ไทยพาณิชย์ปรับจีดีพีโต3.4% ส่งออกหนุนแต่ยังห่วงบาทแข็งฉุด มองกำลังซื้ออ่อนแอเร่งรัฐกระตุ้น

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% จากปัจจัยสำคัญคือการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจนตามเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าที่ลดลง โดยคาดว่าส่งออกจะเติบโต 3.5% จากเดิม 1.5% การบริโภคเอกชนคาดเติบโตเท่าเดิมที่ 3.1% เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับรายได้กลางและน้อยยังชะลอตัว ส่วนรายได้สูงขยายตัวได้ ทั้งนี้ พบว่าการส่งออกที่ดีขึ้นยังไม่ส่งผลต่อการลงทุนเอกชนคาดขยายตัวเท่าเดิมที่ 1.4% ส่วนการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงส่งเศรษฐกิจคาดเติบโต 10.2% ส่วนการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีที่ 8.4%

นายพชรพจน์กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลังคือ กำลังซื้อ เพราะในช่วงครึ่งปีแรกกำลังซื้อภาคเกษตรได้รับอานิสงส์จากราคา แต่ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับลดลงส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร ด้านรายได้นอกภาคเกษตรทรงตัวเพราะการส่งออกยังไม่ส่งผลต่อการผลิตและการจ้างงานเพิ่ม รวมทั้งกำลังซื้อยังถูกแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง สำหรับการส่งออกที่เติบโตในครึ่งปีแรก ประเมินว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพียง 1-2% จากราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอลง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ส่งออกสินค้าประภทเดียวกัน เช่น ข้าว ยางพาราและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อาจจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เพราะค่าเงิน เช่น จีนแข็งค่าเพียง 2.5% อินโดนีเซียแข็งค่า 1.4% ส่วนเวียดนามอ่อนค่า 1.2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยที่กว่า 5.4% อย่างไรก็ตาม คาดสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐมีแผนที่จะปรับลดการถือครองสินทรัพย์ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในตลาดลงลง

“ครึ่งปีหลังยังกังวลกำลังซื้อและการบริโภคเอกชน เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจถึง 50% เพราะแนวโน้มรายได้ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ยังทั้งต้องมีภาระจ่ายหนี้สินเดิมว่า ปัจจัยที่จะมาช่วยหนุนคือนโยบายภาครัฐที่ต้องมีการเบิกจ่ายบประมาณให้กระจายไประดับจังหวัด ซึ่งการสร้างโอกาสในการจ้างงานช่วยพยุงกำลังซื้อได้” นายพชรพจน์กล่าว

นายพชรพจน์กล่าวว่า การลงทุนเอกชนที่ขยายตัวต่ำในขณะนี้ระยะยาวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลง เพราะขณะนี้การลงทุนของเอกชนเป็นการลงทุนซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตแต่การลงทุนในลักษณะนี้ไม่ถูกนับในจีดีพีเหมือนการลงทุนเครื่องจักรหรือก่อสร้างโรงงาน โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนซื้อกิจการเพิ่มสัดส่วนจาก 10% เป็น 42% หรือมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท เป็น 5.4 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หวังว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หากสามารถดึงดุดการลงทุนใหม่ให้เข้ามาลงทุนได้จริงจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image