บทเรียนจากน้ำท่วมอีสานรอบนี้ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

ปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานในรอบนี้ ดูจะกลายเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เท่าที่บรรยากาศทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นได้วางกรอบจำกัดเอาไว้

พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ควรจะเริ่มเปรียบเทียบในลำดับแรกในเรื่องของการรับมือต่อภัยพิบัติในรอบนี้ อาจจะยังไม่ใช่เรื่องของการพิจารณาว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย หรือรัฐบาลในระบอบเผด็จการนั้นใครรับมือได้ดี และ/หรือรับมือได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

แต่อาจจะต้องประเมินว่า “สังคม” นั้นมีความสามารถในการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างไร เริ่มจากระบบการรายงานข่าวและการเตือนภัยสาธารณะ

Advertisement

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของรัฐโดยตรง แต่ต้องลองพยายามตรวจสอบดูว่า ข่าวคราวของพายุเซินกาในรอบนี้นั้นปรากฏในหน้าสื่อเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ อาทิ ปรากฏในวิทยุครั้งแรกเมื่อไหร่ ในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ และในเว็บ/อินเตอร์เน็ตเมื่อไหร่ และด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองอย่างไร

เราจะได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข่าวหรือข้อมูลในสื่อรอบนี้เป็นข่าวพายุ หรือข่าวการเตือนภัยอุทกภัย ข่าวแจ้งความเสียหาย ข่าวรายงานความช่วยเหลือ ข่าวความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ ข่าวการเมืองเรื่องความล้มเหลวของระบอบการเมืองแบบเผด็จการ ข่าวความล้มเหลวทางการเมืองของคณะทหารที่ปกครองบ้านเมือง ข่าวความขัดแย้งของรัฐบาลทหารกับอดีตนักการเมือง ข่าวรายงานความเสียหายของสถานการณ์ หรือข่าวรายงานน้ำใจของประชาชนที่หลั่งไหลไปช่วยเหลือพี่น้องชาวอีสาน

ผมอยากจะนำเสนอประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกันอยู่บ้างในสังคมและในหน้าข่าว แต่ไม่ค่อยชัดเจนนัก ซึ่งก็คือเรื่องของการข้ามพ้นคำอธิบาย หรือคำแก้ตัวของรัฐบาลที่พยายามอธิบายว่า น้ำท่วมในรอบนี้โดยเฉพาะในกรณีจังหวัดสกลนครนั้นเป็นปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ ไม่ใช่ปัญหาการบริหารจัดการผิดพลาด (เหมือนกับปัญหาน้ำท่วมในปี’54 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์)

Advertisement

เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ตัวแทนรัฐบาลพูดขึ้นมานั้นมุ่งหวังที่จะให้สังคมรับรู้ว่า รัฐบาลเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือเพียงแค่มาจากความต้องการทำให้ประชาชนนั้นเชื่ออย่างนั้น ซึ่งความเข้าใจในอย่างหลังนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการปฏิบัติการทางการข่าว หรือสงครามจิตวิทยา หรือสงครามวาทกรรมที่จะเบี่ยงประเด็นออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาการบริหารภัยพิบัติอันเกิดจากธรรมชาติ

และเป็นปัญหาที่เกิดจาก “ธรรมชาติของการบริหารภัยพิบัติ” ของรัฐไทยด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงภัยที่เกิดจาก “ธรรมชาติ” เท่านั้น

ประเด็นที่ผมพยายามนำเสนอนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเป็นการโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาล (แต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่ารัฐบาลที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของสงครามวาทกรรมจะคิดเช่นนั้น ซึ่งมันจะสะท้อนความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาว่ามองความมั่นคงในตำแหน่งของตัวเองเป็นหลัก หรือมองความเดือดร้อนและความสุขของประชาชนเป็นหลักกันแน่?) แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า กรณีศึกษาการบริหารจัดการภัยพิบัติในรอบนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และเผด็จการนั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

และที่สำคัญก็คือ ในเนื้อหาสาระของการบริหารจัดการภัยพิบัติในระบอบเผด็จการ หรือไม่ใช่ประชาธิปไตยเลือกตั้ง (ถ้าคำนี้จะแสลงหูน้อยลง)

นั้นเรามีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ในกรณีที่เราไม่เชื่อว่าเพียงแค่มีระบอบบริหารที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องราว หรือเราเชื่อว่าต่อให้มีระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ขึ้นตรงกับผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีสื่อที่มีคุณภาพแล้ว ปัญหาจากภัยพิบัติและปัญหาการบริหารภัยพิบัตินั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การถกเถียงกันในรอบนี้ว่าภัยพิบัติจากพายุในรอบนี้เป็นเหตุสุดวิสัยเพราะพนังกั้นเขื่อนนั้นมันเก่า และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า ระบบการตรวจสอบการทำงานของระบบราชการอาจจะบกพร่องด้วย ไม่ใช่แค่เราจะฝากความหวังว่าระบบราชการจะมีระบบการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่สังคมนั้นมีความสามารถในการตรวจสอบ และจัดความสัมพันธ์กับระบบราชการได้มากแค่ไหน

การมีลักษณะของการจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมของรัฐกับสังคมเป็นเรื่องสำคัญ โดยทั่วไปในมุมของรัฐไทยนั้น เรามักจะเข้าใจและคาดหวังกับสังคมในแง่ของการเข้าไปโอบอุ้มและช่วยเหลือสังคม ทำให้สังคมยอมรับความเหนือกว่า ในขณะที่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยนั้นมักจะมาจากการมีระยะห่างของสังคมกับรัฐ ในความหมายที่สังคมไม่ได้เรียกร้องจากรัฐในเชิงระบบอุปถัมภ์ หรือการขึ้นต่อรัฐแบบแนวดิ่ง แต่ต้องเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ต่างตรวจสอบและร่วมมือกันระหว่างรัฐกับสังคม ซึ่งไม่จำเป็นเช่นกันที่จะต้องอยู่ในลักษณะของการเผชิญหน้าเพื่อโค่นล้มกัน แต่ในบางมิติอาจจะต้องอยู่ในลักษณะของการตรวจสอบ และมีระยะห่างหรือมีความไม่ไว้ใจในเชิงสร้างสรรค์อยู่บ้าง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบที่เข้มข้นและทำให้ระบบการบริหารนั้นยั่งยืน

อยากให้ลองพิจารณาประเด็นที่ผมต้องการนำเสนอสักนิด นั่นก็คือเรื่องของการทำงานของกระทรวงมหาดไทยในรอบนี้ ซึ่งยังไม่ถูกนำมาตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างเป็นระบบ เท่ากับการตั้งคำถามกับกรมชลประทาน และผู้นำทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งหมายถึงว่า เราควรตั้งคำถามกับความล่าช้าในการตอบสนองต่อปัญหาภัยพิบัติในรอบนี้ของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะจากตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในบางพื้นที่

ในการบริหารจัดการภัยธรรมชาติ รัฐไทยนั้นมีเครื่องมือสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่งนั่นก็คือ การบริหารจัดการสาธารณภัย นั่นก็คือการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จหรือบูรณาการอำนาจที่เรียกว่า การบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานหลักที่มีอำนาจก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการที่มาจากกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นต่อให้เรากลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจในส่วนนี้ก็ยังอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่า กระทรวงมหาดไทยจะต้องปรับปรุงการทำงานของตนเองอย่างไร และสังคมจะตรวจสอบและคาดหวังกับกระทรวงมหาดไทยอย่างไร (ในอนาคตสิ่งที่ต้องถกเถียงต่อก็คือ ถ้าอำนาจดังกล่าวมาจากผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง หรือนายก อบจ. จะมีประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร หรือจะต้องมีโครงสร้างอื่นๆ มาแทนที่)

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนเข้าเรื่องกระทรวงมหาดไทยก็คือ กรมอุตุนิยมวิทยานั้นได้ออกประกาศเรื่องของพายุเซินกาจำนวน 22 ฉบับ และมีการรายงานข่าวในหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง การประกาศฉบับแรกออกมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เพื่อชี้ว่าพายุดังกล่าวอยู่ที่เวียดนามและจะเข้ามาที่ไทยแน่ๆ และจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วม แต่รายงานฉบับดังกล่าวนั้นยังไม่ได้ระบุจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ได้ระบุว่าพายุนั้นจะส่งผลกระทบต่อเมืองไทยประมาณวันที่ 25 และ 26 ในวันที่ 24 กรกฎาคมนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนฉบับที่ 2 ที่มีสาระสำคัญอยู่ที่การระบุจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งในส่วนของภาคอีสานนั้นมีการระบุจังหวัดดังนี้คือ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร และนครพนม

นั่นหมายความว่าระบบราชการนั้นอย่างน้อยจะต้องเริ่มตื่นตัวและตรวจสอบภารกิจของตัวเองอย่างเข้มข้นขึ้น ตรงนี้เองที่เราจะต้องเริ่มตรวจสอบว่า กรมชลประทานได้ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงของตัวเองหรือยัง

ในลำดับต่อมาก็คือ แต่ละจังหวัดในภาพรวมซึ่งขับเคลื่อนระบบจัดการสาธารณภัยนั้นรับมือกับข้อมูลแจ้งสาธารณภัยอย่างไร

รัฐไทยมีเครื่องมือที่เรียกว่า การบริหารจัดการภัยพิบัติในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งที่สำคัญ กล่าวคือ ในกรอบกฎหมายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการจังหวัด และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเรื่องเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (รวมถึงประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข) ได้ให้อำนาจในการประกาศภัยพิบัติไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้คำจำกัดความว่า ภัยพิบัติ หมายถึง สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลงศัตรูพืชทุกชนิด อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังนอกประเทศ ตลาดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีบุคคล หรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

คำถามแรกก็คือ ถ้าลองตรวจสอบอย่างน้อยในหน้าข่าว จะพบว่าแต่ละจังหวัดที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับพายุในรอบนี้จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยานั้น มีการตอบสนองต่างกันอย่างไร จะพบว่าการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติของจังหวัดนั้นไม่พร้อมกัน จังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติเร็วที่สุดคือ กาฬสินธุ์ คือ 27 กรกฎาคม ขณะที่สกลนครและร้อยเอ็ดประกาศวันที่ 31 ส่วนนครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นั้นจากการค้นข้อมูลเบื้องต้นนั้นยังไม่พบข้อมูล

แน่นอนว่า การประกาศเขตภัยพิบัตินั้นไม่ได้ทำให้น้ำลดลง แต่มันก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงความตื่นตัวของระบบราชการในระดับหนึ่งต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เพราะมันเป็นการบ่งชี้ถึงกรอบการทำงานในแง่การระดมทรัพยากร (หรือเงินรองจ่าย) ที่จะเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น

ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น ก็คือเรื่องของการไล่ตรวจสอบหลักฐานการตัดสินใจและปฏิบัติการต่างๆ ของคณะกรรมการในระดับจังหวัดที่ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ไล่เลียงไปถึงบทบาทของหน่วยงานอื่นในพื้นที่ที่อยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว และหน่วยงานหรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่

ในความหมายที่ว่า การประกาศเขตภัยพิบัติอาจจะดูเหมือนเป็นการประกาศหลังจากพื้นที่นั้นประสบภัยแล้ว เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่าย แต่การมองปัญหาและตัดสินใจแก้ปัญหาตั้งแต่วันที่ 23 ที่มีการประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ว่า แต่ละจังหวัดมีการตอบสนองต่อข้อมูลแจ้งเตือนภัยแตกต่างกันอย่างไร

นอกจากนั้น เราควรจะต้องเข้าไปพิจารณาดูว่า การตอบสนองต่ออุทกภัยของแต่ละจังหวัดนั้นแตกต่างกับการตอบสนองต่อสาธารณภัยในรูปแบบอื่นๆ อย่างไร เช่น รัฐมองปัญหาอุทกภัยเป็นเรื่องของการเน้นการชดเชยการเสียหายมากกว่าเรื่องของการป้องกันและเฝ้าระวังหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการเตือนภัยพายุนั้น ในพื้นที่ประมง รูปธรรมสำคัญคือเรื่องของการไม่ออกเรือ แต่ถ้าในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกรรมนั้น รูปธรรมของการเตือนภัยและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพคืออะไร หรือทำได้เพียงแค่การชดเชยเยียวยาครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น การตั้งรับอุทกภัยโดยเฉพาะในภาคอีสานนั้นควรจะประกอบด้วยขั้นตอนอย่างไรที่ระบบราชการเอง และสังคมนั้นจะต้องนำมาประเมินและร่วมทำงานกับภาครัฐในเรื่องภัยพิบัติในรอบต่อไปที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image