“ศุภชัย”แนะรัฐตั้งกติการับ“บิ๊กอีคอมเมิร์ซ”ป้องผูกขาดกันยึดโลก-“สุรินทร์”ย้ำอาเซียนร่วมกลุ่มพหุภาคีรับมือกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ของปท.พัฒนาแล้ว

ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี2560 จัดโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ว่า จากนี้สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องให้ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศจากในเอเชียได้มีบทบาทมากขึ้นในการช่วยบริหารเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่องค์กร WTO อย่างเดียวที่ต้องทำสิ่งนี้ แต่รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกด้วย ทั้ง 3 องค์กรควรจะดูแลให้มีการลงทุน พัฒนาด้านการเกษตร การใช้พลังงานสีเขียว ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากตกในมือเฉพาะประเทศใหญ่ๆของโลก ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในสมัยก่อนแต่ขณะนี้จนลงๆ ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่นัก

นายศุภชัย กล่าววว่า การเจรจาในเวทีWTO ที่เป็นการเจรจาแลกเปลี่ยนและกฎระเบียบ ซึ่งประเทศใหญ่กำลังทำอยู่ก็ตกลงกันไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่ได้มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วก็พยายามเจรจาข้อตกลงนอกกติกาของ WTO ซึ่งคงไม่ถูก ดังนั้นองค์กร UNCTAD ควรจะเป็นผู้ที่มีบทบาทมากขึ้นในการช่วยการค้าโลกไม่ใช่แค่เรื่องเจรจาการค้าอย่างเดียว นำเอาการเจรจาการค้าโลกมาสู่การปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น การใช้กฎหมายเพื่อการแข่งขัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎระเบียบการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ประเทศใหญ่ๆ ไม่ค่อยให้เราจดคุ้มครอง GI นัก หากจด GIได้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมากเพราะได้ราคาพืชผลดีขึ้น

“ถึงเวลาแล้วที่ WTO รวมถึง UNCTAD และประเทศเราด้วยจะต้องลงมาดูเรื่องอี-คอมเมิร์ซ ขณะนี้ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล เช่น กูเกิ้ล อาลีบาบา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกลงโทษด้วยการปรับเงินจากองค์กรในสหรัฐฯและยุโรป เพราะเรื่องละเมิดกฎระเบียบการแข่งขัน จะเห็นว่าการแข่งขันของพวกเขาเป็นการแข่งขันที่ผูกขาด เป็นเจ้าของหลายแพลตฟอร์ม ทั้งโลจิสติกส์ การจ่ายเงิน บิ๊กดาต้า และในที่สุดก็จะเป็นเจ้าของโลกนี้ด้วย โดยที่รัฐบาลแต่ละประเทศไม่มีข้อมูลเทียบเท่าธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งอันตราย จึงต้องมีความจำเป็นในการดูแลยักษ์ใหญ่ของโลก อยากเห็นการตกลงให้มีจรรยาบรรณร่วมของธุรกิจกลุ่มใหญ่นี้ และการที่ให้ยักษ์ใหญ่ดิจิทัลมาลงทุนในบ้านเราโดยหวังว่าเขาจะมาลงทุนแล้วช่วยเรานั้น อย่าได้คิดอย่างนั้นเป็นอันขาด เขาเข้ามาเราต้องรู้ทันเขา เขาจะทำอะไรต้องมีคนไทยประกบด้วย”นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนทำให้การค้าไขว้เขว มีหลายประเทศอ้างว่าประเทศอื่นๆแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนจนเกินเหตุ แต่การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่ต้องการอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป แต่ต้องการอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีเสถียรภาพ ดีที่สุดคือการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกันรวมกลุ่มกันในเอเชีย เพื่อไม่ยอมให้ใครใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรมทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อน

Advertisement

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้ในเอเชียส่วนใหญ่ยังเห็นประโยชน์จากการเปิดตลาด แลกเปลี่ยนการลงทุน แลกสินค้าและค้าขายที่เป็นผลจากโลกาภิวัตน์ เพราะเอเชียยังผลิตสินค้าส่งออกไปตลาดโลกได้ มีการใช้แรงงานในเอเชีย ใช้เทคโนโลยที่ไม่ต้องลงทุนมากนักผลิตให้บริษัทแม่ในตะวันตก ต่างจากอดีตประเทศกำลังพัฒนาไม่ไว้ใจโลกาภิวัตน์เพราะกลัวจะมาเอาเปรียบ แต่ตอนนี้ประเทศโลกที่ 3 ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโลกกาภิวัตน์ คนยากจนลดลง มีการเพิ่มของชนชั้นกลางในจีน อินเดีย อาเซียน แต่ขณะเดียวกันการต่อต้านโลกาภิวัตน์กำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเห็นว่าตนเสียประโยชน์ ส่งเงินมาลงทุนยังประเทศอื่นๆ ไม่มีการจ้างแรงงานในประเทศตนเอง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ อย่างเบร็กซิท และการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯชนะเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image