บลจ.ซีไอเอ็มบี ชี้คนไทยออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่พอเกษียณ

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การออมเพื่อวัยเกษียณในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมประชากรวัยแรงงานที่มีจำนวน 38 ล้านคน โดยการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้างพบว่าในเดือนมีนาคม 2560 มีนายจ้างตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานเพียง 17,947 ราย คิดเป็น 2.7% ของจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 659,766 ราย มีสมาชิกที่เป็นพนักงานเงินเดือน 3 ล้านคนมีเงินออมในกองทุนเฉลี่ยคนละ 3 แสนบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าพนักงานในกองทุนที่ไม่ทีความรู้ด้านการลงทุนมักเลือกลงทุนในกองทุนที่มีสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลักประมาณ 90% โดยเฉลี่ยแล้วตลอดการออมจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนเพียง 2% หากลงทุนในกองทุนที่มีสัดส่วนลงทุนในหุ้น 80% ลงทุนในตราสารหนี้ 20% ตลอดอายุการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3-4% แต่หากลงทุนในกองทุนที่จัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้มีความเสี่ยงเหมาะกับแต่ละช่วงอายุจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดอายุการลงทุนที่ 7% ซึ่งสัดส่วนการลงทุนของผู้ที่เริ่มทำงานควรลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 50% ตราสารหนี้ 30% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20% ที่เหลือลงทุนในกองทุนรวมทองคำ

“หากเริ่มออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ตั้งแต่อายุ 22 ปี โดยมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทต่อเดือนมีอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนปีละ 5.50% และมีอัตราเงินเฟ้อที่ 3% โดยผู้ลงทุนใส่เงินออม 5.45% ของเงินเดือนและนายจ้างสมทบอีก 5.78% ของเงินเดือนเมื่อเกษียณที่ 60 ปีจะมีเงินออม 4.04 ล้านบาท น้อยกว่าผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่ลงทุนแบบสมดุลตามอายุที่จะมีเงินตอนอายุ 60 ที่ 8.84 ล้านบาท และหากผู้ออมคนดังกล่าวเพิ่มสัดส่วนการออมใส่กองทุนเป็น 15% ของเงินเดือนและลงทุนในกองทุนแบบสมดุลอายุ ณ อายุ 60 ปี จะมีเงินออมทั้งสิ้น 16.35 ล้านบาท”นายวินกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังบริษัทออกเสนอขายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนแบบสมดุลตามอายุทั้ง 6 กอง ซึ่งมีนโยบายการลงทุนเปลี่ยนไปตามอายุผู้ลงทุนพบว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนเติบโตมากกว่า 10 เท่าจากสิ้นปี 2558 มาอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทคาดว่าสิ้นปีจะทำได้ 4,000 ล้านบาท แต่ยังถทอเป้นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทบริหารอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากนี้ทางทีมงานจะเข้าไปให้ความรู้บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้บริหารบริษัทเข้าใจถึงความสำคัญของการปรับพอร์ตการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณอย่างเพียงพอ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image