รัฐวิสาหกิจไทย ขุมทรัพย์ของใคร โดยสมหมาย ภาษี

พูดถึงรัฐวิสาหกิจของไทยแล้ว พูดกันได้ไม่รู้จบ เพราะรัฐวิสาหกิจมีปัญหามากมายมาแต่โบราณกาลแล้ว ถ้าไล่ไปทีละแห่งๆ ก็จะพบปัญหาสารพัดสารพัน ยามใดมีประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะรู้สึกว่าปัญหาของรัฐวิสาหกิจจะโผล่มาให้ได้ยินได้ฟังมากหน่อย ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า นักการเมืองของไทยนิยมเข้าไปกุลีกุจอกับรัฐวิสาหกิจที่อยู่ใต้กระทรวงของตน จะพยายามจัดพรรคพวกของตนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการมากบ้างน้อยบ้าง ที่เป็นข่าวให้ได้ยินได้ฟังกันมากก็เพราะว่ามีการแก่งแย่งกันดู แก่งแย่งกันหาผลประโยชน์ รีบๆ ทำ รีบๆ เก็บเกี่ยวเดี๋ยวเดียวหางก็โผล่ ประกอบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งมีการก้าวก่ายหรือใส่ร้ายใส่ความกันบ่อย ข่าวก็จะออกมาสู่สาธารณะบ่อยเป็นธรรมดา

ยามใดที่รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจโดยทหาร รัฐบาลทหารก็สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จและเงียบเชียบกว่ารัฐบาลพลเรือน ไม่มีข่าวมูมมามจนข้าวปลาติดปากเปรอะเปื้อนให้สาธารณชนได้เห็น จึงดูเหมือนว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าสามารถส่องกล้องเข้าไปดูให้ลึกแล้ว ก็ไม่ใช่จะดูเหมือนตู้โชว์สักเท่าใด มันเป็นธรรมชาติของวัวเคยขาม้าเคยขี่อยู่แล้ว

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อยึดอำนาจรัฐได้ในเดือนพฤษภาคม 2557 ถัดมาเพียงเดือนเดียวก่อนมีการตั้งคณะรัฐมนตรีเสียอีก คือในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 หัวหน้า คสช.ก็มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 75/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง แบบเป็นจุดศูนย์รวมสั่งการได้ทุกอย่าง หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า One Stop Command เพื่อวางนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ งบประมาณ การดำเนินการตามโครงการต่างๆ และรวมทั้งการดูแล การแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งหลายแห่งอาจรวมถึงการดูแลผู้อำนวยการและหรือผู้ว่าการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย คณะกรรมการชุดนี้ หัวหน้า คสช.นั่งเป็นประธานเอง มีรองหัวหน้า คสช.ด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวงบางกระทรวง เลขาธิการสภาพัฒน์ และเอกชนประมาณ 5 รายเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ

การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการ คนร.ที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธานกรรมการนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 3 ปี ก็ว่ากันไปตามอำนาจและกลไกที่เป็นอยู่ ที่เห็นได้ชัดก็คือ เป็นตัวจักรเบ็ดเสร็จในการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ นับตั้งแต่ประธานคณะกรรมการ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องสนองนโยบายของ คสช. เมื่อเลือกกรรมการได้ก็นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีอนุมัติอย่างสบาย เพราะคนเลือกกับคนอนุมัติเป็นคนเดียวกัน

Advertisement

จะเห็นได้ว่าประธานคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่สำคัญหรือที่สินทรัพย์มาก การลงทุนสูงหลายแห่ง จึงเป็นนายทหารที่เกษียณอายุ 3-4 ปีมานั่งเอง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรือ รฟม. ประธานชื่อ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประธานชื่อ พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด ประธานชื่อ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ประธานชื่อ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม บริษัท อสมท จำกัด ประธานชื่อ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข โรงงานยาสูบ ประธานชื่อ พล.ท.สุรไกร จัตุมาศ เป็นต้น

ซึ่งขณะนี้จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 55 แห่ง มีนายพลทหารนั่งเป็นประธานทั้งสิ้น 11 นาย หรือเท่ากับร้อยละ 20 ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็จะมีการเสริมเติมกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ด้วยนายทหารทั้งที่ได้เกษียณไปแล้ว และที่กำลังปฏิบัติราชการอยู่ เข้าไปมากบ้างน้อยบ้างตามที่คนตั้งเห็นว่าเหมาะสม

พลเรือนหรือข้าราชการประเภทอื่นๆ ไม่ต้องไปมองดูเรื่องการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยสายตาที่อิจฉาเลย เพราะตามที่ประชาชนทั่วไปเขาเข้าใจกันก็น่าจะถูกต้อง ว่ารัฐวิสาหกิจนั้นเป็นกิจการของรัฐที่ทางการเมืองผลัดกันชม เพื่อให้เห็นภาพนี้มากขึ้น จึงใคร่ขออนุญาตนำข้อเขียนของฝั่งขวาเจ้าพระยา โดย โชกุน ในหนังสือผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 สิงหาคม 2560 ตอนหนึ่งที่ว่า “…เพราะรู้ๆ
กันอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นขุมทรัพย์ที่ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ เอกชน ตักตวงผลประโยชน์ หลายๆ แห่ง แม้จะขาดทุน แต่ก็มีงบลงทุน งบจัดซื้อจัดจ้างทุกปีเป็นน้ำซึมบ่อทรายที่ไม่เคยแห้งเหือด เพราะมีงบประมาณเติมให้เป็นรายปี นักการเมืองเป็นเพียงหนึ่งในผู้ตักตวงหาผลประโยชน์จากขุมทรัพย์แห่งนี้ แต่เครือข่ายผลประโยชน์รัฐวิสาหกิจยังประกอบด้วย ข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน ตัวแทนหรือนายหน้าหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งยังอยู่กันครบ ที่หายไปก็คือ นักการเมือง โดยผู้มาแทนคือ ผู้ที่เกาะเกี่ยวเครือข่ายอำนาจของ คสช.”

Advertisement

ชัดเจนใช่ไหมครับ ขอกลับมาเรื่องภารกิจของ คนร.อีกหน่อย คือที่ผ่านมา 3 ปีนั้นยังไม่ใช่ภารกิจสำคัญที่ได้ทำไป ที่สำคัญที่สุด คือการยกร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … ซึ่งได้ยกร่างกันมาร่วม 3 ปีแล้ว และเพิ่งจะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 นี้เอง และต่อจากนี้ก็ต้องการนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าจะใช้บังคับได้ในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.2560-ก.ย.2561)

เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะมีการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซุปเปอร์โฮลดิ้ง ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และสำคัญ 12 แห่ง เช่น บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท การบินไทย บริษัท ขนส่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย บริษัท ทีโอที บริษัท ปตท. บริษัท อสมท เป็นต้น โดยซุปเปอร์โฮลดิ้งนี้จะมีการสรรหากรรมการมาเป็นผู้กำกับดูแล แต่วิธีการสรรหาที่นำมาใช้กันนั้น จะเป็นอย่างไรประชาชนหาทราบไม่

รูปแบบซุปเปอร์โฮลดิ้งนี้ เป็นรูปแบบที่คล้ายๆ กับที่สิงคโปร์ใช้อยู่ แต่ที่สิงคโปร์ทำแล้วได้ผลดีมาก เพราะสิงคโปร์มีพรรคการเมืองใหญ่ตลอดกาลพรรคเดียว นำโดยนายลี กวน ยู ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ตอนนี้ก็มีลูกชาย คือ นายลี เซียน หลุง เป็นผู้สืบตำแหน่งนายกฯแทนพ่อ ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมาใช้กัประเทศไทย จะต้องมีปัญหาว่าจะใช้คนของใครมาคุมซุปเปอร์โฮลดิ้งนี้ เพราะยิ่งการเมืองเปลี่ยนกันบ่อยเช่นนี้ และจะหวังฝากผีฝากไข้กับรัฐบาลเลือกตั้งไม่ค่อยได้เหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย ไปๆ มาๆ ซุปเปอร์โฮลดิ้งนี้อาจเละตั้งแต่กฎหมายนี้คลอดออกมาก็ได้

ประเทศไทยเราตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 จนถึงประมาณปี พ.ศ.2505 หรือ 30 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐวิสาหกิจที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ล้วนเพื่อสนองความจำเป็นให้เกิดการพัฒนาประเทศชาติ สูตรการตั้งรัฐวิสาหกิจก็เพื่อจัดสิ่งจำเป็นเบื้องต้นให้ประชาชนคนไทยได้ใช้กันก่อน

สมัยก่อนปี พ.ศ.2475 ที่นับได้น่าจะมีการรถไฟ ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารมณฑล ไฟฟ้า ประปา ซึ่งบางแห่งมีมาก่อนหน้านั้น ช่วงต่อมาก็เป็นเรื่องการจัดสิ่งที่มีให้เข้ารูปแบบและตั้งเพิ่มที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า ทั้งผลิตและจำหน่าย ประปา ทั้งในนครหลวงและส่วนภูมิภาค บริษัทน้ำมันสามทหาร องค์การโทรศัพท์ ธ.ก.ส. บริษัทเดินอากาศไทย เป็นต้น รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้รับการบริหารแบบโบราณ แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ก็มีความจริงจังในการดูแลให้เจริญเติบโตเพื่อเป็นพลังที่เข้มแข็งของชาติ

หลังจากประมาณปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา ได้เกิดรัฐวิสาหกิจใหม่ๆ ขึ้นตามวิวัฒนาการของโลก เช่น การท่องเที่ยว เดิมเรียกว่า อ.ส.ท. องค์การสื่อสารโทรคมนาคม บริษัท ปตท. การทางพิเศษ ขสมก. อสมท เป็นต้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจจึงมีความเข้มข้นเกิดขึ้นมาก

ในท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง การปฏิวัติหลายครั้งหลายคราได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบบเผด็จการที่บริหารโดยคณะนายทหาร และในบางครั้งก็เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบมั่ง ในช่วงนี้แหละที่ได้มีความพยายามของบางรัฐบาลที่จะปฏิรูปหรือพลิกผันรัฐวิสาหกิจ เช่น การให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน หรือการแปรรูปที่เรียกว่า Privatization ที่ได้มีการริเริ่มที่ดีสมัยป๋าเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีการดำเนินการไปหลายแห่ง แต่ในระยะหลังที่มีรัฐบาลเลือกตั้ง แทนที่จะได้ผลดี ก็ปรากฏว่า ควบคู่กับความพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย กลับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจมากมายและแยบยลขึ้น จนกระทั่งที่เห็นในทุกวันนี้ ประชาชนผู้อยากเห็นรัฐวิสาหกิจที่ดีมีประสิทธิภาพ แทบจะต้องถอดใจ เพราะไม่รู้จะวางใจใคร ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการปฏิวัติ

ความพยายามที่จะเปลี่ยนรูปแบบหรือ Model การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของชาติจากมือของกระทรวงการคลังและกระทรวงเจ้าของรัฐวิสาหกิจมาอยู่ในมือของคณะบุคคล ที่เรียกว่าซุปเปอร์โฮลดิ้ง ที่กฎหมายกำลังจะคลอดอยู่ในอีกไม่นานนี้ ใคร่ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องระดับสูงทั้งหลายและรวมทั้งภาคเอกชนที่คลุกคลีกับรัฐวิสาหกิจ และผู้สนใจในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศช่วยตั้งใจพิจารณาด้วยความรักชาติจริงๆ ว่า นับตั้งแต่วันที่มีการเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้เลย 3 ขวบปีแล้ว การทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ของไทยได้เหือดหายไปบ้างไหม ใครที่รู้อยู่ในอกเห็นนรกอยู่ในใจ ลองถามเองและตอบเองหน่อยก็ได้

ไหนๆ ก็จะปฏิรูปกันใหญ่โตแล้ว ไหนๆ การสตาร์ตอัพ หรือการคิดริเริ่มของใหม่ ก็ถูกเร่งรัดมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกตั้ง 4-5 เดือน ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ ใช้โอกาสที่กำลังจะสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำการแผลงฤทธิ์ให้สะท้านวงการรัฐวิสาหกิจตั้งแต่บัดนี้สัก 2 เรื่องจะเป็นไรไป

ข้อ 1 ใครที่นั่งเป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจอยู่ ที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วยเลย ส่วนจะตั้งหรือสรรหาคนใหม่ทันหรือไม่ ก็ไม่เห็นเป็นไร ให้ใครรักษาการอยู่สักเดือนสองเดือนก็ได้ เรื่องนี้ออกเป็นนโยบายก็พอไม่ต้องงัดมาตรา 44 มาใช้

ข้อ 2 ใครที่นั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกิน 2 แห่ง ตามนโยบายเดิมได้ 3 แห่ง ให้ปรับลดเหลือ 2 แห่ง ซึ่งก็มากพอแล้ว ยิ่งนั่งมากไปดูงานเมืองนอกกันมาก เดือนๆ ไปประชุมไม่ค่อยอ่านแฟ้มเลย ใช้แต่ประสบการณ์ไปนั่งยกมือถามหรือให้ความเห็น โดยไม่ได้ทำการบ้านกันแทบทั้งนั้น ดังนั้น ให้เป็นกรรมการคนละไม่เกิน 2 แห่งก็พอ ทุกวันนี้เป็นหนุมานกันหมดแล้ว ให้ท่านนายกฯเป็นคนเดียวเถอะ นโยบายนี้สิ้นกันยายนนี้ให้ใช้เลย จะได้คล้องจองกับข้อ 1 ด้วย ดีไหมครับท่านประธาน

ข้อ 3 ใครที่นั่งเป็นประธานหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจใดนานเกินควร หรือแม้แต่วิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่แต่ไม่ถึง 50% ก็ตาม ควรที่จะต้องโยกออกเสียบ้าง อย่าปล่อยให้นั่งทับพรมอยู่จนหนาเตอะ และมีกลิ่นเหม็นออกมาเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image