ศีลธรรมแบบศาสนาในโลกสมัยใหม่ โดย:สุรพศ ทวีศักดิ์

ต่อคำถามที่ว่า “ศีลธรรมมาจากไหน?” ทฤษฎีวิวัฒนาการสายดาร์วินตอบว่า มาจากวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์

กล่าวคือ เมื่อสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์ “มนุษย์” วิวัฒนาการมาถึงจุดที่เกิดปัญญา รู้ว่าอะไรดีหรือเลว จึงทำให้เกิดจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี และทำให้มนุษย์มีแนวโน้มโดยธรรมชาติที่จะประเมินค่าหรือตัดสินการกระทำต่างๆ ว่า ถูก ผิด ดี ชั่ว

จากศักยภาพทางปัญญาและสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีซึ่งวิวัฒนาการขึ้นภายในตัวมนุษย์ ได้นำมาสู่การสร้าง “บรรทัดฐานทางศีลธรรม” คือบรรทัดฐานที่ใช้ตัดสินว่าสิ่งที่ดี หรือควรจะเป็นคืออะไร เช่น ชีวิตที่ดี หรือชีวิตที่ควรจะเป็นคืออะไร สังคมหรือโลกที่ดี น่าอยู่ หรือควรจะเป็นคืออะไร เป็นต้น

แต่บรรทัดฐานทางศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของ “วิวัฒนาการทางธรรมชาติ” หากเป็นเรื่องของ “วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม” ที่รับช่วงต่อจากธรรมชาติด้านสติปัญญาของมนุษย์ซึ่งเป็นผลของวิวัฒนาการทางธรรมชาติอีกที
วิวัฒนาการทั้งสองด้านนี้เป็นเหตุปัจจัยหนุนเสริมกัน ในแง่หนึ่งวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมสะท้อนแรงขับของวิวัฒนาการทางธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นสนามลองผิดลองถูกที่ส่งผลย้อนกลับทำให้ศักยภาพด้านสติปัญญาของมนุษย์พัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

บรรทัดฐานทางศีลธรรมอันเป็นผลของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในเวลาที่ยาวนานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่น บรรทัดฐานตามความเชื่อของชนเผ่า ศาสนาพื้นบ้านต่างๆ ศาสนาหลักๆ ของโลก ความเชื่อทางประเพณีวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ ที่แตกต่างกันไป

นักทฤษฎีวิวัฒนาการมองว่า มีบรรทัดฐานทางศีลธรรมจำนวนมากที่สังคมมนุษย์เลิกใช้ ถูกทิ้งหรือถูกลืมไปตามกาลเวลา เพราะบรรทัดฐานเหล่านั้นขัดแย้งหรือไม่เชื่อมโยงกับการทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และไม่สามารถให้เหตุผลในทางปฏิบัติได้ว่าจะก่อให้เกิดผลที่พึงประสงค์ได้จริง

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ วิวัฒนาการด้านบรรทัดฐานทางศีลธรรมได้มาถึงจุดแบ่งแยกระหว่างบรรทัดฐานของ “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) กับ “ศีลธรรมแบบโลกวิสัย” (secular marality) ชัดเจนขึ้น โดยถือว่าศีลธรรมแบบศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนศีลธรรมแบบโลกวิสัยเป็นหลักการทางสังคมที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาพึงยึดถือปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน

Advertisement

ศีลธรรมแบบศาสนาจึงถูกถือว่าเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” หรือเป็นความเชื่อเฉพาะของกลุ่มคนหรือชุมชนที่ศรัทธาในศาสนาหนึ่งๆ ที่ไม่ควรมี “สภาพบังคับ” โดยกฎหมายหรืออำนาจรัฐ

หน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติต่อศาสนาซึ่งเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล คือการให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาเพื่อให้ประชาชนแต่ละคนเลือกนับถือ เรียนรู้ ปฏิบัติตามความสมัครใจของตนเองเท่านั้น รัฐจึงไม่สนับสนุนหรือต่อต้านศาสนาใดๆ ไม่บังคับเรียนเพื่อปลูกฝังศีลธรรมของศาสนาใดๆ ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ เป็นต้น

ส่วนศีลธรรมแบบโลกวิสัย หมายถึงการทำตามหลักการพื้นฐานที่ถูกต้อง เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ประโยชน์สุขของส่วนรวม ย่อมเป็นทั้งเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ ปัญญา จิตสำนึกที่เข้าใจและเคารพหลักการพื้นฐานดังกล่าว และเป็นเรื่องที่มี “สภาพบังคับ” เช่น สภาพบังคับในรูปหลักสิทธิมนุษยชน ระเบียบการปกครองของรัฐและกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติขึ้นบนหลักการพื้นฐานดังกล่าว

ผลของการแบ่งแยกเช่นนี้ ทำให้เรื่องการปฏิบัติศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อหรือศรัทธาของแต่ละบุคคล เมื่อเป็นความเชื่อของแต่ละคนก็ไม่ใช่ “ข้อเรียกร้องทางสังคม” และไม่ใช่เรื่องของรัฐ เช่นไม่ใช่เรื่องที่จะเรียกร้องกันว่าศีลธรรมเสื่อมเพราะคนห่างศาสนา รัฐต้องส่งเสริมศีลธรรมศาสนาเพื่อแก้ปัญหาศีลธรรมเสื่อม เป็นต้น แต่เป็นเรื่องที่ปัจเจกแต่ละคนที่ศรัทธาในศาสนานั้นๆ จะสนใจเรียนรู้และปฏิบัติเพื่อความสุขหรือความสงบทางจิตใจของตนเอง (ถ้าเขาต้องการ)

ส่วนศีลธรรมแบบโลกวิสัยเป็นเรื่องของ “ปฏิบัติการทางสังคม” และเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทางสังคม เช่น การต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ ของคนแบบไผ่ ดาวดิน, จ่านิว, เนติวิทย์ หรือการต่อสู้ของบุคคลที่มีอุดมการณ์ในอดีต ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในไทยและในแทบทุกประเทศทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน

แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เราพูดเรื่องการพัฒนาศีลธรรมกันแบบ “ผิดฝาผิดตัว” เพราะเวลาพูดเรื่องศีลธรรม เรานึกถึงเฉพาะ “ศีลธรรมแบบศาสนา” เป็นด้านหลัก และอ้างศีลธรรมแบบศาสนาเป็น “ศีลธรรมทางสังคม” พร้อมๆ กับสร้างมายาคติว่า การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ถ้าไม่มีศีลธรรมกำกับก็เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ไม่รู้หน้าที่ และสร้างความแตกแยก เราจึงพูดถึงศีลธรรมในแบบที่เน้นเรื่อง “คนดี” ซึ่งหมายถึงคนที่มีศีลธรรมแบบศาสนาเป็นพื้นฐาน แล้วเราก็เชื่อว่าคนดีที่มีศีลธรรมแบบศาสนาเป็นพื้นฐานเขาจะทำดีในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องทางสังคมและการเมือง

แต่ความจริงไม่ใช่เลย เพราะคนดีหรือคนที่แสดงให้เห็นว่ามีศีลธรรมแบบศาสนาในบ้านเรา ส่วนมากมักมีทรรศนะทางการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการ และมักทำงานรับใช้เผด็จการ พร้อมๆ กับอ้างคำพระหรือคำสอนพุทธศาสนาให้ความชอบธรรมกับอำนาจเผด็จการไปด้วย

เมื่อเอาศีลธรรมแบบศาสนาซึ่งเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลมาเป็นเรื่องทางสังคมหรือเป็นเรื่องของรัฐ ผลก็คือทำให้ศีลธรรมแบบศาสนาเข้ามาเบลอศีลธรรมแบบโลกวิสัย ซึ่งเป็นศีลธรรมทางสังคม เช่น ทำให้การพัฒนาศีลธรรมทางสังคมคือสำนึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้ยาก

และทำให้เข้าใจกันผิดๆ ไปว่า คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ใช่ “คนดี” แต่เป็นพวกหัวรุนแรง สร้างความแตกแยกวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและความสงบสุขของสังคม
พูดอย่างถึงที่สุด จนกว่าพัฒนาการความเข้าใจเรื่องศีลธรรมของสังคมเราจะถึงจุดที่สามารถ “จำแนก” ได้ว่าอะไรคือเรื่องส่วนบุคคล อะไรคือเรื่องทางสังคม ศีลธรรมแบบศาสนาจึงจะสามารถตอบสนองต่อศรัทธาของปัจเจกบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และศีลธรรมแบบโลกวิสัยจึงจะได้รับการส่งเสริมและให้หลักประกันโดยรัฐไทย

และเมื่อนั้น เราจึงจะพ้นจากอิทธิพลของการสร้างสำนึกทางสังคมแบบอำนาจนิยมไปสู่สำนึกทางสังคมแบบประชาธิปไตยได้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image