“ทีพีเคเอทานอล”สั่งทีมกม.หาข้อมูลเผื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐกรณีถูกตัดสิทธิ์ประมูลข้าว

ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพ นายสุเมธ เลิศตันติสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและข้าว ได้เปิดแถลงข่าวกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวตามโครงการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ว่า ภายหลังศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งให้การกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) ระบายข้าวในสต็อกของรัฐต่อได้ จากก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ คต. ระงับการระบายข้าวที่เหลือในสต็อกออกไปก่อนนั้น เมื่อบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางตัดสินแล้ว บริษัทก็เคารพและยอมรับในการตัดสินดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วย ขณะนี้บริษัทกำลังให้ทีมกฎหมายดูว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ออกมา ทางบริษัทจะสามารถดำเนินการอะไรได้ต่อหรือไม่ รวมถึงให้ทีมกฎหมายพิจารณาว่าจะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายของกรณีนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่

“ที่ออกมาแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะต้องการถามหาความชอบธรรม และทวงสิทธิ์ที่ควรได้รับ 3 ส่วน คือ การเป็นผู้ชนะประมูลข้าวกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ 5.2 แสนตัน รวมไปถึงสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลซื้อขายข้าวในครั้งต่อไป และขอถามหาความชอบธรรมต่อกระบวนการระบายข้าวของรัฐบาล บริษัทยังมีความสนใจเข้าร่วมประมูลข้าวสต็อกรัฐในครั้งต่อไป หากว่ามีการกำหนดทีโออาร์อย่างชัดเจน และไม่ตัดสิทธิ์บริษัทเหมือนที่ผ่านมา”นายสุเมธกล่าว และว่า ยืนยันว่าการออกมานี้ ไม่เกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่แรก ไม่ได้เลือกข้างว่าอยู่สีไหน และที่ช่วงนี้ออกแถลงข่าวใกล้เคียงกับเวลาการตัดสินคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่าเป็นเพียงช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะที่สอดคล้องกัน

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทีมงานของบริษัทได้ค้นคว้า หาข้อมูลเพิ่มเติมจากของหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับกระบวนการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ เพราะสงสัยในความไม่ชอบธรรม และมีกรณีถูกตัดสิทธิ์เช่นเดียวกับบริษัทหรือไม่ พบข้อมูลเบื้องต้นว่า มี 2 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลข้าวที่ระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคน ครั้งที่ 1/2560 ผลปรากฏว่าผู้จัดประมูลให้ทั้ง 2 บริษัทผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ และชนะการประมูลข้าวบางส่วน แต่บริษัทกลับพบข้อมูลว่าก่อนวันยื่นเอกสารคุณสมบัติ บริษัททั้งสองยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน (ร.ง.4) ที่จะผลิตอาหารสัตว์หรือแปรรูปข้าวเป็นอย่างอื่น ดังนั้นขณะนี้บริษัทกำลังรวบรวมข้อมูล และหลักฐาน ซึ่งจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าต่างประเทศ พิจารณาให้เร็วที่สุด คาดว่าจะส่งข้อมูลได้ภายใน 7 วันนี้ เพื่อให้มีการทบทวนถึงความชอบธรรมของการระบายข้าวและเป็นการทำงานที่ 2 มาตรฐานหรือไม่ มีการนำข้าวไปใช้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ รวมถึงบริษัทได้ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ระบายข้าวนั้นทำงานตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ขณะเดียวกันกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีบริษัทอื่นเข้าข่ายเช่นเดียวกับ 2 บริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่ามีเพิ่มเติมอีก

“ฝากเรื่องนี้ถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ช่วยตรวจสอบการระบายข้าวของรัฐโดยละเอียดว่าทำถูกต้องหรือไม่ ก่อนหน้านี้ที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้ชี้แจงว่าการระบายข้าวทำตามความเห็นชอบของประธานและรองประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ข้อตั้งคำถามว่าหากมีข้อผิดพลาดจากการทำงานในฐานะผู้ออกคำสั่งและเห็นชอบคำสั่งแนวทางระบายข้าวรัฐ จะต้องรับผิดชอบหรือไม่”นายสุเมธกล่าว

Advertisement

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ยื่นประมูลเสนอซื้อข้าวสารในสต็อกของรัฐในการประมูลทุกครั้งจะดำเนินการโดยคณะทำงานซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย รวมทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้เสนอยื่นมา ณ วันที่กำหนดให้ยื่นเอกสารหลักฐาน เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ก็จะประกาศรายชื่อให้เข้าร่วมประมูลได้ การตัดสิทธิ์เอกชนบางราย เนื่องจากตรวจพบว่ารายนั้นคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบในวันที่ยื่นเอกสารหรือพบในภายหลังก็ตาม

นางดวงพร กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ คณะกรรมการ นบข. มอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก) เป็นหน่วยปฏิบัติในการจัดมาตรการและตรวจสอบติดตามให้มีการนำข้าวดังกล่าวไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อแจ้งไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากผู้ใดมีหลักฐานว่าผู้ที่ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามสัญญามีการนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็สามารถส่งหลักฐานให้ทางราชการ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image