“กรมวิชาการเกษตร”โยนบอร์ดใหญ่วัตถุอันตรายพิจารณาแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอสอ้างข้อมูลไม่พอ

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการพิจารณายกเลิก 3 วัตถุอันตราย คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังจัดประชุมรวบรวมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน อิงข้อมูลวิชาการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักว่า ล่าสุด เห็นควรให้จำกัดการเฉพาะใช้ “ไกลโฟเซต” และไม่มีการยกเลิกใช้สารตามข้อเสนอ แต่ให้ผู้ประกอบการรายงานการนำเข้า การผลิต การส่งออก การจำหน่าย พื้นที่การใช้ และปริมาณคงเหลือ และต้องระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากวัตถุอันตรายควบคุมการโฆษณา ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ส่วนสารอีก 2 ชนิด คือ พาราควอตและควอร์ไพริฟอส ขณะนี้กรมยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเห็นสมควรที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาว่าจะยกเลิกสารดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้กรมจะเสนอข้อมูลที่รวบรวมได้จากการรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ 1.ด้านพิษวิทยาของสาร ด้านประสิทธิภาพในการ 2.ด้านการห้ามใช้ในต่างประเทศ 3.ด้านการห้ามใช้ตามข้อตกลงของอนุสัญญา 4 ภาคี 4.ด้านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง 4 ครั้ง และ5.ด้านผลกระทบสุขภาพอนามัย ที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขส่งไปประกอบการพิจารณาด้วย คาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการฯได้ภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าคณะกรรมการฯจะมีการจัดประชุมอีกครั้งในเดือนหน้า

“จากการรวบรวมและพิจารณาข้อมูล 5 ด้านของกรม พบว่า ทั้ง 3 สารมีความเป็นพิษในระดับน้อย ถึงปานกลางเท่านั้น นอกจากนี้ทั้ง 3 สาร มีเพียงบางประเทศที่ห้ามใช้ และอีกหลายประเทศไม่ได้ห้ามใช้ หรือ ในบางกรณีนี้มีการห้ามใช้ในสินค้าบางชนิดเท่านั้น และทั้ง 3 สารก็ไม่ได้เป็นสารต้องห้ามในทุกอนุสัญญา อย่างไรก็ตามในส่วนการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ครั้ง ยังเสียงแตกออกเป็น 2 ด้าน คือ มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนผลกระทบสุขภาพอนามัย ข้อมูลทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้พิจารณา “นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาออกมาเป็นในทิศทางใด กรมซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจขึ้นทะเบียนสารดังกล่าว ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามอย่างเต็มที่ ถ้าคณะกรรมการฯมีมติให้ยกเลิกใช้สารดังกล่าว กรมก็พร้อมที่จะยกเลิกทันที อย่างไรก็ตามในส่วนของการหาสารมาใช้ทดแทนสารที่ถูกยกเลิกไปนั้น กรมเตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ในส่วนของใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับสารดังกล่าวซึ่งมีบางส่วนกำลังจะหมดอายุลง ขณะนี้กรมได้สั่งการให้ชะลอการต่อใบอนุญาตไปก่อนจนกว่าคณะกรรมการฯจะมีมติออกมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image