คอลัมน์ ประสานักดูนก : นักเดินทางไกล

ลูกนกหัวโตขาดำ

เข้าพรรษา เข้าสู่ฤดูฝน นกก็เหมือนพระ จะอาศัยอยู่กับที่ มีหน้าที่เลี้ยงลูกทั้งนกประจำถิ่นในบ้านเรา และนกอพยพที่กำลังทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้นในเขตอบอุ่นทางเหนือ อีกเดือนเดียว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป นกอพยพจะทยอยย้ายถิ่นลงใต้ วงจรชีวิตที่นกอพยพปฏิบัติมายาวนานนับแสนปี ก่อนที่สังคมมนุษย์ยุคใหม่จะวิวัฒนาการขึ้นมาด้วยซ้ำ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม จะมีนกอพยพชนิดแรกที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทยคือ นกเด้าลมหลังเทา นับเป็นแชมป์เดินทางเร็วมาตลอด ยังหาชนิดอื่นล้มแชมป์ไม่ได้ นกระลอกแรกนี้เป็นนกที่ไม่ได้จับคู่ผสมพันธุ์ คือ ไม่มีภาระต้องพะวง จึงเดินทางลงมาก่อนใครเพื่อน ส่วนนกกลุ่มอื่นๆ จะทยอยตามกันลงมา นกชายเลนเป็นนกที่เดินทางเร็วเช่นกัน แต่ยังแพ้นกเด้าลม และแปลกกว่านกอพยพอื่นๆ ที่นกวัยเด็กจะเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตร มาก่อนพ่อและแม่นกด้วยซ้ำ นกทำได้ด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ ไม่มีการเรียนรู้ หรือสั่งสอนจากพ่อแม่ เรียกว่าพอปีกกล้าขาแข็งก็โผขึ้นฟ้า เสี่ยงภัยมากันเลย ลูกนกพวกนี้พอฟักออกจากไข่ก็มีขนขึ้นเต็มตัว เดินได้ วิ่งได้ หาอาหารกินได้เองแม้จะมีพ่อแม่นกคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ในช่วงแรก ซึ่งเหมือนลูกเป็ดห่าน

ถ้ามีภัย เช่น มนุษย์เข้าใกล้รังที่มีไข่หรือลูกนก พ่อแม่นกจะแกล้งทำเป็นปีกหัก หลอกล่อให้มนุษย์ติดตามไปไกลจากลูกนกที่นอนหมอบ ทำตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้วก็วิ่งหลุยๆ หนีไปได้อย่างปลอดภัย พฤติกรรมนี้พบได้ในนกหัวโตสกุล Plover หลายชนิด รวมทั้ง นกกระแตแต้แว้ด ที่เป็นนกหัวโตขนาดใหญ่ ทำรังวางไข่ในประเทศไทย แม้ว่าในฤดูหนาว นกหัวโตอพยพจะอาศัยอยู่บนหาดเลนชายทะเลเป็นหลัก แต่ในฤดูผสมพันธุ์ ถิ่นอาศัยทำรังของพวกมันกลับเป็นแหล่งน้ำจืด เช่น ทะเลสาบ หนองน้ำกลางทุ่งหญ้าในประเทศจีน มองโกเลีย เกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อต้องบินอพยพ อาจจะบินข้ามแผ่นดิน โดยไม่ต้องแวะบินลัดเลาะตามชายทะเลเหมือนเหยี่ยวอพยพ หรือนกชายเลนอีกหลายชนิด ดังนั้นในช่วงอพยพผ่าน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม อาจจะพบนกหัวโตแวะพักตามริมแม่น้ำ หรือริมหาดเหนือเขื่อนในภาคเหนือ ตะวันตก อีสานและภาคกลาง ห่างไกลจากชายทะเลได้

ลูกนกหัวโตจะใช้เวลา 1-2 เดือน หาอาหารซึ่งเป็นแมลง สัตว์น้ำขนาดเล็กบนผิวน้ำเพื่อสร้างขนสำหรับบินของปีกและหาง และสะสมพลังงานในรูปไขมันที่แปลงมาจากอาหารขนาดเล็กๆ ที่นกใช้จะงอยปากน้อยนิดจิกกินนับร้อยครั้งแต่ละวัน ซึ่งนกแต่ละตัวเมื่อพร้อมบินอพยพ อาจจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% ด้วยไขมันล้วนๆ ฟังดูเหมือนว่านกตัวหนักขึ้นแต่ทำไมบินได้ไกล เพราะสรีระร่างกายของนกช่วยผ่อนน้ำหนักลงมาก เมื่อเทียบกับสัตว์บก เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ กระดูกกะโหลก และระยางค์พรุนด้วยโพรงคล้ายฟองน้ำ กระดูกแต่ละชิ้นเชื่อมกันเพื่อลดข้อต่อของกระดูก มีถุงลม 4 คู่ ในช่องอกและช่องท้อง กอปรกับขนปีกยาว ที่มีปลายแหลม ลดแรงรั้งขณะบิน ทำให้นกชายเลนเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกและบินเร็วและไกลได้ยากตราบเท่าที่เสบียงในร่างกายยังมีอยู่ หากไม่พอ ติดขัดระหว่างทางก็แวะพักตามแหล่งอาศัยที่มีอาหาร สะสมเสบียงต่ออีก 2-3 วัน ค่อยเดินทางต่อ ไม่เกิน 2 เดือน นกชายเลนกลุ่มแรกๆ ก็ผ่านอุปสรรคของระยะทางมาถึงบ้านเรา เข้าสู่เทศกาลดูนกอพยพ

โดยเฉพาะนกชายเลนตามแนวชายทะเล ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

Advertisement

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.birdsofthailand.org/bird/kentish-plover

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image