นโยบายต่างประเทศอเมริกามาก่อน (America first policy)โดย:โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นโยบายต่างประเทศ “อเมริกามาก่อน (America first policy)” เริ่มใช้ในการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วโดยเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเขาได้เป็นตัวแทนของพรรค
รีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการภายหลังเขาได้ชัยชนะในการเลือกตั้งไพรมารีของพรรครีพับลิกันโดยประกาศว่าสหรัฐอเมริกาภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นได้อ่อนแอลงเนื่องจากสหรัฐอเมริกาถูกเอาเปรียบจากพันธมิตรและมิตรประเทศเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะด้านความมั่นคงจากการถูกคุกคามจากอริราชศัตรูจากภายนอก ซึ่งอเมริกาต้องออกค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเตรียมพร้อมเพื่อปกป้องพันธมิตรและมิตรประเทศ อันได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และประเทศต่างๆ นับสิบๆ ประเทศในองค์การนาโต ในขณะที่พันธมิตรและมิตรประเทศเหล่านั้นออกค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันประเทศน้อยนิดแบบเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบสหรัฐอเมริกาอย่างชัดๆ

แต่นโยบายของอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องให้พันธมิตรและมิตรประเทศทั้งหลายเหล่านี้จ่ายเงินเพิ่มอย่างยุติธรรม (คือมากขึ้น) เพื่อลดค่าใช้จ่ายของสหรัฐอเมริกาลงนั่นเอง

Advertisement

โดนัลด์ ทรัมป์ ยังหาเสียงเรื่องเศรษฐกิจโดยเน้นถึงเรื่องสหรัฐอเมริกาถูกเอาเปรียบจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และบรรดาประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา (คือขายของให้สหรัฐอเมริกาได้มากกว่าซื้อของจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประเทศไทยอยู่ด้วยเหมือนกัน) โดยกล่าวหาประเทศเหล่านี้ว่าทุ่มตลาดขายตัดราคายอมขาดทุนเพื่อที่จะทำให้บริษัทของอเมริกันสู้ไม่ได้ โดยยกตัวอย่างจีนที่ทุ่มตลาดเหล็กกล้าในสหรัฐ จึงต้องมีการเจรจากันใหม่และเอาจริงเอาจังในเรื่องกติกาการค้าระหว่างประเทศกันใหม่อย่างเข้มงวดขึ้น

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังหาเสียงด้วยการข่มขู่บรรดาบรรษัทข้ามชาติของอเมริกาว่าจะใช้มาตรการภาษีเหล่าบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาที่มักไปสร้างโรงงานอยู่นอกประเทศโดยเฉพาะที่เม็กซิโกเพื่อผลิตสินค้า เนื่องจากค่าแรงของต่างชาติถูกกว่าค่าแรงของคนงานอเมริกันเป็นอย่างมาก

ซึ่งก็ได้ผลอย่างน้อยกรณีหนึ่งที่บรรษัทผลิตรถยนต์ฟอร์ดยอมยกเลิกการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกและย้ายโรงงานกลับมายังสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ยกตัวอย่างที่โด่งดังมากที่ทำให้ทรัมป์เป็นที่รู้จักระหว่างการหาเสียงระดับไพรมารี (ไพรมารีคือการหาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อที่จะให้พรรคส่งตนเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี) คือเรื่องที่กล่าวหาว่าประเทศเม็กซิโกรู้เห็นเป็นใจส่งคนร้ายๆ เช่นพวกค้ายาเสพติด พวกข่มขืนผู้หญิง พวกเกียจคร้าน พวกขี้เหล้า ฯลฯ ข้ามพรมแดนเข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากทุกปี

ดังนั้นทรัมป์จึงเสนอที่จะสร้างกำแพงสูงกั้นตลอดแนวพรมแดนสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก และเนื่องจากประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผิดดังนั้นเม็กซิโกต้องรับผิดชอบออกเงินค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงนี้ด้วย

ว่ากันว่านโยบาย “อเมริกามาก่อน (America first policy)” นั้นมาจากหนังสือที่โดนัลด์ ทรัมป์ เขียนร่วมกับนายโทนี ชวาร์ตส์ เมื่อ พ.ศ.2530 เรื่อง “The Art of the Deal – ศิลปะของข้อตกลงแลกประโยชน์” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าถึงประวัติของนายโดนัลด์ ทรัมป์เอง และการสร้างตัวทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งสูตรความสำเร็จในการธุรกิจ 11 ขั้นของทรัมป์ ซึ่งหนังสือเรื่อง The Art of the Deal จัดเป็นหนังสือที่ขายดีมากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และได้ถูกแปลเป็นหนังสือภาษาไทยแล้วชื่อ เส้นทางชีวิตสู่ธุรกิจพันล้าน

สรุปนโยบาย “อเมริกามาก่อน (America first policy)” ของทรัมป์ คือการคิดเชิงธุรกิจมุ่งเน้นเรื่องกำไร-ขาดทุนเป็นหลัก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือนโยบายต่างประเทศเริ่มแรกของทรัมป์ที่ชัดแจ้งคือการเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกซึ่งเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพื่อลงนามในสัญญาขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับซาอุดีอาระเบียมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จพิธีลงนามว่า

“นี่เป็นวันที่ดีมาก เงินลงทุนหลายแสนล้านดอลลาร์จะไหลเข้าสู่อเมริกา รวมทั้งงาน งาน และงาน ดังนั้ผมจึงขอขอบคุณชาวซาอุดีอาระเบียทุกคน”

เพื่อเป็นการเอาใจและเอาหน้ากับรัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบีย ประธานาธิบดีทรัมป์ยังสนับสนุนให้ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรตัดสัมพันธ์ทางการทูตและปิดพรมแดนทั้งหมดกับกาตาร์ซึ่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) กับซาอุดีอาระเบียด้วยกันแท้ๆ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปีนี้ ทั้งๆ ที่กาตาร์เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาถึงขนาดให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลางมีทหารอเมริกันประจำอยู่ในกาตาร์ถึง 11,000 คน

และมีเครื่องบินพร้อมรบของกองทัพสหรัฐประจำ อยู่กว่า 100 ลำ

ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2560 เพียงกว่า 10 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์สนับสนุนการตัดความสัมพันธ์กันระหว่างพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาทั้งสองฝ่ายแล้ว สหรัฐอเมริกาก็จัดการขายเครื่องบินรบเอฟ-15 ให้กับรัฐบาลกาตาร์ มีมูลค่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ชัดนะครับนโยบาย “อเมริกามาก่อน (America first policy)” ของประธานาธิบดีทรัมป์ คือการคิดเชิงธุรกิจมุ่งเน้นเรื่องกำไร-ขาดทุนโดยคิดตัวเงินเป็นหลัก ซึ่งผิดหลักการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของนโยบายต่างประเทศโดยทั่วไปที่เน้นความมั่นคง ความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับรองลงมา

แต่ก็สนุกนะครับต้องคอยดูกันไปว่านโยบายอเมริกันมาก่อนที่แปลกประหลาดจะไปได้สักกี่น้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image