อาศรม มิวสิก :ระเด่นลันได สมญาดนตรีเป็นอาชีพข้างถนนเต้นกินรำกิน โดย:สุกรี เจริญสุข

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายที่จะสร้างผลงานที่เป็นเรื่องของท้องถิ่น ก็ได้พยายามให้นักศึกษาสาขาละครเพลง ได้คิดและสร้างผลงานที่เป็นต้นฉบับ โดยทำเพลงขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้เป็นเรื่องของสังคมไทย จะได้ไม่ต้องเล่นเรื่องของฝรั่งทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าละครลิขสิทธิ์กันตลอดไป จึงสนับสนุนให้นักศึกษาได้แต่งเพลง ทำงาน สร้างสรรค์ผลงานใหม่ การทำละครเพลง ละครร้อง ซึ่งเรื่องที่เคยทำมาแล้ว อาทิ อินจัน พญากงพญาพาน และกำลังจะทำละครร้องเรื่อง ระเด่นลันได เป็นต้น

สำหรับวรรณคดีเรื่อง ระเด่นลันได เป็นบทละครนอกที่ประพันธ์ขึ้นโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งเป็นเรื่องที่ประพันธ์ขึ้นจากเรื่องจริง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ระเด่นลันไดนั้นเป็นแขกอินเดีย มีอาชีพขอทาน โดยที่ระเด่นลันไดใช้ดนตรี (สีซอ) เป็นอุปกรณ์ในการขอทาน ในอีกมิติหนึ่งก็เพื่อล้อเลียนอิเหนา โดยมีพระเอกเป็นแขกที่รูปชั่วตัวดำ อาศัยนอนอยู่แถวโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า หน้าที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

มาจะกล่าวบทไป               ถึงระเด่นลันไดอนาถา
เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา   ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์
อยู่ปราสาทเสาคอยอดด้วน     กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม     คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย
เที่ยวสีซอขอข้าวสารทุกบ้านช่อง  เป็นเสบียงเลี้ยงท้องของถวาย
ไม่มีใครชังชิงทั้งหญิงชาย      ต่างฝากกายฝากตัวกลัวบารมี
พอโพล้เพล้เวลาจะสายัณห์      ยุงชุมสุมควันแล้วเข้าที่
บรรทมเหนือเสื่อลำแพนแท่นมณี  ภูมีซบเซาเมากัญชา

บุคลิกของระเด่นลันได กลายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของอาชีพนักดนตรีในสมัยต่อๆ มา ผู้คนจดจำ ทำให้เห็นภาพที่น่ารังเกียจ และรู้สึกเกลียดกลัวที่จะเล่นดนตรี มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า “อย่าตีกลองแขก ทำให้ใจแตก จะไม่เป็นผล” วิชาดนตรีหรือการเล่นดนตรีได้กลายเป็นวิชาที่ไม่มีตำรา ไม่มีการจดบันทึก เพราะไม่ต้องการให้ลูกหลานสืบทอด เหมือนกับตำราช่างทั้งหลาย ปู่ย่าตายายก็ไม่ต้องการให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบทอด

Advertisement

ทั้งนี้เพราะเป็นวิชาของทาสและไพร่

นอกจากดนตรีจะเป็นวิชาชั้นต่ำ เป็นขอทานข้างถนน เต้นกินรำกินแล้ว การประกอบอาชีพก็ไม่พอกิน ไม่สามารถที่จะหาเลี้ยงชีพได้ เป็นคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของนักดนตรีก็คือ ติดยาเสพติด “เมากัญชา” จนเป็นความเชื่อของนักดนตรีหรือศิลปินส่วนหนึ่งว่า “การเมา” หรือเสพยาเสพติด ทำให้มีอารมณ์ที่จะสร้างงานศิลปะได้ ซึ่งกลายเป็นคุณสมบัติที่ยากแก่การเปลี่ยนแปลง

ความจริงแล้ว “คนเมา” ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอาชีพ เพราะคนที่กินเหล้าทุกคนก็เมาได้ และไม่ได้หมายความว่าศิลปินทุกคนจะต้องเป็นขี้เมา แต่การเมาของศิลปินคนหนึ่ง ไม่ได้เหมาเอาว่าศิลปินทุกคนจะต้องเมาด้วย อาการมึนเมาทำให้ขาดสติความยั้งคิด ทำให้รู้สึกกล้าหาญและไม่รู้ตัว ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือดนตรี คนที่สร้างสรรค์ได้จะต้องมีสติสัมปชัญญะ
ระเด่นลันได ยังมีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งก็คือ รักเมียคนอื่น เธอชื่อนางประแดะ บุคลิกเป็นผู้หญิงที่ดูขี้เหร่ ไม่มีความสวยงามเอาเสียเลย แต่ก็ชอบเสียงเพลง ชอบระเด่นลันไดสีซอร้องเพลง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้นางประแดะหลงใหลปันใจให้กับระเด่นลันได

Advertisement

สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด     งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา   ทั้งสองแก้มกัลยาดั่งลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย     จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ      ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงถุงตะเครียว    โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม   มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

ระเด่นลันได เป็นที่มาของดนตรีเป็นวิชาที่ต่ำต้อยด้อยค่า เป็นอาชีพข้างถนนเต้นกินรำกิน เป็นวิชาของวนิพก แถมเป็นวิชาของทาสและไพร่ที่คอยบำรุงบำเรอเจ้านาย เป็นวิชาที่เสียแรงรู้เสียแรงเรียน เพราะเป็นวิชาที่ไม่มีแก่นสาร พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ พร่ำสอนและสืบทอดต่อๆ กันมา คติชาวบ้านก็สั่งสอนไว้ว่า “อย่าร้องเพลงในครัวได้ผัวแก่” ดังนั้น ดนตรีในสังคมสยามจึงมีความเป็นวิชาการน้อย โดยมีสาเหตุใหญ่มาจากความเชื่อและภาพลักษณ์ของระเด่นลันได

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาดนตรีชั้นสูงของชาติ ได้มีโอกาสยกย่องสร้างประติมากรรมของระเด่นลันไดขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกในฐานะนักดนตรีคนสำคัญที่บันทึกไว้ในวรรณคดี เป็นประวัติศาสตร์สังคมในอีกมิติหนึ่ง นอกจากนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์บอกกับทุกคนว่า ดนตรีไม่มีชนชั้น ตั้งแต่ยาจก วนิพก ไปกระทั่งเจ้านาย ดนตรีไม่มีศาสนา ดนตรีเป็นสากลที่ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีอะไรที่จะขวางกั้นดนตรีได้ เพราะดนตรีไม่มีพรมแดน ทุกคนก็สามารถเข้าถึงดนตรีได้ ทุกเพศทุกวัย

ดนตรีไม่มีอายุ ไม่มีภาษา ดนตรีสามารถที่จะกล่อมเกลาจิตใจ เข้าถึงจิตใจ ช่วยพัฒนาจิตใจ ช่วยปลอบประโลมใจ และเป็นเครื่องช่วยปลุกใจให้เบิกบาน

ปลายปี พ.ศ.2552 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบหมายให้นายโสพิศ พุทธรักษ์ นายช่างใหญ่ของกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ปั้นจากดินขนาดหนึ่งเท่าครึ่ง แล้วนำไปหล่อด้วยสำริด ตั้งอยู่บริเวณทางเข้ามิวเซียมดนตรีอุษาคเนย์ เป็นรูประเด่นลันได แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประติมากรรมระเด่นลันได สีซออู้ มีหมาขี้เรื้อนหอนเห่าอยู่ 3 ตัว เพื่อบอกให้สังคมรู้ว่า ดนตรีอยู่ที่ไหน อยู่กับใครก็ได้ ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต มีเครื่องดนตรีอยู่คู่กายวิชาอื่นๆ ล้วนเป็นวิชาชีพ แต่ดนตรีกลายเป็นวิชาชีวิต ระเด่นลันไดเป็นวีรบุรุษของนักดนตรี มีความกล้าหาญที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือหากิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image