ต้องอ่าน!”ขบ.”เปิดรายละเอียดเส้นทางรถเมล์ใหม่พร้อมชื่อเหตุผล-ทดลองใช้ก่อน8เส้นทางเริ่ม15 ส.ค.นี้

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กำลังดำเนินการแผนปฏิรูประบบโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยตามแผนจะมีการจัดเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่โดยอิงเส้นทางเดินรถเดิมที่วิ่งอยู่ และปรับหมายเลขเส้นทางใหม่ ซึ่งจัดตามเขตพื้นที่แบ่งเป็น 4 โซน กำหนดสัญลักษณ์สีตามโซนพื้นที่ที่วิ่งซึ่งแสดงแถบสีไว้บริเวณด้านหน้าและข้างรถ แสดงชื่อเส้นทางใหม่ ตัวอักษรภาษาอังกฤษบนแถบสีด้านหน้ารถ และตามด้วยหมายเลขรถไม่เกิน 2 หลัก ซึ่งการจัดนี้อิงตามพื้นที่เดินรถเดิมที่มี 8 เขตการเดินรถ สัญลักษณ์ใหม่นี้จะแสดงควบคู่กับเลขสายและเส้นทางเดิม ป้องกันประชาชนสับสน โดยจะเริ่มทดลอง 8 เส้นทางใหม่ ด้วยการแบ่งรถจากเส้นทางเดิม เส้นทางละ 5 คัน จากที่วิ่งปกติเส้นทางละ 30 คัน การทดลองนี้จะให้บริการควบคู่กับเส้นทางเดิม โดยทดลองวิ่ง 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม-15 กันยายน 2560 ตั้งแต่เวลา 06.30 -18.30 น. ในราคาตามเส้นทางเดิม

นายสนิท กล่าวว่า ระหว่างการทดลอง กรมการขนส่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดระบบหมายเลขเส้นทาง ทางเฟซบุ๊คในชื่อ “การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม.” หรือ URL : http://www.facebook.com/BusRerouteBKK/ เพื่อนำข้อเสนอมาวิเคราะห์ ประเมินผล ดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชน ขณะเดียวกันหลังทดลองวิ่ง 1 เดือนแล้ว กรมฯจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงมาประมวล ทบทวนก่อนการเดินหน้าจัดเส้นทางเดินรถเมล์เส้นใหม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อให้การปฏิรูปทั้งระบบรถโดยสารเกิดความสมบูรณ์ในทุกๆ ด้านภายใน 2 ปีนับจากนี้

นายสนิท กล่าวว่า กำหนดเป้าหมายปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ให้มีการเดินรถในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 269 เส้นทางโดยประมาณ ซึ่งจะทยอยปรับเปลี่ยนตามช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 2 ปีนี้ ให้กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน จำนวนเส้นทางดังกล่าวจะแบ่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เดินรถ 127 เส้นทางโดยประมาณ ภายใต้รถ ขสมก.ที่มีอยู่ 2,700-3,000 คัน และเส้นทางที่เหลือจะเปิดให้ผู้ประกอบการเอกชน รถร่วมเข้ามาแข่งขันกันเปิดให้บริการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของเส้นทางเดินรถ และให้ประชาชนมีทางเลือกเข้าถึงการใช้บริการรถเมล์ได้มากขึ้น รองรับการขยายตัวของเมืองที่จะสามารถเพิ่มเส้นทางเดินรถได้ในอนาคต ผู้ประกอบการอยู่ได้ไม่ขาดทุน สร้างการแข่งขันให้เพิ่มคุณภาพการให้บริการดีขึ้น และที่สำคัญจะเชื่อมโยงกับโครงข่ายการคมนาคารูปแบบอื่นๆ ให้ทั่วถึงมากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัว เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายสนิท กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ 4 โซน กำหนดสัญลักษณ์ใหม่ดังนี้ เขตการเดินรถที่ 1, 2 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีเขียว ใช้ตัวอักษรแทนด้วย G เขตการเดินรถที่ 3, 4 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีแดง ใช้ตัวอักษรแทนด้วย R เขตการเดินรถที่ 5, 6 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีเหลือง ใช้ตัวอักษรแทนด้วย Y และเขตการเดินรถที่ 7, 8 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีน้ำเงิน ใช้ตัวอักษรแทนด้วย B และรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วนใช้อักษรEซึ่งวางตามหลังตัวเลขรถ ขณะที่ 8 เส้นทางทดลอง ได้แก่ สายที่ G21 รังสิต – ท่าเรือพระราม 5 สายที่ G59E มีนบุรี – ท่าเรือสี่พระยา สายที่ R3 สวนหลวง ร.9 –สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ สายที่ R41 ถนนตก –แฮปปี้แลนด์ สายที่ Y59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน – กระทุ่มแบน สายที่ Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ –สถานีขนส่งจตุจักร สายที่ B44 วงกลมพระราม 9 –สุทธิสาร และสายที่ B45 หมู่บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม – ท่าเรือสะพานพุทธ

Advertisement

นายสนิท กล่าวอีกว่า ยังมีเส้นทางที่กำหนดขึ้นใหม่ จากการสำรวจความต้องการของประชาชน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก เปิดให้ผู้ประกอบการเอกชน ยื่นคำขอรับสัมปทานเดินรถแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ – โรงพยาบาลรามาธิบดี และ สาย Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา – สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความเหมาะสม

นายสุเมธ องกิตติกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และที่ปรึกษาแผนการปฏิรูปรถโดยสาร กล่าวว่า ตามแผนคาดว่าจะมีเส้นทางเดินรถเมล์ที่ทำขึ้นมาใหม่ และสามารถเดินรถอย่างสมบูรณ์ได้อย่างน้อย 20 เส้นทางภายในปีนี้ ก่อนจะทยอยทำให้ครบทุกเส้นทางได้ภายใน 2 ปีจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image