ข้อเสนอแนะสำหรับหมอในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ : โดย พลเมืองดื้อ

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการมาได้ 15 ปี ทำให้ระบบสาธารณสุขจากที่เคยบิดเบือนเป็นระบบแบบอุปถัมภ์ หมอเป็นเทพเจ้า (กาลี หนังสือดังสมัยหนึ่ง) มาเป็นหมอเป็นผู้ให้บริการ เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนๆ กับอาชีพครู อาชีพวิศวกร อาชีพสถาปนิก อาชีพตำรวจ อาชีพทหาร ดังนั้น หมอคือผู้รักษาโรคตามสาเหตุและอาการ โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการบริษัทและคนกำหนดราคาค่ารักษา

และสำหรับประเทศไทยหมอยังเป็นข้าราชการด้วยเป็นข้าของรัฐและประชาชน รับเงินเดือนเป็นภาษีของพลเมืองไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ระบบหลักประกันสุขภาพเปลี่ยนแปลงการบริหารไปอยู่ในมือของเจ้าของสุขภาพคือพลเมืองทุกคน

โดยมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ในการจัดหาเงินค่ารักษาพยาบาล และออกแบบว่าประชาชนพลเมืองควรได้รับการรักษาอย่างไรเมื่อเจ็บป่วย ทั้งนี้ต้องได้รับบริการอย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพด้วย และต้องมีความเป็นตัวของตัวเองในการรับฟังแนวทางการรักษา

นั่นคือมีสิทธิสอบถามปรึกษาหารือความเห็นของหมอคนอื่นๆ ได้ด้วยในการรักษาโรคเดียวกันหากไม่มั่นใจ และการตรวจสอบว่าราคาค่ารักษานั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันกำหนด ทั้งผู้เชี่ยวชาญ กระทรวงสาธารณสุข พาณิชย์ และฝ่ายจัดหาเงิน สปสช. ฝ่ายสนับสนุนสุขภาพประชาชน สสส. ฝ่ายรัฐบาลที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญในหน้าที่ของรัฐและการได้รับสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2533

Advertisement

ความว่า “ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้น แต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”

ระบบหลักประกันสุขภาพจึงเป็นระบบที่ทุกคนช่วยกันทำให้ดีที่สุด ไม่บิดเบือนและไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญคือ การทำให้พลเมืองไทยผู้เสียภาษีมีหลักประกันว่าได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยทุกคน ใคร่ขอนำเสนอแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ คือ

1.เป็นระบบสำหรับพลเมืองในแผ่นดินไทยทุกคน มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ออกแบบว่าพลเมืองไทยแบบใดควรได้รับสิทธิแบบไหน คนเคลื่อนย้ายแรงงานควรได้รับแบบไหนผ่านการซื้อประกันสุขภาพที่เหมาะสม หรือรูปแบบอื่นๆ ทุกคนร่วมจ่ายเข้าระบบหลักประกันสุขภาพด้วยระบบภาษีสุขภาพ

Advertisement

2.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกองทุนที่ดูแลระบบสุขภาพครบวงจร ทั้งส่งเสริมสุขภาพ รักษา และฟื้นฟู

3.การควบคุมโรคระบาด การป้องกันโรคระบาด ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ

4.จัดระบบบริหารโรงพยาบาลให้เป็นอิสระ มีนักบริหารที่ชำนาญทำหน้าที่บริหารแทนหมอ

5.บอร์ดหลักประกันสุขภาพ เป็นบอร์ดที่เน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชนพลเมืองในไทยให้ได้รับบริการสุขภาพ ไม่ใช่บอร์ดบริษัทประกันสุขภาพที่ต้องอาศัยนักสถิติประกันสุขภาพมานั่งคำนวณว่าจะขายประกันสุขภาพแพคเกจใดจึงจะได้กำไรสูงสุด การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ผู้ถือหุ้นกำไรเห็นๆ แต่องค์ประกอบบอร์ดต้องมีตัวแทนประชาชนพลเมือง นักวิชาการ นักการเงินการคลัง เป็นองค์ประกอบหลัก

6.ที่มาของตัวแทนภาคประชาชนจึงจำเป็นและสำคัญ ซึ่งในอดีตก่อนหน้าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ไม่มีกฎหมายใดที่เปิดให้มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วมเป็นบอร์ดแบบอิสระมาจากการเลือกตั้งกันเอง ลงทะเบียนแสดงตัวชัดเจนว่าทำงานและเกี่ยวข้องด้านสุขภาพของประชาชน ดังนั้น ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมีตัวแทนองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านต่างๆ

กลุ่มต่างๆ 9 ด้าน มีทั้งกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น กลุ่ม HIV กลุ่มไตวาย กลุ่ม HIV เป็นกลุ่มประชาสังคมที่เป็นพลเมืองที่มุ่งมั่นติดตามตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพ ระบบยาในประเทศ การผูกขาดสิทธิบัตรยา การกำหนดราคายาเกินจริง การเจรจาเขตการค้าเสรี นับเป็นกลุ่มพลเมืองที่ก้าวหน้ามาก

7.กลุ่มตัวแทนประชาชนที่เป็นบอร์ด เมื่อได้รับเลือกแล้วต้องทำหน้าที่เป็นบอร์ดตามบทบาท อำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ทำตัวเป็นเหมือน ส.ส. ส.ว.บางคน ที่ได้รับเลือกเข้ามาแล้วลืมตัวว่ามาทำงานให้เฉพาะจังหวัดตัวเอง ลืมว่าต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายให้ประชาชนทั้งประเทศ หรือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นบอร์ดก็ต้องทำบทบาท อำนาจหน้าที่ บอร์ดที่ต้องจัดหาระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีให้ประชาชน ไม่ใช่การบริหารกระทรวงสาธารณสุข หรือหมอที่เข้ามาเป็นบอร์ด ในฐานะนักวิชาการการแพทย์แผนไทยก็ต้องทำหน้าที่บอร์ด ไม่ใช่มาพูดเฉพาะเรื่อง ดังนั้น ควรมีตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้รับบริการที่ครอบคลุมกลุ่มผู้รับบริการ เช่น เดิมให้เลือกกันเองจาก 9 ด้าน เหลือ 5 ด้าน ควรปรับเป็นให้เป็นบอร์ดทั้ง 9 ด้าน

8.หมอ ควรได้รับการดูแลให้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม การกระจายหมอให้เพียงพอในแต่ละพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรแตกต่างกันไป ควรเปิดให้โรงพยาบาลในชนบทมีหมอเพิ่มขึ้น ทั้งหมอที่เป็นข้าราชการ ที่เป็นพนักงานรับจ้าง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการของโรงพยาบาล

พลเมืองคือพลังที่ขับเคลื่อนสังคม คือคนที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อการพัฒนาสังคม พร้อมจะสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพตามสภาพฐานะรายได้ของตน และพร้อมให้ความเห็นต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ จึงจะได้ชื่อว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้าให้ทุกคน

พลเมืองดื้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image