คำถาม คำตอบ “หนี” คือ ยอดกลยุทธ์ กรณี “ยิ่งลักษณ์”

แม้ภายใน “36 กลุยทธ์แห่งชัยชนะ ในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” จะบัญญัติให้ “หนีคือยอดกลยุทธ์” ถึงกับยก “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ” มาอ้างอิงด้วยว่า

ถอยศึกทั้งทัพ ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม

แต่ต่อกรณี “25 สิงหาคม” แทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยึดกุม “หนี คือ ยอดกลยุทธ์” มาเป็นหนทางออก

กลับยืนยัน “ไม่หนี”

Advertisement

นี่ไม่เพียงแต่จะเดิน “หนทาง” อันตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับหลายๆ คนที่ประสบชะตากรรมในทางการเมือง ในทางการทหาร

เท่ากับเป็นการละเมิดหลักการอันซุนวูตราไว้ “แข็งพึงเลี่ยงเสีย”

เพราะดูเหมือนว่านับแต่ประสบกับคดีความเมื่อต้นปี 2558 เป็นต้นมา กระทั่งมาถึงเดือนสิงหาคม 2560 น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับไม่ยอมหนี

แล้ว “ผล” เป็นอย่างไร

ความจริงแล้ว หนังสือ “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ ในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” อัน บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงจากภาษาจีน

ได้อรรถาธิบาย “หนีคือยอดกลยุทธ์” ไว้อย่างรัดกุม

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อรบกับข้าศึก หากข้าศึกแข็ง เราอ่อน อาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะเสียก่อน

ดังที่มีคำกล่าวใน “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ”ว่า “ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม”

ชี้ชัดว่าการถอยหนีในการทำสงครามนั้นมิใช่ความผิดพลาดหากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการรบที่มักจะพบเห็นเสมอ การถอยเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเพื่อชิงโอกาสตอบโต้ในภายหลัง

มิใช่ถอยหนีอย่างพ่ายแพ้หมดรูปตีโต้กลับมิได้อีก

นี้เป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะเลวกว่า ใช้รูปแบบถอยหนีเพื่อหาโอกาสพิชิตข้าศึกอย่างหนึ่ง

คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะหนีอย่างไร จะถอยอย่างไร

กระนั้น หากกล่าวอย่างปรับประสานกลยุทธ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อคดีความแม้จะมิได้ใช้วิธีการหนี หากแต่การต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็สะท้อนลักษณะพิเศษ

ถ้าอ่าน “บทสรุป” เบื้องหน้าสถานการณ์ที่จำเป็นต้อง “หนี”

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ค่อยเป็นผลดีจะต้องหลีกเลี่ยงกับการสู้รบขั้นแตกหักกับข้าศึก ทางออกจึงมีอยู่ 3 ทางคือ

1 ยอมจำนน 1 เจรจาสงบศึก และ 1 ถอยหนี

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การยอมจำนนคือการพ่ายแพ้อย่างถึงที่สุด การเจรจาสงบศึกคือการพ่ายแพ้ครึ่งหนึ่ง

ถอยหนีกลับอาจจะแปรเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะได้

ดังนั้น จึงได้เรียกชื่อกลยุทธ์นี้เป็น “หนีคือยอดกลยุทธ์” ถอยหนีถึงถอยเลี่ยงอย่างมีแผนเป็นฝ่ายกระทำ ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นคุณมิใช่แต่หนีอย่างลืมหูลืมตา เมื่อทัพอ่อนเผชิญทัพแข็งมักจะใช้วิธีการหนี

เพื่อกระจายกำลังข้าศึก เพื่อสร้างโอกาสกลับมาสู่ชัยชนะ

ถามว่าในความเป็นจริง การไม่หนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แฝงการหนีในระดับหนึ่งเพียงหนีจากจุดแข็งของข้าศึก ขณะเดียวกัน ก็ช่วงชิงสร้างจุดแข็งอันเป็นของตนเอง

เส้นทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบตลอด 2 รายทางนับแต่ก่อนและรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เด่นชัดอย่างยิ่ง

เด่นชัดว่าอยู่ในสภาพถูกรุก และตั้งรับ

ไม่อยากหนี แต่ก็ต้องหลบ ไม่อยากหลบ แต่ก็ต้องพลิกแพลง กระบวนการต่อสู้ระหว่างการถอยระหว่างการหนี ให้กลายเป็นการรุก

นั่นก็คือ วิถีแห่งสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image