ตัดสินจากหน้าตา พิพากษาจากรูปลักษณ์ วัฒนธรรมการ ‘เหยียด’ ในสังคมไทย ตลกที่ไม่ขำ ความเหลื่อมล้ำที่ต้องทบทวน

กลับมาเป็นประเด็นในโลกออนไลน์กันอีกระลอก เมื่อเกิดการกระหน่ำแชร์เรื่องราวของครูสาวชาวอเมริกันที่เคยเดินทางมาสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งอาจไม่มีอะไรแปลกใหม่หากไม่ได้เล่าถึงความอัดอั้นตันใจเมื่อโดนคนไทย “เหยียดสีผิว” นั่นเพราะเธอเป็นอเมริกันผิวสี ไม่ได้มีรูปลักษณ์ขาวผ่อง ตาฟ้า ผมสีอ่อนดังเช่นจินตนาการที่มีต่อ “ครูฝรั่ง” โดยทั่วไป เป็นเหตุให้ประสบความชอกช้ำจากโรงเรียนถึง 5 แห่ง ทั้งโดนล้อเรื่องรูปร่างหน้าตาสีผิว จากครูใหญ่ ครูน้อย รวมถึงเด็กนักเรียนรุมหัวเราะเยาะ กระทั่งดึงผม โดนดูแคลนความสามารถทั้งที่จบปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์ แถมกำลังเร่งเครื่องทำดอกเตอร์อยู่อีกต่างหากเรื่องราวนี้ ครูคริส พรรณนาไว้อย่างละเอียดลออในบทความ Teaching in Thailand…While Black ซึ่งถูกแชร์ต่อในระดับนานาชาติ ตามด้วยความคิดเห็นมากมายท้ายบทความจากผู้คนทั่วโลกที่ได้อ่านเรื่องราวอันน่าเศร้านี้ ก่อนจะถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยเว็บไซต์และเพจดัง นำมาซึ่งคำถามบางอย่าง โดยเฉพาะคนไทยส่วนหนึ่งที่แม้จะเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็มีท่าทีประหลาดใจว่าเรามีวัฒนธรรมการเหยียดสีผิวตั้งแต่เมื่อไหร่

ตามด้วยกระแสการย้อนแชร์คลิปเก่าเมื่อหลายเดือนก่อนของคนไทย เชื้อสายอินเดียที่กล่าวถึงสิ่งที่ตนมักถูกถามซ้ำๆ ด้วยหน้าตาที่เป็น “แขก” อย่างเด่นชัด

ไหนจะกรณีนักแต่งเพลงชื่อดัง ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค โพสต์ภาพเอาฮา จอดรถในที่จอดคนพิการ พร้อมปล่อยมุขตลกที่คนพิการตัวจริงไม่ขำ

ยังไม่ต้องนับโฆษณาผลิตภัณฑ์ “อยากขาว” ที่ยังมีอยู่มหาศาล แม้เทรนด์นางงามไทยจะเปิดใจรับความหลากหลายของสีผิวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Advertisement

เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยในศตวรรษนี้ ?

เสียงหัวเราะที่ได้มาจาก
การลดค่าความเป็นคน

ประเด็นอันเป็นที่ฮือฮานี้ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายว่าแท้จริงแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวัฒนธรรมไทย เพราะย้อนกลับไปในอดีต คนไทยก็มองคนที่มีผิวคล้ำ รูปร่างเตี้ยเป็น “ตัวตลก” ดังหลักฐานในวรรณคดีอย่าง “สังข์ทอง” หรือเงาะป่า ซึ่งยังถูกผลิตซ้ำในละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ตัดฉากมาที่ความบันเทิงในยุคร่วมสมัยผ่านรายการโทรทัศน์ ก็มีการล้อเลียนรูปลักษณ์คนอื่นเพื่อสร้างความตลกขบขัน แม้แต่รายการดังอย่าง The Mask Singer

Advertisement

“ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าตั๊กกับหอยทนให้นักร้องผู้ทรงเกียรติมากความสามารถคนแล้วคนเล่าล้อเรื่องตัวดำ และเรื่องตัวเตี้ยได้อย่างไร ใช่มันอาจเป็นการแสดง และทำให้ผู้ชมตลก เขาอาจโดนล้อมานานจนเคยชิน และยอมรับมันเพื่อแลกเสียงหัวเราะซึ่งก็คือเรตติ้งที่แลกมาด้วยลดทอนค่าของความเป็นคน

สมมุติว่ารายการและทั้งสองคนยอมรับแลกกับความตลกอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ายังเชื่อในทฤษฎีเดิมๆ ว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดของคน รายการก็กำลังทำให้การล้อเลียนเรื่องตัวดำและตัวเตี้ยกลายเป็นมาตรฐานทางสังคมว่าถ้าล้อเลียนจะทำให้คนดูมีความสุข”

สำหรับการเหยียดสีผิว (racial discrimination) ในโลกตะวันตก มีพื้นฐานมาจากยุคล่าอาณานิคมเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ ในช่วงเวลานั้น มีความเชื่อว่าคนท้องถิ่น หรือคนผิวดำเป็นพวกที่ยังไม่พัฒนา ในขณะที่ “คนขาว” คือผู้เจริญแล้ว ผู้มีสติปัญญาความเฉลียวฉลาด นี่คือสิ่งที่ทำให้คนดำกลายเป็นตัวตลกในสายตาคนขาว

“แน่นอนว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศอย่างเช่นอเมริกาหรืออังกฤษก็ประสบปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิว เพราะในสมัยก่อนตั้งแต่อาณานิคมเป็นอย่างน้อยเชื่อว่าคนดำคือพวกที่ไม่พัฒนา นิสัยเหมือนเด็กตลอดเวลา รูปร่างไม่พัฒนา บ้างตัวเล็ก เตี้ย ดำ ทำให้กลายเป็นตัวตลก อันนี้ว่ากันโดยทฤษฎี

“แต่นี่เราอยู่ในศตวรรษไหนแล้ว นี่คือศตวรรษที่ควรต้องรู้ว่าการล้อเลียนเรื่องความดำความเตี้ย หรือการวิจารณ์ที่กายภาพของคนเป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการยอมรับ เพราะสะท้อนถึงการไม่ได้รับการขัดเกลา ถ้ายังปล่อยให้ค่านิยมแบบนี้ดำเนินต่อไป ไม่ดีแน่ คือเรากำลังกลายเป็นสังคมที่ปล่อยให้เรื่องไม่ดีไม่ถูกต้องกลายเป็นเรื่องสามัญ ซึ่งลดทอนค่าความเป็นคน” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย

ตลกสังขาร
ความพิการที่ไม่ใช่เรื่องบันเทิง

นอกจากการล้อเลียนคนอื่นเรื่องรูปร่างและสีผิว วงการบันเทิงไทย ยังมีตัวตลกที่มักเรียกกันว่า “ตลกสังขาร” คือคนพิการรูปแบบต่างๆ ที่ถูกนำมาล้อเลียนให้เป็นเรื่องตลก ไม่ว่าจะเป็นหูหนวก ติดอ่าง ไปถึงท่าทางการเดินที่ไม่ปกติ ตลกบางรายพิการจริง และเต็มใจแลกเสียงหัวเราะเพื่อรายได้จุนเจือปากท้อง แม้จะต้องหน้าชากับการถูกล้อเลียน ในขณะที่บางรายคือคนปกติที่รับบทคนพิการ

ล่าสุด เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็เกิดประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับคนพิการที่ถูกนำมาเป็นเรื่องขบขัน เมื่อนักแต่งเพลงชื่อดัง ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค โพสต์ภาพที่ตนเข้าไปจอดรถในที่จอดสำหรับคนพิการ พร้อมด้วยข้อความบางอย่างที่เป็นไปในแนว “ขำๆ” ตามด้วย

คอมเมนต์จากเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ทำให้คนพิการตัวจริง “ไม่ขำ” นำมาซึ่งจดหมายเปิดผนึกจากผู้พิการท่านหนึ่ง ลงวันที่ 6 ก.ค. ใช้ชื่อว่า “จดหมายเปิดผนึกถึงคุณหลวงนิติพงษ์ เรื่องที่จอดรถคนพิการ มันไม่ขำอย่างที่คุณหลวงเข้าใจ”

เนื้อหาภายในเป็นคำอธิบายอย่างละเอียดถึงปัญหาที่จอดรถคนพิการ และสิทธิคนพิการ ซึ่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ไม่ใช่จากกฎหมาย เพราะมีบัญญัติไว้อย่างดีแล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือ การไม่ปฏิบัติตาม พูดง่ายๆ คือ กฎหมายก็มีไป แต่คนไทยไม่ทำตาม ปัญหาร้อยละ 80 คือคนปกติ ไปแย่งที่จอดรถคนพิการ จดหมายดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงจิตสาธารณะที่มนุษย์พึงมี เพื่อความเจริญของบ้านเมือง

เพราะ ‘แขก’ คือ ‘คนอื่น’
ความขมขื่นจากวาทกรรมความเป็นไทย?

ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรูปลักษณ์อันชักนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการเรียนรู้ซึ่งการมีอยู่ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยว่าช่างอ่อนด้อย หรือเราไม่เคยยอมรับกันแน่?

เพจ Kaek kee kui แขกขี้คุย ซึ่งเผยแพร่คลิปของตนซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย มีคนชมแล้วเฉียดแสนราย โดยระบายความในใจพร้อมปล่อยมุขฮาเป็นระยะ ทว่า เมื่อมองลึกลงไปนี่ไม่ใช่เรื่องตลก

ข้อความในคลิปเล่าถึง “คำถาม” ที่ตนถูกถามเป็นประจำ เช่น พูดภาษาไทยได้ด้วยหรือ? ทำไมพูดชัดจัง พอตอบว่า เป็นคนไทย ก็ถูกถามว่าเป็นลูกครึ่งแขกเหรอ จึงตอบว่าเป็นคนอินเดีย แต่เกิดที่เมืองไทย ก็ยังโดนถามต่ออีกว่าคิดถึงบ้านไหมเนี่ย เธอบอกขำๆ ว่า “เอ่อ บ้านหนูอยู่อโศกเองค่ะ เพิ่งออกมาเมื่อเช้า ไม่ค่อยคิดคิดถึงนะคะ”

ยังมีคำถามประเภทที่ว่า “แล้วอย่างนี้พ่อแม่ทำงานที่ไหน พาหุรัดหรือเปล่า?” หรือ “อยู่ที่บ้านพูดภาษาอะไร ภาษาแขกใช่ไหม?”

คำถามเหล่านี้ เหมือนคำถามทั่วไป แต่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจความหลากหลายของผู้คนต่างชาติหลากภาษาในสังคมไทย

ซึ่งเจ้าตัวตบท้ายด้วยคำถามสำคัญว่า “คนถามก็ไม่ใช่คนไทย แต่เป็น ?เจ๊ก? ปู่ย่าตายายมาจากเมืองจีน จะสงสัยอะไรนักหนา?”

ประเด็นนี้ นอกจากต้องย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยกลับไปแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือเก่ากว่านั้น ว่าดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท อย่างคนไทยและคนลาว แต่ยังมี เขมร ญวน จีน มลายู ส่วย กูย มอญ พม่า ทวาย ข่า ละว้า พม่า ฝรั่งดั้งขอ และอื่นๆ อีกมากมายนับแทบไม่ถ้วน ปรากฏหลักฐานทั้งในเอกสารโบราณ งานศิลปะอย่างจิตรกรรมฝาผนัง วรรณคดี และสิ่งที่ถูกนำมาอ้างอิงบ่อยครั้งคือ “โคลงภาพคนต่างภาษา” ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประกอบด้วยโคลงอธิบายรูปร่างหน้าตาและวัฒนธรรมของ “คนแปลกหน้า” ในสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์ พร้อมภาพวาดประกอบอย่างงดงาม

ส่วนคำว่า “แขก” นั้น กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) ให้ความหมายของแขกไว้ว่า คนแปลกหน้าที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา ซึ่งคงถือเอารูปร่างหน้าตาและศาสนาที่ต่างกัน

ส่วน ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี อธิบายว่า แขก มีความหมายที่กว้างกว่า “มุสลิม” แขกในความรับรู้ของคนไทยมีหลายกลุ่ม ซึ่งมีบทบาทต่อสังคมตั้งแต่ยุคกรุงเก่า สืบถึงยุคกรุงธนบุรี และต่อเนื่องมายังกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไทยในระดับพื้นฐาน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้คน แต่เน้นเรื่องราวของสงคราม และชนชั้นสูง ละเลยคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีส่วนในการสร้างเมือง กระทั่งเป็นประเทศในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น วาทกรรมความเป็นไทย ยังแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ “คนอื่น” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคนหลากหลายชาติพันธุ์คือส่วนหนึ่งของความเป็นไทยในวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การเหยียดหยามเพื่อนบ้าน หรือที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมใช้คำว่า “ยกตนข่มท่าน” ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าความเป็นไทย ไม่เหมือนใครในโลก ราวกับคนไทยคือมนุษย์ต่างดาว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นจากการเหยียดหยาม ไม่ว่าในด้านใด ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่คนไทยจะมองคนอื่น เพื่อเห็นตัวเอง รับรู้ในความหลากหลาย ยอมรับในความแตกต่างซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความเป็นมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image