นจะเงียบไปแล้ว ข่าวสารก็เงียบไปอีก 2-3 เดือน เมื่อได้เรื่องราวชัดเจนท่านทูตก็ประสานเชิญให้คณะไปกรุงมอสโก เพื่อค้นหาหลักฐานของปโยตร์ สชูโรฟสกี และได้โอกาสเชิญวงดนตรีที่สำคัญตามที่เสนอไว้ทุกอย่าง เพื่อจะมาแสดงในประเทศไทย ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร

ระหว่างวันที่ 2-9 กรกฎาคม 2560 จึงได้เดินทางพร้อมคณะไปกรุงมอสโกเพื่อค้นหาหลักฐานบทเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยเฉพาะชีวิตและงานของปโยตร์ สชูโรฟสกี ซึ่งมีทั้งที่เกี่ยวกับการศึกษาดนตรีที่สถาบันดนตรีกรุงมอสโก (Moscow State Conservatory) ประวัติการเป็นนักศึกษา การประพันธ์เพลงร้อง การแปลเอกสารการสอนวิชาการควบคุมวงดนตรีจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษารัสเซีย เป็นต้น การไปเยี่ยมบ้านเกิดของปโยตร์ สชูโรฟสกี ที่เมืองเคิสก์ (Kursk) พบหลักฐานโฉนดที่ดิน สัญญาการเช่าบ้าน ทำให้เห็นถึงการเก็บหลักฐานของเขา ซึ่งทำได้อย่างดีมาก และสามารถที่จะค้นหาข้อมูลได้สมบูรณ์

สำหรับหนังสือรวมเพลงประจำชาติต่างๆ ของปโยตร์ สชูโรฟสกี เก็บเอาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ฝ่ายโน้ตเพลง (National Library of Russia) โดยต้นฉบับยังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ และคนทั่วไปสามารถที่จะค้นหาจากอินเตอร์เน็ตได้ พบว่าบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นโดยนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียก็จะเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งนี้ทั้งหมด เห็นแล้วก็รู้สึกอิจฉาการเก็บหลักฐานของเขามาก

จากหลักฐานของปโยตร์ สชูโรฟสกี โดยนักค้นคว้าประวัตินักดนตรีที่เมืองเคิสก์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ (3 คน) พบว่า ปโยตร์ สชูโรฟสกี ต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนดนตรีที่สถาบันดนตรีกรุงมอสโก (Moscow State Conservatory) ต้องการจะรวบรวมเพลงประจำชาติต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสอน ก็ได้ส่งจดหมายไปยังสถานทูตของประเทศต่างๆ ที่เป็นประเทศเอกราช รวมทั้งประเทศสยามด้วย โดยส่งจดหมายไปที่สถานทูตสยามที่กรุงปารีส แต่ได้คำตอบว่า “สยามยังไม่มีเพลงประจำชาติ ซึ่งกำลังประกาศประกวดแต่งเพลงประจำชาติอยู่”

ปโยตร์ สชูโรฟสกี จึงได้ส่งเพลงเข้าประกวดไปที่สถานทูตสยามที่กรุงปารีส ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ถูกส่งทางเรือไปที่เมืองยะโฮร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่ โน้ตที่ส่งไปเป็นโน้ตเพลงสำหรับเล่นด้วยเปียโน ขณะนั้นหาคนเล่นเปียโนยาก มีพ่อค้า (เล่นเปียโนเป็น) ชาวฮอลันดา ชื่อฮูวิตเซ็น หรือเฮวุตเซ็น บางเอกสารเรียกยูเซ็น (Huvitzen) ซึ่งทำหน้าที่นำวงดนตรีในเมืองปัตตาเวีย เล่นเปียโนเพลงสรรเสริญพระบารมีให้เจ้านายฝ่ายสยามได้ฟัง

นายเฮวุตเซ็น (Huvitzen) ได้เดินทางเข้ามาในสยามเพื่อเล่นเปียโนให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใส่เนื้อร้องฉบับแรก แสดงที่หน้าศาลายุทธนาธิการ วันที่ 24 กันยายน 2431 (บางหลักฐานระบุว่าเป็นวันที่ 20 หรือ 21 กันยายน 2431)

ยังมีเอกสารหลักฐานเพลงสรรเสริญพระบารมีตีพิมพ์ในหนังสือ National Anthems of the World ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2503 ที่โรงพิมพ์เบลนด์ฟอร์ด (Blandford) ที่กรุงลอนดอน บอกว่าเฮวุตเซ็น (Huvitzen) เป็นคนแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงทำให้เกิดความสับสนในหลักฐาน ดังนั้น การพบหลักฐานหนังสือของปโยตร์ สชูโรฟสกี (พ.ศ.2431) พร้อมเอกสารระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานกล่องยานัตถุ์ ทำด้วยเงิน สลักพระปรมาภิไธย มอบให้แก่ผู้ประพันธ์เพลง (อ้างอเล็กซานเดอร์ การ์ชาวา และกอเซตโกฟ) ซึ่งแปลโดยเสฐียร พันธรังษี

วันนี้งานที่ยังเหลืออยู่ ก็ต้องตามหากล่องยานัตถุ์ ทำด้วยเงิน สลักพระปรมาภิไธย ยี่ห้อฟาแบร์เย่ (Faberg?) ทำโดยช่างชาวรัสเซีย จากคำบอกเล่าของนักเขียนชาวเมืองเคิสก์ว่า ภรรยาปโยตร์ สชูโรฟสกี ได้ยกให้กับลูกศิษย์ของปโยตร์ สชูโรฟสกี เพื่อไปเขียนประวัติ ซึ่งอยู่ที่ประเทศยูเครน แต่ได้เสียชีวิตเสียก่อน เชื่อว่าเอกสารหลักฐานน่าจะอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติยูเครน

นักเขียนผู้นั้นแนะนำว่า ตอนนี้รัสเซียกับยูเครนไม่ค่อยจะดีต่อกันนัก จึงไปค้นคว้าต่ออีกไม่ได้ แต่ฝ่ายไทยนั้นซื้อยุทโธปกรณ์จากยูเครนอยู่ ก็น่าจะไปค้นคว้าได้ง่ายกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image