‘ปลัดคลัง’สั่งสศค.ทำแพคเกจออมแห่งชาติลดภาระรัฐดูแลสูงวัยในอนาคต

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “Wellness Aging สูงวัย มีสุข” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.4) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำแพคเกจการออมแห่งชาติ 4 มาตรการ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นก็จะเสนอต่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป

“จะมีการยกระดับการให้ความรู้เรื่องการออมแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัยและกลุ่มการทำงาน เพื่อสร้างวินัยการออมให้อยู่ในดีเอ็นเอ ซึ่งมีความตั้งใจอยากให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะตระหนัก โดยในช่วง 10-15 ปีหลังจากนี้ หากรัฐบาลไม่เตรียมมาตรการหรือแผนรองรับไว้ จะมีภาระงบประมาณแผ่นดินในการดูแลผู้สูงอายุ 600,000-700,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดวิกฤตทางการคลังได้ในอนาคต”นายสมชัยกล่าว และว่า แพคเกจการออมแห่งชาติจะประกอบด้วย 1.การยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นแผนส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับภาคประชาชน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดวินัยการออม การใช้จ่ายและการลงทุน โดยอยากให้ฝังอยู่ในดีเอ็นเอว่าต้องประหยัดเพื่ออนาคต และสอดคล้องกับประชาชนแต่ละวัย เช่น เจนวาย เจนแซท กลุ่มคนทำงาน กลุ่มเกษตรกร กรุ่งแรงงาน กลุ่มคนตกงาน

นายสมชัยกล่าวว่า 2.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันการออมที่เป็นเสาหลักของประเทศ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยประสานกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย 3.การส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์การออมรูปแบบใหม่ๆ โดยการนำนวัตกรรมมาออกกรมธรรม์ในลักษณะการออมระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ เช่น มาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจประชาชน และ 4.การเพิ่มเติมระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2561 โดยคาดว่าภายใน 7 ปีหลังมีผลบังคับใช้ จะมีสมาชิกประมาณ 11 ล้านคน มีเงินในกองทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ทาง วตท.24 เตรียมออก Wellness Aging Product หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบกองทุนควบประกัน จะให้ผลตอบแทน 3-4% และนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ โดยผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นลักษณะการจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าแล้วจะมีผลบังคับใช้หลังจากเกษียณอายุ ทั้งเงินบำนาญและการประกันสุขภาพ สำหรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวม ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไฟเขียวแล้ว ขณะนี้รอการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากตามกฎหมายเดิมประกันจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังจ่ายเบี้ยประกัน

Advertisement

“เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่า มีแรงงานประมาณ 3 ล้านคนที่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากร ซึ่งนอกจากจะเป็นอัตราที่น้อยแล้ว เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวยังมีแค่เพียง 300,000 บาทต่อคน ในขณะที่คนวัยเกษียณควรจะมีเงินใช้ประมาณ 6-10 ล้านบาทต่อคน ถึงจะเพียงพอ” นายวินกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image