สุจิตต์ วงษ์เทศ :ไม่ต้องมีสะพานข้ามเจ้าพระยา หน้าเกาะกรุงธนบุรี-เกาะกรุงรัตนโกสินทร์

แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ไม่ควรมีสะพาน ไม่ว่าสะพานแบบไหน?

เพราะเป็นย่านกำเนิดกรุงเทพฯ มี 2 เกาะ คือ เกาะกรุงธนบุรี กับเกาะกรุงรัตนโกสินทร์

และสองด้านมีสะพานมากพอแล้ว ได้แก่ สะพานพุทธฯ กับสะพานปิ่นเกล้า และสะพานอื่นถัดไปหลายสะพาน

จึงควรรักษาเป็นที่โล่งกว้างอย่างมีประวัติศาสตร์ และมีความทรงจำล้ำลึก ซึ่ง กทม. ควรสร้างมิวเซียมบอกเล่าความเป็นมาอยู่ริมแม่น้ำด้านใดด้านหนึ่ง แล้วมีเรือท่องเที่ยวนำชมรอบเกาะกรุงธนบุรี (ที่เกิดจากแม่น้ำสายเก่า-ใหม่ คู่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เรือแล่นรอบเกาะไม่ได้)

Advertisement

ถ้าอยากสร้างนักสะพานคนเดินกับทางจักรยาน เพื่อสนองเงินทอนกับค่าคอมฯ ก็ควรเลื่อนลงไปทางตอนใต้ตรงบริเวณย่านธุรกิจการค้ามหาศาลที่จะมี “หอชมเมืองกรุงเทพฯ” ขอแต่อย่าวุ่นวายตรง 2 เกาะนี้

ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา

ความทันสมัยที่ขาดสำนึกความเป็นสมัยใหม่อย่างสากลโลก เสมือนทันสมัย แต่ไม่พัฒนา (บางคนว่า ทันสมัย แต่ไร้สมอง)

Advertisement

“บางกอกสวนใน” (ย่านธนบุรีต่อเนื่องนนทบุรี) แหล่งปลูกผลไม้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สืบทอดมาแต่ยุคต้นอยุธยา (ก่อน พ.ศ. 2000) ถูกทำลายล้มหายไปด้วยถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จงใจไม่หลีกเลี่ยงไม่เบี่ยงเบน ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีสมัยนั้นทำได้โดยไม่ต้องยกเลิกสร้างถนนและสะพาน (เพราะไม่ได้ต่อต้านการมีสะพานและถนน แต่ขอมีในบริเวณไม่ทำลายสมบัติวัฒนธรรมของโลก)

ถ้ากรุงเทพฯ ยังมี “บางกอกสวนใน” พร้อมสะพานปิ่นเกล้าและถนนหนทางที่หลีกเลี่ยงเบี่ยงเบนการทำลายสวนผลไม้ของโลก

ไทยจะมีแหล่งเพาะพันธุ์ผลไม้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เล่าขานไม่รู้จบ

ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทาง “วัฒนธรรมชาติ” (หมายถึงวัฒนธรรมและธรรมชาติ) ประกอบด้วยเรือกสวนและคูคลองตัดกันไปมาเหมือนใยแมงมุม ที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมล้ำลึกดึกดำบรรพ์ของวัดวาอารามซ่อนอยู่ในสวนผลไม้นั้น

ทั้งหมดนี้คือมรดกที่ขายได้ขายดี มีกินมีใช้ไม่รู้หมดเป็นนิรันดร

เกาะกรุงธนบุรี

คลองบางกอกใหญ่-คลองบางกอกน้อย เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิมเริ่มแรก (ยังไม่มีชื่อเรียกในยุคแรกนั้น) และควรกว้างใหญ่กว่าที่เห็นทุกวันนี้

ต่อมา ยุคต้นอยุธยา ราวเรือน พ.ศ. 2085 ขุดคลองลัดตรงบางมะกอก บริเวณคอคอดของแม่น้ำสายเดิมให้ทะลุถึงกัน เพื่อย่นระยะเวลาเดินเรือเข้า-ออก อยุธยากับอ่าวไทย

หลังจากนั้นกระแสน้ำไหลตรงเหนือใต้ ทะลวงให้คลองลัดขยายกลายเป็นแม่น้ำใหญ่สืบจนทุกวันนี้

[บางมะกอก ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกควรเป็นชุมชนริมคลองเล็กๆ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดอรุณฯ กับท่าเตียน นานเข้าบางมะกอกกร่อนเหลือว่าบางกอก]

แม่น้ำสายเก่ากลายเป็นคลอง แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงจนบางตอนแคบตีบเหมือนหลอดเลือดของคนใกล้อุดตันด้วยไขมันเกาะตัว

มีพยานอยู่บางขุนศรี อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ถ่ายรูปแล้วเขียนแบ่งปันไว้ดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่บางขุนศรี ฝั่งธนบุรี เมื่อถูกขุดลัดตัดตอนตรงบางกอกในสมัยอยุธยาตอนกลาง ผ่านเวลานับร้อยปีก็ตื้นเขินลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นร่องน้ำแคบๆ ดังที่เห็น

สมัยโบราณ ถ้าแม่น้ำอ้อมโค้งไกลนัก เสียเวลาขนสินค้า ขาดทุนทางเศรษฐกิจ ก็ขุดตรงคอคอดให้ทะลุลัดถึงกัน ไม่ช้าไม่นานแม่น้ำเก่าก็ถมทับตื้นเขินจนกลายเป็นร่องน้ำเล็กๆ ชุมชนเก่าแก่สองฝั่งก็ร่วงโรยเป็นสวนลึก

ประภัสสร์ ชูวิเชียร โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว 15 ก.ค.60

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image