“กสทช.”โชว์ผลงาน6ปีที่ภูมิใจ-ฝากบอร์ดชุดใหม่สานต่อประมูล5จีไอโอที

พ.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดกิจกรรมและนิทรรศการครบรอบ 6 ปี กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ว่า ผลงานชิ้นสำคัญของ กสทช. ชุดปัจจุบันคือการการวางกฎเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และการกำกับดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในมิติต่างๆ รวมทั้งการจัดการประมูลต่างๆ ประกอบด้วยการประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 3จี 4จี และ โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน หรือ โครงการเน็ตชายขอบ ทั้งนี้ส่วนตัวยังเห็นด้วยว่าโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบ ถือ เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพราะหากโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไม่สามารถเข้าไปถึงประชาชนได้ การจะขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ก็ยากจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมาได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระดับชาติและระดับโลก ซึ่งพันธกิจของ กสทช. ชุดใหม่ในอนาคตที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. ชุดปัจจุบันที่มีกำหนดหมดวาระลงในเดือนตุลาคมนี้ คือ การเร่งดำเนินการคือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การมาของ 5จี และ ไอโอที(Internet of Things) หรือ การเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตเข้ากับวัตถุทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5จี ที่มีแนวโน้มเข้าสู่บริการเชิงพาณิชย์เร็วกว่าที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ประมาณการไว้ว่าจะมีการเริ่มให้บริการปี 2563 อ้างอิงได้จากการที่เกาหลีใต้ประกาศให้บริการ 5จี ในเชิงพาณิชย์ในปี 2561 ทำให้ กสทช. ต้องเร่งกำหนดแนวทางกำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เบื้องต้นจะมีการจัดทำร่างประกาศเกี่ยวกับไอโอทีและเตรียมให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับการเข้ามาของ 5จี

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เดินก่อนหน้านี้มิติในการคุ้มครองผู้บริโภค จะอยู่ที่การดูเรื่องค่าใช้บริการ หรือโครงข่ายให้บริการ แต่ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่สำคัญต่อไปในเวลานี้คือความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากภัยคุกคามไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลายิ่งเมื่อการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายทำได้ง่ายและเกิดขึ้นกับทุกอุปกรณ์ที่มี IOT โอกาสที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องโหว่ที่ถูกมองข้ามโจมตีเข้าสู่ระบบทำให้เกิดความเสียหายจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การดูแลเรื่องความปลอดภัยจึงต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้นำเทคโนโลยีมาให้บริการ ผู้กำกับดูแลที่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบและเอาผิดกับมิจฉาชีพเป็นหลักเกณฑ์ที่เท่ากับกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผู้บริโภคเองต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงและตื่นตัวที่จะป้องกันตัวเอง ปัญญาหาของผู้บริโภคในอนาคตไม่ได้อยู่แค่อินเทอร์เน็ตหลุด สัญญาณไม่ดี ราคาค่าบริการแพง แต่จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการวางแนวทางให้เกิดความปลอดภัยในการการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงินและการทำธุรกิจ การรอดพ้นจากปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่ากันกับภัยคุกคามและผู้กำกับดูแลต้องตื่นตัวที่จะกำหนดแนวทางที่เหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image