คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน : สกายวอล์ก

บ๊ะแหล่ว ฮิตได้ฮิตดี “ทางเดินยกระดับ” เมืองไทย

ชื่อภาษาราชการทั่นเรียกว่าทางเดินยกระดับ ภาษาเอกชนเขาเรียกว่า สกายวอล์ก (Sky Walk)

ล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาน่าจะเป็นวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ที่ภาคเอกชนในนามกลุ่มพันธมิตรพลังสยาม ส่งมอบสกายวอล์กช่วงสี่แยกปทุมวันให้ กทม. (กรุงเทพมหานคร)

ระยะทางกระจุ๊กกระจิ๊กแต่ลงทุน 300 ล้านบาทไรงี้ เชื่อมรถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-หอศิลป์กรุงเทพฯ-ห้างมาบุญครอง-สยามดิสคัฟ

Advertisement

เวอรี่-สยามสแควร์

จุดเด่นเป็นสกายวอล์กในรูปแบบ “อารยะสถาปัตย์” หรือยูนิเวอร์แซลดีไซน์ (Universal Design) หมายถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้ได้กับคนทุกวัย ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้สูงวัย คนพิการ จะเดินหรือนั่งวีลแชร์มาก็ล้วนแต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

สกายวอล์กจุดนี้ฮือฮาเพราะเขาบอกว่าสวยบาดใจ ก็แหม อย่างว่าล่ะเนาะ อยู่หน้าหอศิลป์ทั้งที ก็เลยออกแบบเป็นแนวศิลปะ Abstract ตกแต่งด้วยใบบัวหลากสี เพราะสี่แยกปทุมวันเคยเป็นสระบัวมาก่อน

Advertisement

นั่นหมายความว่าสกายวอล์ก ยิ่งสร้างยิ่งสวย ยิ่งสร้างยิ่งแพง

วันนี้ชวนคุยเรื่องประหลาดๆ เอิ่ม หมายถึงข้อมูลที่จะทำให้ประหลาดใจไม่มากก็น้อยสำหรับเอกชนที่จะขออนุญาตก่อสร้างสกายวอล์กเชื่อมเข้าตัวอาคาร

ก่อนอื่นมีข้อมูลแถมให้เป็นน้ำจิ้ม สกายวอล์กไม่เพียงแต่เป็นสถาปัตยกรรมในฝันของคนกรุง แต่ในต่างจังหวัดก็มีสกายวอล์กที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 2-3 จังหวัด

เริ่มกันที่วัดตากผีเสื้อ อ.นิคม จ.หนองคาย เปิดใช้ตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ตื่นเต้นกันทั้งเมือง ใช้งบ 17 ล้าน กรมโยธาฯเป็นผู้รับผิดชอบ จุดประสงค์ให้เป็นแหล่ง

เป้าหมายในฝัน (Dream Destination) สำหรับท่องเที่ยว 3 จังหวัด “หนองคาย-เลย-บึงกาฬ”

คนไปเช็กอิน-กรี๊ดกร๊าดเพราะเป็นสกายวอล์กกระจกแห่งแรกมั้งในต่างจังหวัด ขอแนะนำไปเยือนสักครั้ง หน้าหนาวคงต้องรอคิวนานหน่อยเพราะให้เข้าครั้งละ 20 คน เหตุผลเพื่อความปลอดภัยล้วนๆ

อีกจุดล่องใต้ไปที่ จ.ปัตตานี ทางเทศบาลเมืองปัตตานีทำสกายวอล์กระยะทาง 400 เมตร สูง 12 เมตร เทียบเท่าตึก 4 ชั้น ในสวนสมเด็จปัตตานี เป็นป่าโกงกาง ทั่นอยากดึงคนเข้าไปชมป่าชายเลนก็เลยปิ๊งไอเดียทำสกายวอล์กโครงสร้างเหล็กขึ้นมา เหตุผลเพราะงบประมาณถูกสุดแค่ 1 ล้านบาท (ถ้าทำกระจกแพงกว่ากันเยอะ)

สกายวอล์กที่ปัตตานีเพิ่งเปิดใช้เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ใครผ่านไปผ่านมาแวะชม-แชะ มีทั้งวิวป่าโกงกางกับวิวทะเลอ่าวไทย

อีกแห่งกำลังสร้างอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา จำจงดี

“อัยเยอร์เวง” (I-yerweng) งบลงทุน 170 ล้านบาท ในอนาคตสร้างเสร็จจะเป็นสกายวอล์กทะเลหมอกอัยเยอร์เวง สร้างเป็นจุดชมวิวพื้นกระจก

ตัวสกายวอล์กลงทุน 91 ล้าน ที่เหลือพัฒนาถนนกับสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณโดยรอบ

เลี้ยวกลับมาดูสกายวอล์กสุดอลังการในกรุงเทพฯกันต่อ ตำนานบทแรกน่าจะมาจากปี 2553 มีตึกเอกชนแนวรถไฟฟ้า BTS 48 อาคารเขาขอทำทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าเข้าตัวอาคาร ต่อมาความยาวก็เลยงอกออกมาเรื่อยๆ ให้นึกภาพสกายวอล์กช่วงสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวันจะชัดเจนมาก

ปี 2554 ทาง กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก็เลยปิ๊งไอเดีย (เมาธ์มอยกันว่าตอนนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังจะหมดวาระแรก ก็เลยทำเป็นโปรเจ็กต์หาเสียง) ประกาศตูมออกมาจะทำซุปเปอร์สกายวอล์ก ลงทุน 1 หมื่นกว่าล้าน ระยะทาง 50 กิโลเมตรกันเลยทีเดียว

ตอนหาเสียง เอ้ย! ตอนประกาศนโยบายทั่นยกตัวอย่างย่านอโศก ย้อนหลังไปปี 2520 มีคนอาศัย 5 หมื่นคน ปี 2554-2555 ทั่นกะว่ามีคนอยู่ 1 ล้านคน วัดจากออฟฟิศใหญ่ๆ คอนโดฯแท่งโตๆ เกิดเยอะ

แต่ทางเท้ายังมีเท่าเดิม เพราะฉะนั้น สกายวอล์กจึงจะสร้างให้เป็นของขวัญคนเดินเท้าในเมืองกรุง

หน่วยงานรัฐจะทำก็ทำไป ประเด็นชวนคุยอยู่ที่บริษัทเอกชน ถ้าอยากขอสร้างสกายวอล์กเชื่อมเข้าตึกตัวเอง ต้องมีค่าใช้จ่ายนะจ๊ะ

กฎเกณฑ์ที่น่าสนใจคือ กทม.มีข้อกำหนดหลักๆ 3 ด้านด้วยกัน 1.ความกว้าง แค่ไหนก็ได้แต่ต้องยึดกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (ปี 2542) ภายใต้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ปี 2524 และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ ปี 2544

2.ความสูง เท่าไหร่ก็ได้แต่อย่างน้อยต้องเทียบเท่าชั้นที่มีห้องขายตั๋วโดยสาร ให้รถดับเพลิงวิ่งเข้า-ออกได้สะดวก มีทางขึ้น-ลงสาธารณะ และเปิดใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

3.เรื่องค่าตอบแทน ตอนปี 2555 ทาง กทม.บอกว่าเริ่มต้นจุดละ 10 ล้านบาท เป็นค่าแป๊ะเจี๊ยะ เอ้ย! ค่าธรรมเนียมขอเชื่อมทางเดิน ไม่รวมจิปาถะบันเทิงให้กับรัฐบาล

แอบกระซิบว่า ปี 2560 ทาง “รฟม.” (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) บอกว่าเริ่มต้นต้อง 30 ล้านบาท ทั้งเชื่อมอุโมงค์รถไฟฟ้า MRT สายปัจจุบัน และ MRT สายใหม่ที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเรียกเป็นทางเดินยกระดับ ทางเดินลอยฟ้า ทางด่วนการเดินเท้า หรืออะไรก็แล้วแต่ สกายวอล์กไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างอีกต่อไป หากแต่เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ที่ต้องแชะภาพไว้อวดเพื่อน

ในอนาคต เชื่อหัวไอ้เรือง (คำพูดเด็ดของละครดังช่อง 3) ได้เลยว่า สกายวอล์กจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่แค่เพิ่มทางเดินเท้าให้กับเขตเมืองที่พลุกพล่าน ยังใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้อีกต่างหาก จ๊าบ เจงเจง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image