ปรากฏการณ์ ‘แปะ’ กับการประกันคุณภาพการศึกษาไทย : โดย คุรุชน

หลายปีที่ผ่านมามีกฎเกณฑ์มากมายถูกสร้างขึ้นในวงวิชาการศึกษาชั้นสูง ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา เหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดและการดิ้นรนเอาตัวรอดในหมู่คนทำงานวิชาการ ทั้งในระดับอาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นและเริ่มแผ่กระจายเป็นดอกเห็ดในชุมชนอุดมศึกษาหลายแห่ง คือ ปรากฏการณ์ “แปะ” ที่น่าสนใจมีดังนี้

เนื่องจากอาจารย์ทุกคนถูกบังคับให้ต้องมีตำแหน่งวิชาการขั้นต่ำคือรองศาสตราจารย์ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการเซ็นสัญญาต่ออายุงาน ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปก็ต้องมีบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ตีพิมพ์ก่อนจบ ถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นอันหนึ่งก่อนสำเร็จการศึกษา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็อยากได้ชิ้นงานของอาจารย์ก็ดี ของนักศึกษาก็ดี หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันก็ได้ เป็นผลงานประกันคุณภาพของคณะ ฝ่ายบริหารก็ต้องการคะแนนประกันคุณภาพสูงๆ เพื่อหน้าตาหรืออะไรก็ตามที

เหล่านี้จึงนำไปสู่การทำข้อตกลงกันภายในหน่วยงาน มีการจับมือกันสร้าง “กลไก” บางอย่างเพื่อตอบสนอง “ระบบ” ประกันคุณภาพ และรักษา “ความมั่นคง” ในหน้าที่การงานให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงนั้น คือการให้อาจารย์หรือนักศึกษาคนหนึ่งคนใดยื่นขอทุนทำผลงานวิชาการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ผลงานที่ทำเสร็จแล้วชิ้นนั้นสามารถมีชื่อของคนอีกหลายคน “แปะ” อยู่ด้วยในฐานะผู้ร่วมดำเนินการได้ บทความวิจัยหรือวิชาการชิ้นเล็กๆ ไม่ถึงสิบหน้าชิ้นหนึ่งจึงอาจมีชื่อของผู้ร่วมเขียน (ซึ่งเขียนจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้) ได้อีกหลายคน แต่ที่นิยมทำกันอยู่ในตอนนี้คือมีผู้เขียน 4-10 คนต่องานวิจัยหรือบทความที่เกี่ยวข้องหนึ่งชิ้น

Advertisement

ลองคิดเล่นๆ ดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากการสร้างและใช้ “กลไก” ตาม “ระบบ” แบบนี้

อาจารย์หลายคนที่เข้าร่วมใน “ระบบ” และขับเคลื่อน “กลไก” นี้ กลายเป็นผู้มีผลงานวิชาการจำนวนมากภายในช่วงเวลาสั้นๆ โดยที่ตนเองไม่ต้องลงมือค้นคว้าหรือเขียนเอง ทั้งได้ตำแหน่งวิชาการโดยไม่ยาก เพราะมีคุณสมบัติ “เข้าได้” ตามเกณฑ์ที่ “ระบบ” ตั้งไว้

คนเหล่านี้เมื่อได้ตำแหน่งวิชาการแล้วก็มักจะได้รับการติดต่อทาบทามให้เป็น “รีดเดอร์” ตรวจสอบและประเมินผลงานวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งผลงานของผู้ที่จะยื่นขอตำแหน่งวิชาการต่อไปด้วย

Advertisement

แต่ความที่ได้คุณวุฒิมาอย่างง่ายๆ คนเหล่านี้จึงทำได้เพียงประเมินคุณภาพของงานแต่ละชิ้นที่ “รูปแบบ” ไม่ใช่ที่ “เนื้อหา” งานที่ใส่ข้อมูล (information) อย่างฟุ่มเฟือยและไร้ทิศทาง กลายเป็นงานที่มีคุณภาพ ส่วนงานที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ (original knowledge) กลับถูกตั้งคำถามและมองว่าออกนอกลู่นอกทาง “ปริมาณ” ของข้อมูลกลายเป็นตัวตัดสิน “คุณภาพ” ของการศึกษา ถ้าอ้างข้อมูลเยอะๆ ใช้คำศัพท์ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องแปลว่าเป็นงานวิชาการชั้นสูง

บุคลากรเหล่านี้จำนวนมากผ่านการอบรมระบบประกันคุณภาพมาแล้ว จึงแม่นยำในกฎเกณฑ์และรูปแบบ แต่ดูเหมือนไม่มีความรู้ความเข้าใจใดๆ มากนักเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการเรียนการสอนที่ตนรับผิดชอบอยู่ อาจารย์หลายคนมีผลงานการตรวจ “รูปแบบ” ของหลักสูตรต่างๆ มากมาย แต่กลับไม่มีผลงานด้าน “เนื้อหา” ที่เป็นการต่อยอดความรู้ในสายวิชาการของตน

แต่ก็น่าแปลกที่ผลงานการตรวจรูปแบบหรือหลักสูตรเหล่านั้นกลับสามารถถูกนับให้เป็นผลงานด้านเนื้อหาความรู้ได้ในหลายสถาบัน

สําหรับบุคลากรกลุ่มนี้ งานวิชาการคุณภาพบ่งถึงงานที่ผ่านเกณฑ์ “ขั้นต่ำ” ของระบบประกันคุณภาพ พวกเขาประเมินผลงานวิชาการหนึ่งว่า “ดี” จากรูปแบบและปริมาณของการอ้างอิง จากการ “แปะ” ข้อความหรือคำศัพท์ยากๆ เข้าด้วยกันโดยไม่สนใจความหมาย หรือจากข้อมูลสถิติรุงรังแต่ไม่สื่ออะไร

งานวิจัยจำนวนมากในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วย “ข้อมูล” แต่กลับไม่มี “ความรู้” หรือ “ภูมิปัญญา” ของผู้ทำ รีดเดอร์หลายคนทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุดเพียงแค่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์อักษร และคำว่า “วิชาการ” ก็ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการจัดการหลักสูตรเป็นหลักเท่านั้น

ที่น่าเศร้าก็คือ มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงานอย่างมีคุณภาพจริงๆ ไม่ได้สนใจ “ระบบ” หรือ “กลไก” เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด พวกเขาทุ่มเทชีวิตศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเขียนงานที่เป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในสาขาของตน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะผลิตผลงานดีๆ ได้สักชิ้น แต่คนกลุ่มนี้กลับมีที่ยืนน้อยลงเรื่อยๆ ในสังคมอุดมศึกษา เนื่องจากการทำงานด้าน “เนื้อหา” นั้นยากกว่าการทำงานตาม “รูปแบบ” ซึ่งถ้าไม่มีผลงานมายื่นขอตำแหน่งวิชาการตามหลักเกณฑ์และในเวลาที่กำหนด พวกเขาก็จะถูกผลักให้ออกไปจากสถาบันอุดมศึกษา

อุดมการณ์ความเป็นครูทุกวันนี้ถูกท้าทาย เพื่อครอบครัวและความมั่นคงในอาชีพ ครูบาอาจารย์หลายคนจึงยอมละทิ้งคุณธรรมและคุณภาพ หันไปสนับสนุนปรากฏการณ์ “แปะ” เพื่อตัวกูและของกูไว้ก่อน

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ งบประมาณจำนวนมากถูกเทไปให้กับงานวิจัยเชิงปริมาณที่สนับสนุนปรากฏการณ์ “แปะ” และผลิตผลของปรากฏการณ์ “แปะ” ก็กำลังจะเป็นมาตรวัดคุณภาพทางการศึกษาชั้นสูงของประเทศไทย

สําหรับคนที่ได้ดีจากการ “แปะ” มาแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนคนอื่นที่กำลังดิ้นรนอยู่ในวงการศึกษาให้เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันด้วยความเมตตาแบบไทยๆ แต่ถ้าใครไม่เอาด้วย ก็จะถูกกีดกันออกไปให้ทำงานวิชาการอย่างโดดเดี่ยว คนที่ไม่สนับสนุน “ระบบ” ถูกมองว่าเป็นผู้ไม่มีน้ำใจ ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อนในทางวิชาการ อุดมการณ์ของครูมหาวิทยาลัยทุกวันนี้จึงแขวนอยู่บนเส้นด้ายโดยแท้

เพราะคำว่า “คุณธรรม” ถูกเข้าใจว่าเป็นความเมตตาอย่างมืดบอด สร้าง “กลไก” ตอบสนอง “ระบบ” เพื่อ “อุปถัมภ์” กันไปก่อน ช่วยเหลือกันด้วยวิธีการใดก็ได้ไม่ต้องสนใจศีลธรรม และคำว่า “ปัญญา” ถูกมองว่าเป็นการร่วมมือกันหาแหล่งทุน ทำให้ถูกหลักเกณฑ์ และแบ่งผลประโยชน์ทางวิชาการ หากเป็นตามนี้แล้ว เราจะยังสามารถหวังให้มี “ความรู้คู่คุณธรรม” ในสถาบันอุดมศึกษาได้อีกหรือ

ถ้าอนาคตของชาติเข้าใจคุณธรรมและปัญญาไปในแนวทางนี้ ก็คงไม่ใช่ความผิดของพวกเขา หากคือความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา ที่ยอมจำนนต่อปรากฏการณ์ “แปะ” ซึ่งกำลังจะกลายเป็นค่านิยมแบบใหม่ของวงการศึกษาระดับสูงของไทย

แน่นอนว่า ปรากฏการณ์แบบนี้ส่งผลดีต่อหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่จะได้คะแนนประกันคุณภาพสูงขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว คนที่ยังรักประเทศนี้และศรัทธาต่อการศึกษาคงจะพอมองออกว่า มันส่ง “ผลดี” หรือ “ผลร้าย” ต่อคุณภาพทางการศึกษาของลูกหลานไทย

คุรุชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image