เงินเฟ้อกค.เป็นบวกอีกครั้งในรอบ2เดือน “พาณิชย์”คาดทั้งปีน่าจะเฟ้อไม่เกิน2%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ) ทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2560 เท่ากับ 100.53 สูงขึ้น 0.17% เทียบกรกฎาคม 2559 โดยกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากติดลบมา 2 เดือนต่อเนื่อง แต่ลดลง 0.13% เทียบเดือนมิถุนายน 2560 โดยเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นเป็นผลจากหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.57% เช่น ค่าเช่าบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิงราคาสูงขึ้นเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.55% เช่นอาหารสด เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ มีปริมาณมากตามฤดูกาล ราคาจึงลดลงเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน เท่ากับ 101.30 สูงขึ้น 0.48% เทียบกรกฎาคม 2559 และสูงขึ้น 0.08% เทียบมิถุนายน 2560 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.60% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือนแรกปีนี้ สูงขึ้น 0.55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ายังเป็นช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ตามราคาน้ำมันที่ไม่ปรับตัวลงแต่คงที่ ประกอบกับมีช่วงเวลาของการเปิดภาคเรียน จะส่งผลให้ราคาชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ขยับสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้น และค่าไฟที่เริ่มมีการปรับสูงขึ้น แต่คาดว่าทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่สูงขึ้นเกิน 2% ตามเทรนด์ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของทั่วโลกที่ไม่เกิน 2% เช่นกัน สนค.จึงยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีนี้ในกรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานจีดีพี 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า กำลังศึกษาอัตราแลกเปลี่ยน ว่าที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ที่ระดับ 33 กว่าบาทต่อเหรียญสหรัฐ นั้นก็ต้องดูว่ามีผลต่ออัตราเงินเฟ้อแค่ไหน และจะให้น้ำหนักกับปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ได้ทำการศึกษาเมื่อ 2 เดือนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าในบางส่วน เช่น อาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง ส่วนการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีมีการประเมินว่าไม่กระทบต่อราคาสินค้าโดยรวมในขณะนี้ ทั้งนี้หากก๊าซแอลพีจีขนาดถัง 15 กิโลกรัมปรับราคาขึ้น 1 บาท จะมีผลต่อต้นทุนราคาอาหารปรุงสำเร็จรูปเพียง 5 สตางค์ต่อจาน ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงไม่มีผลให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น และรัฐมีกลไกในการดูแลราคาปลายทางอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image