เจ้าขุนมูลนายของรัฐราชการไทย : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวแบบขำๆ กับสื่อมวลชน ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ. นครราชสีมา เรื่องกฎหมายห้ามมีกิ๊ก ว่าตนพูดเล่น ให้คนหายเบื่อ ไม่เข้าใจหรือ (ภาพจาก มติชนออนไลน์ วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2560)

เจ้าขุนมูลนายเป็นวัฒนธรรมของรัฐราชการ (รับมรดกจากรัฐจารีต) ที่ยกย่องข้าราชการเป็นเจ้าใหญ่นายโตเหมือนขุนนางโบราณ

ถ้าไปถึงท้องถิ่นไหน ที่นั่นต้องสรรเสริญว่า “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง”

วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายที่ไทยมีมาแต่ดั้งเดิม ยังดำรงอยู่ตราบจนปัจจุบัน รวมไม่น้อยกว่า 500 ปีมาแล้ว (ระบบศักดินา เริ่มยุคพระบรมไตรฯ รัฐอยุธยา ราว พ.ศ. 2000)

ดูได้จากท่าทีแบบเจ้าใหญ่นายโตของอธิบดี (ที่เป็นนายทหารใหญ่) มีต่อสื่อโทรทัศน์ กรณีขอความร่วมมือเสนอข่าวคราว ครม.สัญจรไปนครราชสีมา

Advertisement
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจบริเวณรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในวันแรกของการลงพื้นที่ตรวจราชการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 ที่ จ. นครราชสีมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์ วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2560)

หลับหูหลับตาเชียร์

โดยทั่วไปแล้วสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, ฯลฯ รวมหมดถึงโซเชียลยุคดิจิตอล ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบเสมอภาคและเสรีภาพในโลกประชาธิปไตยสากล

ย่อมไปกันไม่ราบรื่นกับวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายในรัฐราชการของไทย บางทียังรวมถึงอาจารย์บางมหาวิทยาลัย ที่ถูกหล่อหลอมมานานจากวัฒนธรรมเดียวกัน

Advertisement

ข้าราชการต้องการประจบสอพลอนาย จึงหมายให้สื่อมวลชนออกข่าวเชียร์นายในทางดีเท่านั้น เจ้านายบกพร่องต้องปิดไว้ไม่พูดถึง ไม่เสนอข่าว ทั้งนี้โดยความเชื่ออย่างสุจริตใจว่าราชการไทยเป็นนาย สื่อมวลชนทุกคนเป็น “ข้า” (ของราชการ)

แต่สื่อมวลชนไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เจ้าใหญ่นายโตของรัฐราชการ เพราะมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงเสนอทั้งด้านบวกและลบ อย่างนี้พวกรัฐราชการไม่พอใจ เพราะเท่ากับสื่อไม่อยู่ในโอวาทราชการ

ต้องเชียร์พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศไทย จัดแสดงด้านเดียวคือประวัติศาสตร์ศิลปะแบบเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส (เมื่อศตวรรษที่แล้ว) เพื่อสนองตัณหาคนกลุ่มเดียว ได้แก่ เจ้าอาณานิคมและคนชั้นนำ กับนักสะสมของเก่ามีค่า โดยไม่เป็นไปเพื่อประชาชนพลเมืองท้องถิ่นนั้น

คนไทยจึงไม่เข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แม้ครูนักเรียนก็ไม่นิยม เพราะไม่ตอบสนองข้อมูลความรู้ที่มีการเรียนการสอน

ถ้าสื่อมวลชนเสนอความจริงอย่างนี้ บรรดาข้าราชการของรัฐราชการไม่พอใจมากๆเพราะต้องการให้โฆษณาประชาสัมพันธ์แบบหลับหูหลับตายกย่องชื่นชมอย่างเดียว ว่าน่าดูน่าชม แสดงให้เห็นความเป็นไทย ยิ่งใหญ่ ไม่เหมือนใครในโลก

หากทำตามนั้น ใครอ่านก็รู้ ใครดูก็เห็น แล้วพากันออกอาการอย่างเดียวกันคือ แหวะ

ในแง่วิชาการก็แบบเดียวกัน สื่อใดใครมีความเห็นต่างจากประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม (ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยบางฝูงเลื่อมใส) บรรดาอาจารย์พวกนั้นจะรุมประณามว่าทำลายชาติ ศาสนา ไปโน่น

สื่อมวลชนกับมิวเซียม

สื่อมวลชนไทย จริงๆ แล้วตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้ใส่ใจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะทุกคนก็ดูไม่รู้เรื่อง เหมือนประชาชนพลเมืองทั่วไป (ที่ดูไม่รู้เรื่อง)

แต่ต้องพากันหลับหูหลับตาเชียร์กันไป ก็เพื่อตามแห่กันไปยังงั้นๆ แสดงตนเป็นคนรักชาติ รักความเป็นไทย

จึงพบว่าสื่อมวลชนไทย ไม่เคยตรวจสอบงบประมาณ (ซึ่งได้จากภาษีอากรของราษฎรทุกคน) ที่ทุกรัฐบาลใช้จ่ายทำพิพิธภัณฑ์ ว่าคุ้มหรือไม่กับที่ลงทุน? แล้วส่งผลดีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้านอย่างไร? ก้าวหน้าหรือล้าหลังทางสังคมวัฒนธรรม? ฯลฯ

ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ใช้มิวเซียมแบ่งปันข้อมูลความรู้เพื่อไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ให้ประชาชนพลเมือง

แต่ไทยใช้ตรงข้าม คือใช้เพื่อความเป็นสมัยเก่าคร่ำครึของสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image