สืบสานตำนานไหมไทย ทรงเป็นดั่งผู้ปิดทองหลังพระ

เป็นที่ทราบกันดีว่าผ้าทอพื้นเมืองไทยมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อกลับบ้าน เพราะมีความสวยงาม ประณีต และได้มาตรฐาน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2560 พสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และสร้างสัญลักษณ์ประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ


รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

อาจารย์สมพงษ์ ทิมแจ่มใส ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จฯด้วยเสมอ ครั้งหนึ่งในการเสด็จฯไปทรงงานที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านใส่ชุดภูไท ซึ่งมีความสวยงามมาก จึงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้นการทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งกว่าจะสำเร็จใช้เวลานานมาก

Advertisement

อาจารย์สมพงษ์ ทิมแจ่มใส

“พระองค์ตรัสให้ชาวบ้านทอผ้ามาขาย จะทรงรับซื้อไว้เองผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต่อมารับสั่งให้ชาวบ้านทอมากขึ้น ผืนใหญ่ขึ้น ทำอย่างนี้จากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าของแต่ละท้องถิ่น จากที่ค่อยๆ เลือนหายก็เริ่มฟื้นคืน”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้า จากเดิมที่ทอผ้าเพื่อสวมใส่ และแลกข้าวสาร เมื่อมีรายได้คุณภาพชีวิตก็เริ่มดีขึ้น บางบ้านที่มีเด็กและเยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษา พระองค์ก็จะพระราชทานทุนการศึกษาให้ หรือบางบ้านที่สามีเป็นทหารไปรบและเสียชีวิตอยู่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ก็จะพระราชทานเงินซื้อผ้ามากกว่ามูลค่าผ้าเสียอีก อาจารย์สมพงษ์ยืนยันว่า “นี่ไม่ใช่เพียงการรับซื้อผ้า แต่ยังเป็นการดูแลประชาชนเหมือนครอบครัว”

Advertisement

ตรานกยูงพระราชทาน

แต่ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อมีพ่อค้าลักลอบนำเข้าเส้นไหมพันธุ์ผสมคุณภาพไม่ดี มาขายให้ชาวบ้านที่ไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง ชาวบ้านเหล่านี้นำเส้นไหมที่ไม่ได้คุณภาพมาทอ และส่งขายให้มูลนิธิส่งเสริม

ศิลปาชีพฯ แต่คุณภาพไม่ผ่านจึงไม่รับซื้อ ขณะเดียวกันยังส่งไปขายต่างประเทศโดยอ้างชื่อว่า ไหมไทย (Thai Silk) ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในประเทศ โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชทานตราสัญลักษณ์

“นกยูงไทย” ให้เป็นเครื่องหมายรับรอง โดย “ตรานกยูงพระราชทาน” แบ่งการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1.นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นฐานดั้งเดิมของไทยอย่างแท้จริง อาทิ ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ทอด้วยมือ ย้อมสีด้วยธรรมชาติ


2.นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือ และกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน อาทิ ใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุง เส้นไหมสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไม่เกิน 5 แรงม้า ย้อมสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

3.นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ อาทิ ใช้เส้นไหมแท้ ย้อมสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอแบบใดก็ได้

4.นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย ในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นไหมแท้ กับเส้นใยอื่นที่มาจากธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ อาทิ ใช้เส้นไหมแท้ ย้อมสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอแบบใดก็ได้ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่รับรองโดยตรานกยูง จะต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น

อาจารย์สมพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันตรานกยูงพระราชทานได้จดทะเบียนแล้วใน 35 ประเทศทั่วโลก ถือว่าได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง เพราะเราลงลึกถึงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้มีหลายคนพยายามลอกเลียนแบบเรา เราจึงต้องจดลิขสิทธิ์การรับรองตรานกยูง แต่ก็มีบางประเทศที่ไม่ยอมจดลิขสิทธิ์ให้เรา เพราะการจดลิขสิทธิ์ให้เท่ากับว่าเขาจะต้องยอมรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของเขาจะด้อยกว่าเราทันที

ชวนคนไทยใส่ผ้าไหม

อาจารย์สมพงษ์กล่าวว่า แม้เดี๋ยวนี้คนไทยจะนิยมใส่ผ้าไทยโดยเฉพาะผ้าไหมเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ใส่ทุกวัน ต่างจากประเทศอินเดียที่เขานิยมใส่ผ้าไหมมาก ใส่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และทำกันเป็นระบบ อย่างบ้านเราคนทอผ้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ที่อินเดียผู้ชายหลายคนทอผ้าเป็นอาชีพ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ที่นั่นยังมีระบบสหกรณ์ ที่ทอผ้าออกมาแล้วมีการรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม เหล่านี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงนำร่องกับประเทศไทย ผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

“ทรงทำดั่งผู้ปิดทองหลังพระ ทรงช่วยอย่างขาดทุนมาตลอด ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน”

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีรณรงค์ให้ข้าราชการไทยใส่ผ้าไทยทุกวันศุกร์ แต่อาจารย์สมพงษ์มองว่า อาจยังไม่พอ เพราะพอเราไม่เน้น ข้าราชการหลายคนก็ใส่ผ้าอะไรก็ได้ของต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทั้งที่หากมาร่วมใช้ผ้าไหมไทยกันจริงๆ ใช้กันมากๆ ตามหลักอุปสงค์อุปทาน ก็คิดว่าผ้าไหมไทยจะมีราคาถูกลง ซึ่งอาจต้องทำอย่าง สปป.ลาว ที่อนุรักษ์ผ้าซิ่นเป็นผ้าประจำชาติ

“จริงๆ ผ้าไหมไทยใส่ได้ทุกโอกาส โดยเฉพาะผู้หญิงไทยไม่ต้องใช้ผ้าไหมแบบตัดเย็บอย่างเดียวก็ได้ อาจนุ่ง พัน ใส่ได้แบบไม่ตายตัว ผ้าไหมไทยเดี๋ยวนี้พัฒนาไปเยอะ ใช้สะดวกดูแลง่าย ยิ่งหากเป็นผ้าไหมที่ทำมาจากเส้นไหมพันธุ์ใหม่ สามารถโยนเข้าเครื่องซักผ้าได้เลย นอกเหนือจากคุณสมบัติของผ้าไหมที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ นุ่มสบาย ช่วยปรับอุณหภูมิผิว อย่างเวลาเจออากาศร้อนก็จะเย็น เจออากาศเย็นก็จะอุ่น ส่วนพวกที่ใส่แล้วบ่นว่าร้อนๆ นั่นเพราะเป็นผ้าไหมอัดกาวมา”



วิธีเลือกซื้อผ้าไหม

“เดี๋ยวนี้ราคาผ้าไหมเริ่มต้นเมตรละพันกว่าบาท ไปจนถึงแพงที่สุดที่หลักแสนบาท ซึ่งจะแพงด้วยลวดลายดั้งเดิม สี วิธีการทอ ตลอดจนการนำทองคำเข้ามาทอสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ผ้าไหมไทยสามารถเก็บสะสมได้ ราคายิ่งขึ้น ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง”

ส่วนการเลือกซื้อผ้าไหมนั้น อาจารย์สมพงษ์แนะนำว่า เริ่มจากดูความเรียบร้อยของผ้าว่าไม่มีตำหนิ โดยเฉพาะลวดลายที่ทอต้องไม่กระโดด ไม่เขย่ง แต่จะต้องสม่ำเสมอ ซึ่งผู้ซื้อจะต้องมีความรู้เรื่องผ้าระดับหนึ่ง เพราะลวดลายแต่ละลวดลายก็สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นๆ และผ้าแต่ละชนิดก็มีวิธีดูคนละแบบ อย่างผ้าไหมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีสีคราม เพราะกระบวนการย้อมยาก เนื่องจากไหมมีฤทธิ์เป็นกรด ครามมีฤทธิ์เป็นด่าง ถ้าย้อมไม่ดีย้อมเข้มไปผ้าจะเปื่อยง่าย ไม่เหมือนผ้าฝ้ายยิ่งย้อมครามผ้ายิ่งออกมาสวย



“ขอให้ภาคภูมิใจว่าตอนนี้ทั่วโลกรู้จักผ้าไหมไทย เขาสั่งซื้อเพื่อไปแปรรูปหลายอย่าง ตั้งแต่ไปตกแต่งบ้าน ผสมผสานในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนสามารถส่งลูกไปเรียนที่เมืองนอก อย่างกลุ่มเกษตรกรที่ จ.สกลนคร ที่ส่งลูกไปเรียนด้านแฟชั่นในต่างประเทศ ปรากฏว่าลูกเขากลับมาช่วยออกแบบ จนสามารถส่งชุดที่ทำจากผ้าไหมไปเดินแบบเมืองนอกได้” อาจารย์สมพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

พระมหากรุณาธิคุณฟื้นภูมิปัญญา

ขณะที่ นางนุสรา เรืองสวัสดิ์ และ นางแยง พันธุ์สุรัตน์ เกษตรกรกลุ่มทอผ้าไหมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านหนองแคน ต.หนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ประเภทเส้นไหมน้อยสาวมือ ระดับบุคคลทั่วไป ในงาน “ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 12 ประจำปี 2560 กล่าวร่วมกันว่า จริงๆ ภูมิปัญญาการทอผ้าของบ้านหนองแคนหายไปแล้ว จนประมาณปี 2516 ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไป พระองค์ทรงฟื้นฟูภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการทอผ้า และทำให้การทอผ้าในชุมชนเฟื่องฟูอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็ค่อยๆ เลือนหายอีกครั้ง จนปี 2541 ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเยี่ยมราษฎรบ้านหนองแคนอีกครั้ง มีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนฟื้นฟูอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมถึงให้มีการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยหรือไหมลูกผสมรังสีเหลือง เพื่อขายเส้นไหมหรือการทอผ้าไหมให้กับโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ

หลังจากนั้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ มุกดาหาร ได้เข้าไปดําเนินการปรับปรุงโรงเลี้ยงไหมกลางของเกษตรกรเพื่อเลี้ยงไหมวัยอ่อน ปรับปรุงสวนหม่อน ฝึกอบรมการฟอกย้อมสีเส้นไหม และออกแบบลวดลายผ้าไหมแบบประยุกต์ให้แก่เกษตรกร ก่อนดําเนินโครงการพัฒนาคุณภาพเส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และกลุ่มทอผ้าได้ทอผ้าไหมส่งสํานักพระราชวัง

นุสรา เรืองสวัสดิ์ – แยง พันธุ์สุรัตน์

ผ้าแพรวาสีธรรมชาติ รางวัลชนะเลิศ ผ้าไหมตรานกยูง สีน้ำเงิน ประจำปี 2560

“ตอนแรกที่เริ่มฟื้นภูมิปัญญาทอผ้าก็คิดว่ายาก แต่พอได้ลองทำก็สามารถกลับมาทอผ้าได้อีกครั้ง จนตอนนี้ยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ แม้รายได้อาจไม่สูงมาก แต่เมื่ออยู่อย่างพอเพียงก็ทำให้เราสามารถพออยู่พอกินกันได้ สามารถส่งลูกเรียนถึงระดับปริญญาตรีได้” นางนุสราและนางแยงกล่าวด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุข แล้วทิ้งท้ายว่า

“เราและเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านหนองแคน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หากพระองค์ไม่เสด็จฯมาในวันนั้น คิดว่าภูมิปัญญานี้น่าจะเลือนหายไปอย่างแน่นอน ขณะที่สิ่งที่พวกเราต้องทำจากนี้คือ การส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ให้รุ่นลูกหลานต่อไป”

พระมหากรุณาธิคุณพลิกฟื้นหัตถกรรมไทย สร้างความสุขให้กับปวงชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image