เมืองพิมาย เชิญชวน ครม. สัญจร ไปทอดน่องท่องเที่ยว โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราสาทพิมายปัจจุบัน มองจากตัวปราสาทไปทางทิศใต้ เห็นประตูชัยไปนครวัด (ภาพจาก มติชนทีวี)

เมื่อคุณขรรค์ชัย บุนปาน นัดหมายทอดน่องท่องเที่ยวเมืองพิมาย ผมเลยต้องพึ่งพาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ชำนาญสถานที่ประวัติศาสตร์เมืองพิมาย ทำแผนผังขึ้นใหม่ใช้งานนี้

คุณทนงศักดิ์ หาญวงศ์ กรุณาสร้างผังเมืองพิมายเป็นต้นแบบ พร้อมผังชุมทางลำน้ำต่างๆ

คุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ กรุณาตรวจสอบตำแหน่งต่างๆ อย่างถี่ถ้วน

คุณนัทกฤษ ยอดราช กรุณาปรับปรุงแผนผังอย่างประณีตบรรจงลงสีสันสวยงาม

Advertisement

ถ้าใช้ประโยชน์อื่นได้ ขอให้ท่านเอาไปใช้ตามสะดวก คุณขรรค์ชัยบอกว่า เป็นงาน “แบ่งปันความรู้” จากเครือมติชน
เหมาะสำหรับ ครม. สัญจรไปนครราชสีมา แล้วแวะทอดน่องท่องเที่ยวเมือง พิมาย เพื่อการท่องเที่ยวท้องถิ่น

ทอดน่องท่องเที่ยว

แผนที่และแผนผังมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันและในการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม และเศรษฐกิจการเมือง
แต่ระบบการศึกษาของไทยไม่ให้ความสำคัญทั้งแผนที่และแผนผัง

Advertisement

เมืองพิมายหาไม่ได้ แผนที่แสดงเส้นทางคมนาคมและแผนผังแสดงที่ตั้งและขอบเขตของโบราณสถานอยู่ในแผ่นเดียวกัน เพื่อทอดน่องท่องเที่ยวด้วยตนเองคนเดียว หรือคู่เดียว หรือพวกเดียว ไม่ต้องหามัคคุเทศก์จากทางการหรือเอกชน

แผ่นพับแจกที่ปราสาท กับหนังสือ นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ของ กรมศิลปากร (พิมพ์ล่าสุด พ.ศ. 2554 ราคา 100 บาท) มีแผนที่ท่องเที่ยว จ. นครราชสีมา กับแผนที่แสดงแหล่งโบราณคดี จ. นครราชสีมา

รวมทั้งแผนผังเมืองพิมาย ซึ่งไม่ได้ช่วยให้คนทั่วไปเดินทางได้เอง เพราะน่าจะเป็นแผนผังส่วนตัวของนักโบราณคดีที่มีความรู้อยู่แล้วเรื่องเมืองพิมาย

เมืองพิมาย

เมืองพิมายที่เห็นแก่ตาทุกวันนี้ มีปราสาทและกำแพง ตลอดจนประตูเมือง ส่วนมากทำจากศิลาแลง แต่บางแห่งเป็นสถูปทำด้วยอิฐก็มี

ล้วนเป็นซากตกค้างหลงเหลือจากเมืองเคยมีชีวิตไม่น้อยกว่า 700 ปีมาแล้ว (จากเมืองยุคแรกสุดราว 1,500 ปีมาแล้ว ต่อมามีการสร้างขยายเพิ่มต่อเนื่องถึงยุคหลังๆ)
หลัง พ.ศ.1800 เมืองพิมายร่วงโรย แล้วค่อยๆ ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ แต่ไม่รกร้าง เพราะมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ปกติทั้งในเมืองและนอกเมือง บางครั้งเจ้าเมืองสร้างสถูปเจดีย์เพิ่มเติมด้วยอิฐ โดยไม่เคยถูกรุกรานเผาผลาญจากข้าศึก (เหมือนหนังและละครปลุกใจทางโทรทัศน์เรื่องกรุงศรีอยุธยา)

เมืองพิมายล่าสุดได้รับการบูรณะ เริ่มราว 50 ปีมาแล้ว ต่อเนื่องนานเป็นสิบปี ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการทันสมัยของโลก โดยคณะผู้ชำนาญและผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย (เช่น วิศวกร, สถาปนิก, นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักโบราณคดี ฯลฯ) ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ แต่ได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากฝรั่งเศส และมีกรมศิลปากร ประสานงาน

ผังเมืองพิมาย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image