วัดบางขุนเทียนนอกพ้อสื่อเสนอมุมเดียว เผยเหตุทุบ ‘เสือปลัดขิก’หวังจบเรื่อง-ห่วงมีปัญหาพระผู้ใหญ่ ยันไม่ละกิจสงฆ์

สืบเนื่องกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์วัดบางขุนเทียนนอก เขตจอมทอง กรุงเทพฯ สร้างโคมไฟรูปร่างคล้ายอวัยวะเพศชายล้อมรอบรูปหล่อหลวงปู่ทวดบนวิหารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมทำบุญเพื่อสมทบทุนสร้างวิหารดังกล่าว ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ต่อมา ทางวัดได้ทุบโคมไฟทิ้ง รวมถึงเคลื่อนย้ายประติมากรรมล้ายอวัยยวะเพศชายสีขาวมีขา ตา และปีก เรียกว่า “เสือปลัดขิก” ในจุดต่างๆ ของวัดออกทั้งหมดเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 18 กันยายน พระลูกวัดบางขุนเทียนรายหนึ่ง เปิดเผยว่า วัดได้ตัดสินใจทุบทำลายทั้งโคมไฟและประติมากรรมทั้งหมด เนื่องจากหลังเกิดกระแสข่าวมีบางสื่อนำเสนอมุมเดียว จึงกังวลว่าจะมีปัญหากับพระผู้ใหญ่จึงต้องตัดปัญหาโดยการทุบทิ้ง นำออกทุกจุดและไม่ได้คิดจะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรเพราะกลัวจะมีปัญหาอีก เจตนาทางวัดไม่ได้คิดอกุศล แต่บางสื่อนำไปเล่น แต่ก็เข้าใจภาษาข่าวว่าต้องทำให้คนอ่านสนใจ วัดก็ไม่ได้ละทิ้งกิจการของสงฆ์ทุกด้าน มีการส่งเสริมการศึกษา ให้ทุนการศึกษาเด็ก แต่สื่อบางช่องไม่ได้นำเสนอ

“ความคิดไม่เหมือนกัน ทางวัดไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น แต่เมื่อเขาบอกว่าไม่เหมาะควรตามที่เขาคิด ก็เลยตัดสินใจทุบทิ้ง ทางวัดอยากให้เรื่องจบ จึงทำการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านบางคนมาเห็นว่าทุบทิ้งก็ถามว่าทุบทำไม เราก็บอกว่ามีปัญหา คนที่มาปฏิบัติธรรมสวดมนต์ เขาก็เข้าใจ ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่เมื่อกระแสแรงขนาดนี้จึงตัดสินใจทุบ” พระลูกวัดกล่าว

ก่อนทุบโคมไฟ
หลังทุบโคมไฟ

ชาวบ้านไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งใช้คลองบางขุนเทียนเป็นเส้นทางสัญจรเป็นประจำกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ต่อไปนี้เวลาพายเรือผ่าน จะไม่ได้เห็นเสือปลัดขิกหันหน้าสู่คลองอีก วัดกับชุมชนต้องฟังเสียงซึ่งกันและกัน เมื่อโลกติเตียน แล้วพระสงฆ์รับฟัง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

Advertisement

นายธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งมีชื่อเสียงในแวดวงการท่องเที่ยว ในชื่อ ‘หนุ่มเมืองกรุง’ ห้องบลูแพลนเน็ต เวปไซต์พันทิปดอทคอม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้วัดคงหลงทาง คิดว่าวัตถุเหล่านั้นจะช่วยดึงดูดคนให้เข้าไปท่องเที่ยว หรือทำบุญที่วัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องไม่ลืมว่าคนไทยอีกไม่น้อย ไม่ได้รู้สึกดีกับการเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในวัด ถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับวัดอื่นๆ ว่าอย่าหลงลืมหน้าที่ของวัดซึ่งเป็นศาสนสถาน การดึงดูดคนเข้าวัด ต้องทำอย่างถูกต้อง ขอให้พิจารณาสิ่งดีงามที่มีในวัดแล้วเชิดชูขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์ กรณีของวัดบางขุนเทียนนอกเป็นโบราณสถานของชาติ มีพระอุโบสถที่งดงาม ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมที่ทรงคุณค่า

“กระแสที่เกิดขึ้นคงเป็นอุทหารณ์ว่าวัดต้องคิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดบางขุนเทียนนอก มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดี คือ มีศิลปกรรมในวัด ควรชูประเด็นเรื่องนี้มากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวัฒรธรรม ขนบธรรรมเนียม ประเพณี ส่วนตัวไม่ได้ปฏิเสธการดึงคนไปเที่ยววัด แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ขัดแย้งกับหน้าที่หลักของวัด คือการเป็นศาสนสถาน ที่ผ่านมาวัดอาจมองข้ามไป โดยไปเน้นเรื่องเฮง รวย ต้องทำนู่นทำนี่เพิ่มเติม คนที่ชอบเครื่องรางของขลังมีเปอร์เซนต์น้อยเมื่อเทียบกับคนไทยทั้งหมดโดยภาพรวม ขอฝากไปถึงวัดอื่นๆด้วยว่าบางครั้งไม่ต้องสร้างสิ่งที่เกินความจำเป็น แต่ให้หันมามองสิ่งดีงามที่มีอยู่แล้ว” นายธนกฤตกล่าว

ศรีศักร วัลลิโภดม

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่วัดตัดสินใจทำลายเสือปลักขิกและโคมไฟ ถือว่าพระที่วัดยังมีสติ ยอมรับฟัง ต่างจากบางวัดที่แม้สังคมท้วงติงแต่ไม่สนใจ ปัจจุบันคนในสังคมมีความรู้มากขึ้น มีวิจารณญาณ ไม่ได้ชักจูงง่าย ที่สำคัญคือมีความตื่นตัวกับประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

Advertisement

“ถือว่าพระท่านยังมีสติ ไม่เหมือนบางวัด เตลิดไปเลย เดี๋ยวนี้สังคมไม่ได้ถูกชักจูงง่ายอย่างเก่า สัญลักษณ์วัดพุทธคือความบริสุทธิ์ การนำเรื่องเพศมาแปดเปื้อน จึงถูกต่อต้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ที่วัดบางขุนเทียนนอกแห่งเดียว แต่ยังมีอีกหลายวัดที่ทำอะไรโจ๋งครึ่ม เพราะพระบางรูปไม่รู้ว่าอะไรคือเถรวาท มหายาน ไสยศาสตร์ เอามาปนกันมั่วจนแปรปรวนไปหมด ทางที่ดีควรเดินไปตามแนวทางพุทธตามประเพณี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาเช่นนี้อีก” ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักรกล่าว

ทั้งนี้ ความเป็นมาของวัดบางขุนเทียน จากในหนังสือ ‘บางขุนเทียน ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยและกรุงรัตนโกสินทร์’ พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ น.ท.สุขุม บุนปาน รน. เมื่อ 28 มีนาคม 2530 ระบุว่า เป็นวัดเก่าแก่มีหลักฐานถึงยุคกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณสามแยกที่คลองดาวคะนองชนกับคลองด่าน โดยมีวัดบางขุนเทียนกลาง และวัดบางขุนเทียนในตั้งอยู่เรียงกัน น.ณ ปากน้ำ ปราชญ์สยาม อธิบายว่ารูปทรงโบสถ์เป็นแบบเก่า มีจั่วปั้นปูนมีถ้วยชามประดับและมีเพิงยื่นออกหน้าหลัง เสารับเพิงเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุม 12 บัวหัวเสากลีบยาวสมัยอยุธยาตอนปลาย

ในอุโบสถมีพระพุทธรูปสมัยอยุธยาขนาดใหญ่ ส่วนภาพจิตรกรรมสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ บานหน้าต่างเขียนรูปชายหญิงเป็นคู่ๆในลักษณะ ‘สิบสองภาษา’ คือ มีชาวไทย จีน ลาว มอญ ฝรั่ง พราหมณ์ ฯลฯ ถือเป็นโบราณสถานสำคัญในฝั่งธนบุรี

อุโบสถเก่าแก่ของวัดบางขุนเทียนนอก เขตจอมทอง กทม.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image