แรงงานต่างด้าว เรื่องใหญ่ที่ขาดการเอาใจใส่ : สมหมาย ภาษี

“คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลา หรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้...”

ผมและใครต่อใครหลายคนที่สนใจและเอาใจช่วยการบริหารบ้านเมืองของท่านนายกรัฐมนตรีของเรา ต่างก็รู้สึกเห็นใจและสงสารท่านผู้นำที่ต้องรับงานหนักมาตลอด และระยะหลังดูเหมือนว่าจะยิ่งหนักเป็นทวีคูณ เพราะมีงานใหญ่ๆ หลายชิ้นที่ทำให้ท่านลงนามมีผลบังคับใช้แล้วกลับต้องมีการแก้ไข ปรับเปลี่ยนสั่งชะลอสารพัดอย่าง ทำให้ท่านต้องทำงานซ้ำซาก โดยต้องนำมาตรา 44 ที่รู้จักกันดีมาใช้มาก จนกลายเป็นเหมือนใช้อย่างพร่ำเพรื่อ
นับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มีการประกาศใช้มาตรา 44 ฉบับที่ 11/2560 เรื่อง การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ จนกระทั่งถึง 4 กรกฎาคม 2560 ได้มีการออกคำสั่งใช้มาตรา 44 ฉบับที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รวมแล้วภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือนของปีนี้ ได้มีคำสั่งใช้มาตรา 44 ในการบริหารราชการแผ่นดินถึง 23 เรื่อง เทียบกับช่วงก่อนหน้านั้นตั้งแต่ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รวม 2 ปี 9 เดือน มีการใช้มาตรา 44 เพียง 10 เรื่องเท่านั้นเอง
นี่แหละที่บอกว่าน่าสงสารท่านนายกรัฐมนตรีมากในระยะนี้ ยิ่งทำงานหนักยิ่งติดลบมาก แต่ท่านก็น่าชมเชยมากอย่างหนึ่งคือ ท่านไม่เคยปริปากตำหนิฝีพายในเรือสักคน ทั้งๆ ที่ความผิดพลาด การเตรียมงานไม่ดี ล้วนมาจากฝีพายของท่านทั้งนั้น
เรื่องแรงงานต่างด้าวที่เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ ต่างก็ประสบปัญหากันไปทั่ว กล่าวคือ ไร่นาที่ปลูกข้าวทางอีสานตอนนี้ต้องใช้แรงงานเขมรเก็บเกี่ยวข้าว แต่ปรากฏว่าแรงงานเขมรรีบกลับบ้านไปถึงหนึ่งในสาม ร้านอาหารและสถานบริการในภาคใต้ตั้งแต่ระนอง ภูเก็ต กระบี่ เจอแรงงานพม่ากลับบ้านเกิดเมืองนอนไปเกือบครึ่ง ภาคกลางธุรกิจอาหารทะเลที่สมุทรสาครและธุรกิจเรือประมงหาปลา แรงงานพม่าก็กลับถิ่นลำเนาไปไม่ใช่น้อย จนมีข่าวว่าเรือประมงไทยนับพันลำขาดแรงงาน
ชาวกรุงจำนวนไม่น้อยที่จ้างผู้ช่วยงานบ้านเป็นคนพม่า ไทยใหญ่ ลาว เพราะเดี๋ยวนี้หาจ้างคนไทยไม่ได้แล้ว ต่างก็ทิ้งงานกลับบ้านหัวซุกหัวซุน ธุรกิจเอสเอ็มอีที่รัฐบาลสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน พยายามสร้างตัวด้วยการผลิตสินค้าอย่างดีให้แข่งขันได้ อยู่ๆ แรงงานต่างด้าวลาหายไปเกือบหมด
เรื่องของคนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามสถิติของทางการในปี 2559 แจ้งว่ามีเข้ามาอยู่เมืองไทย 3-4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงาน 2.7 ล้านคน ถือว่ามากทีเดียว ซึ่งตอนนี้ถ้ามีการเก็บสถิติได้ชัดเจน ก็น่าจะเป็นแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ปัญหาของแรงงานต่างด้าวในมุมมองของรัฐบาล คือในเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ติดตามเรื่องนี้ของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดมาตลอดและจัดอันดับไทยเป็นประเทศที่สร้างปัญหานี้มากประเทศหนึ่ง ล่าสุดไทยถูกสหรัฐอเมริกาจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้อยู่ในขั้น 2 ที่ต้องจับตาอยู่ (Tier 2 Watch List) อาจเป็นเรื่องนี้ที่รัฐบาล คสช.รีบออกกฎหมายโดยไม่ผ่านการพิจารณาปกติของรัฐสภาที่เรียกว่า “พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 มิถุนายน 2560 พูดง่ายๆ ถ้ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่จี้ เราก็คงไม่ทำงานลวกๆ แบบนี้ แต่งานที่ไม่ลวกๆ เราก็ไม่คิดทำแต่เนิ่นๆ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์ แต่มีเรื่องอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เรื่องการควบคุมดูแล การควบคุมก็ไม่ใช่แค่คนต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทย ยังรวมถึงนายหน้าจัดหางานและการควบคุมผู้ประกอบการคนไทยที่ใช้แรงงานของคนต่างด้าวด้วย
เมื่อมองปัญหาแรงงานในแนวลึกโดยผู้รู้ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติทั้งหลายนับตั้งแต่เรื่องการทำงานแค่ไหนเป็นงานกรรมกร การเปลี่ยนสถานที่ทำงาน การเปลี่ยนนายจ้าง การได้รับอนุญาตครบถ้วนหรือไม่ ฯลฯ เรื่องต่างๆ เหล่านี้เกิดจากตัวบทกฎหมายนับตั้งแต่ตัวกฎกระทรวงลงไปถึงประกาศมากมายที่ออกโดยอธิบดีของกระทรวงแรงงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการภาคเอกชนกล่าวว่า กฎหมายของไทยคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก
ศึกษาให้ดีแล้วจะพบว่ากฎหมายที่ออกๆ กันมาใช้ มีข้อขัดแย้งพัวพันกันมาก เพราะเอาแต่กำหนดเรื่องที่กระทรวงแรงงานต้องการ โดยไม่รับรู้ข้อเท็จจริงของการจ้างแรงงานของธุรกิจแต่ละประเภท และไม่สนใจสภาพข้อเท็จจริงในการบริหารแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ว่ากันตามจริงแล้ว ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ที่มีปัญหาแรงงานมีมากมาย นับตั้งแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยก่อนมีปัญหาแรงงานจากต่างประเทศเข้าไปมากมายที่เรียกว่าโรบินฮู้ด ซึ่งในเมืองไทย คนระดับอธิบดี รองอธิบดี หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่ใช่น้อยที่เคยไปเป็นโรบินฮู้ดในอเมริกากันมาแล้ว นอกจากนั้น ที่สิงคโปร์ก็เคยมีปัญหากับมาเลเซีย ประเทศออสเตรเลียก็มีปัญหาต้องแก้ไขตลอดมา สงสัยเหลือเกินว่าเราเคยไปศึกษาเรื่องราวของประเทศเหล่านี้แค่ไหน อย่างไร ผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า การออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่าวด้าว พ.ศ.2560 ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ได้สร้างปัญหาแบบไฟลามทุ่งทั่วทุกภาคในประเทศขณะนี้ แม้จะยืดเวลาอีก 6 เดือนไปศึกษาและเแก้ไขก็คงไม่สามารถก่อให้เกิดการบูรณาการที่ยั่งยืนในเรื่องนี้ได้ หรือพูดภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่คิดว่าจะเกาถูกที่คันจริงๆ ได้
การที่คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศชายแดนรอบบ้านคือ เมียนมา ลาว และเขมรนั้นไม่ใช่มาก่อแต่ปัญหา แต่ในข้อเท็จจริงแรงงานเหล่านี้ได้เข้ามาสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว จนขณะนี้นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการไทยไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวจากเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีเขาเราก็เป็นง่อยทีเดียว ใครๆ ก็รู้ว่าแรงงานหายาก เกษตรกรชาวไร่ ชาวนาสมัยนี้มีลูกเพียงคนสองคนเพราะการคุมกำเนิดในชนบทได้ผล มีลูกน้อยก็พยายามส่งเสียให้เรียนหนังสือ เพื่อจะเป็นเจ้าคนนายคนกับเขาบ้าง นี่แหละที่มาปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย
ประเทศไทยนั้น เราเองก็รู้ว่าตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีมาก คนอื่นเขาอิจฉา เพราะเราตั้งอยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่มีแรงงานราคาถูก ต้องการทำงานกันมาก อยู่ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามากมาย ทั้งแม่น้ำ ภูเขา แหล่งแร่มีค่า ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งสำคัญที่มีประชากรมากที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเกี่ยวกับการลงทุน เช่น วัตถุกึ่งสำเร็จรูปด้านต่างๆ จนกระทั่งเครื่องจักรเครื่องมือขนาดเบาจากไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต นับว่าเทวดาฟ้าดินได้ให้สิ่งที่ดีๆ กับประเทศไทยไว้มากอย่างเหลือเฟือ ยกเว้นอย่างเดียวคือวิสัยทัศน์และปัญญาจากผู้บริหารประเทศของไทยเท่านั้นแหละ มันน่าช้ำใจไหมครับท่านผู้อ่าน
เรื่องแรงงานต่างด้าวที่ไทยเราออกกฎหมายใหญ่เล็กและระเบียบต่างๆ ออกมาบังคับใช้มากมายเพื่อแก้ปัญหานั้น เรายึดอยู่แต่หลักรัฐศาสตร์เพื่อให้สมประโยชน์ของข้าราชการผู้ปฏิบัติฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และตำรวจ-ทหาร แต่เราไม่เคยนำหลักทางธุรกิจการค้าและการลงทุนเข้ามาใส่เลยแม้แต่น้อยนิด
ยิ่งกว่านั้นนโยบายของรัฐบาลที่ชัดๆ เกี่ยวกับการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่มีบอกไว้ที่ไหน ไม่มีเลยที่จะคิดว่า จริงๆ เพื่อนบ้านเราต้องพึ่งเรามาก เขาเหล่านั้นใช้เงินบาท เก็บออมเงินบาทไว้ในธนาคารเรา เจ็บป่วยวิ่งมาเข้าโรงพยาบาลไทย ถ้าเขามีเงินรักษา เขาเหล่านั้นติดตามดูทีวีบ้านเรา และรับรู้เรื่องทางสังคมของไทยอยู่ตลอดเวลา
ผู้เป็นข้าราชการกระทรวงแรงงานควรจะรู้ว่าเขายังเป็นประเทศล้าหลังกว่าเรา เราควรเข้าใจสภาพความเป็นอยู่และศักยภาพของเพื่อนบ้าน เราควรช่วยเขาให้เต็มที่หน่อย เอาใจใส่คนและแรงงานของเขาให้มากหน่อย ทุกอย่างก็จะไปได้ดี อย่างเรื่องที่จะจัดการเรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศให้ดีด้วยการออกเป็นพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 นี้ เราไปผลักภาระให้แรงงานกลับบ้านไปจัดเรื่องพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้รวดเร็วเดือนสองเดือนในบ้านเมืองเขา ดูของเราเองก็ช้าเป็นเรือเกลืออยู่แล้วอย่างนี้ เป็นต้น การบริหารบ้านเมืองโดยใช้แต่หลักรัฐศาสตร์คิดแต่ความสะดวกของตนเป็นหลักนั้น ล้าหลังเต็มทีแล้วครับ
ถ้าดูจากกฎหมายของไทยว่าด้วยการกำกับแรงงานต่างด้าวนับตั้งแต่พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ต่อมารัฐบาลสมัยนั้นเห็นว่า พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับลักษณะการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลกในขณะนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงได้ออก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้แตะต้องเรื่องแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากมาตรา 14 ที่ได้พูดถึงว่า “คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานเป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้…”
หลังจากกฎหมายแรงงานฉบับ พ.ศ.2551 ออกมาได้ไม่กี่ปี ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเบ่งบานในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา ปรากฏว่าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และได้สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมาเพราะกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะได้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นมาก จนถูกต่างชาติ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคาดโทษประเทศไทยในเรื่องแรงงาน ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายด้านแรงงานเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนด้วย รัฐบาล คสช.จึงได้ออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ขึ้นมาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2559
กล่าวได้ว่า พระราชกำหนดฉบับ พ.ศ.2559 นี้ ได้เน้นเข้ามาสร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง

แต่ก็อย่างว่าแหละครับ กฎหมายฉบับนี้แทนที่จะจัดกระบวนการรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้เรียบร้อยแบบบูรณาการ กลับสร้างปัญหาแบบบูรณาการขึ้นมาแทน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะพระราชกำหนด พ.ศ.2559 นี้ได้สร้างกลไกการปฏิบัติในกรอบของหลักการ
ปกครองที่มีความหยุมหยิมและมีข้อจำกัดรุ่มร่ามที่ฝรั่งเรียกว่า Red Tape อยู่เต็มไปหมด ทำให้เกิดผลพลอยได้ก่อให้มีการนำข้อกฎหมายตลอดลงไปถึงกฎกระทรวงและประกาศของอธิบดี ไปใช้ในการประพฤติมิชอบ โดยส่วนใหญ่นำไปอ้างโดยหน่วยปกครองรวมทั้งตำรวจ ไปเก็บส่วยจากพ่อค้าแม่ขายและนักธุรกิจจากเล็กไปถึงใหญ่เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ซึ่งส่วยเหล่านี้ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมีถึง 15-20 หน่วย
และที่สำคัญไม่สามารถไปจับกุมหาหลักฐานได้ เพราะแต่ละหน่วยจะใช้ตัวแทนที่เรียกว่า Stunt Man ขี่มอเตอร์ไซค์ทำการเก็บส่วยแทน

การบีบคั้นจากการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยิ่งพยายามจัดการให้ดีขึ้น กลับก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น และเมื่อรวมกับความกดดันจากประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จึงทำให้รัฐบาล คสช.รีบออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดขึ้นมาใหม่อีกฉบับ โดยให้มีการยกเลิกทั้ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ซึ่งเพิ่งประกาศออกมายังไม่ครบปี และแล้วกฎหมายที่ออกมาแทนคือพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 นี้ ก็ถูกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ฉบับที่ 33/2560 เรื่องมาตราชั่วคราวเพื่อการแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อขอยกเว้นข้อบกพร่องบางประการออกไปอีก 6 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แหละที่แสดงให้เห็นความไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของคนของรัฐบาล
การขาดการเอาใจใส่ของส่วนราชการที่รับผิดชอบในเรื่องแรงงานต่างด้าวที่เป็นปัญหาใหญ่มาร่วมสิบปีแล้วนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะในหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่นกระทรวงแรงงานผู้นั่งอยู่ในหอคอยเท่านั้น แม้แต่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่ว่าเป็นสมองของชาติก็ไม่เคยสนใจ ท่านผู้อ่านลองไปเปิดดู “แผนพัฒนาฉบับที่ 12” ที่เพิ่งเปิดตัวโดยเชิญท่านนายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานเปิดที่ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกล่าวถึงเรื่องปัญหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแม้แต่น้อย
มีเฉพาะในหน้า 200 หัวข้อ 4.3.5 หัวข้อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งพูดแค่สั้นๆ เพียงว่า “ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านทักษะของแรงงานและมาตราแรงงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่มีทักษะระหว่างกัน” สาระมีแค่นั้นจริงๆ
นี่แหละวิสัยทัศน์ของสภาพัฒน์ มันน่าจะต้องให้หัวหน้า คสช.ช่วยพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุบหน่วยงานที่เป็นสมองของชาตินี้เสียเลยดีไหม จะได้ไม่เปลืองงบประมาณปีละกว่า 200 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image