สุจิตต์ วงษ์เทศ : สนามหลวง, ท้องพระเมรุ, ถนนหน้าวังหลวง ยุคกรุงเก่า อยุธยา

มหารัถยา ถนนหน้าวังหลวง ด้านทิศใต้ เป็นทางเสด็จไปลงเรือพระที่นั่ง และตั้งขบวนแห่ในพิธีต่างๆ ยุคกรุงเก่า (ซ้าย) เห็นบางส่วนของวัดพระราม (กลาง) เป็นสี่แยกตะแลงแกง มีแนวถนนเดิมไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

อยุธยาจะเทียบชั้นเมืองประวัติศาสตร์ระดับนานานาติ ต้องรักษาภูมิสถานสำคัญให้ได้ โดยเฉพาะสนามหลวงยุคกรุงเก่า ท้องพระเมรุกลางกรุงศรีอยุธยา

บริเวณทิศใต้ของวังหลวงตั้งแต่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร-วัดพระราม มีแนวถนนหน้าวังหลวงที่ต้องแก้ไขบูรณะให้ใกล้เคียงสภาพเดิมยุคกรุงเก่า โดยจัดใหม่การจราจรและการใช้พื้นที่ทั้งหมด

ท้องพระเมรุ สนามหลวง

ท้องพระเมรุ เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระศพเจ้านายยุคอยุธยา

Advertisement

สนามหน้าจักรวรรดิ ต่อเนื่องถึงลานพระเมรุ (หน้าวัดมงคลบพิตร) เรียกรวมๆ ว่า สนามใหญ่ (มีในกฎมณเฑียรบาลว่า “เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ออกสนามใหญ่”) เป็นต้นทางชื่อสนามหลวง

งานพระเมรุ เผาพระศพเจ้านายยุคอยุธยา แรกมียุคสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172-2199) กล่าวกันว่าโปรดให้ก่อสร้างพระเมรุมาศบริเวณที่ว่างทางใต้พระวิหารพระมงคลบพิตร

จดหมายเหตุการพระศพกรมหลวงโยธาเทพ  (พระราชธิดาที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์) พรรณนาการอัญเชิญพระศพมาทางชลมารค (ทางเรือ) แล้วแห่ไปตั้งพระศพไว้บนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

เมื่อครบกำหนดแล้วให้เชิญพระศพจากพระที่นั่งไปยังพระเมรุมาศที่ท้องพระเมรุ

การละเล่นสนามใหญ่

สนามใหญ่ เป็นชื่อในเอกสาร รวมสนามหน้าจักรวรรดิเชื่อมออกมาถึงท้องพระเมรุ เทียบได้กับสนามหลวงของกรุงเทพฯ

สนาม หมายถึง พื้นที่โล่งกว้างใช้ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และสงคราม ฯลฯ แต่บางแห่งหมายถึงศูนย์กลางของอำนาจที่มีคณะผู้มีอำนาจใช้เป็นที่ประชุมปรึกษาหารือก็มี

การละเล่น เป็นมหกรรมใหญ่สุด มีบอกในกฎมณเทียรบาล ว่า เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ออกสนามใหญ่ [หมายถึง สนามหน้าจักรวรรดิ ต่อเนื่องสนามท้องพระเมรุ = สนามหลวง]

ชุดแรก ล่อช้าง (ขบวนช้าง), รันแทะ (แข่งเกวียนระแทะ), วัวชน (ชนวัว), กระบือชน (ชนควาย), ชุมพาชน (ชนแกะตัวผู้), ช้างชน (ชนช้าง), คนชน (หัวล้านชนกัน), ปรบไก่ (เล่นเพลง, ตีไก่), คลีชงโคน (ตีคลี), ปล้ำมวย (มวยปล้ำ), ตีดั้งฟันแย้งเชิงแวง (กระบี่กระบอง), เล่นกล (เล่นกล),คลีม้า (ตีคลีบนหลังม้า)

ชุดหลัง เรียกม้าล่อช้าง (ขบวนช้างม้า), ระเบ็งซ้ายขวา (ระเบ็ง), รำดาบซ้ายขวา       (รำดาบ), ระบำออกหม่งครุ่ม (ระบำ+หม่งครุ่ม), หน้ากลอง (?), ตีไม้ (กุลาตีไม้), พุ่งหอก (พุ่งหอก-อาวุธ), เล่นแพน (ระบำนกยูง?), ยิงธนู (ยิงธนู), ปลายไม้ (ยืนปลายไม้-กายกรรม),ลอดบ่วง (กระโจนลอดบ่วง), ไต่เชือกหนัง     (เดินไต่เชือกหนัง)

ถนนหน้าวังหลวง

ถนนหน้าวังหลวง เอกสารยุคอยุธยาเรียก มหารัถยา อยู่กลางพระนคร กว้าง 12 เมตร (6 วา) ปูด้วยศิลาแลง ออกจากประตูวังหลวง ด้านทิศใต้ ลงไปประตูไชย กำแพงพระนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ เยื้องปากคลองคูจาม นอกเกาะเมือง)

ใช้ตั้งกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารค-ชลมารค, แห่กฐินหลวง, แห่นาคหลวง, แห่พระบรมศพ เป็นเส้นทางกระบวนแห่รับราชทูตจากต่างประเทศ ขึ้นจากเรือ เข้าวังหลวง

หอฆ้องกลอง บอกเวลาทุ่ม-โมง

สี่แยกตะแลงแกงมีหอกลอง และมีศาลพระกาฬ

หอกลอง ยอดซุ้มทาสีแดงมี 3 ชั้น สูงราว 60 เมตร (30 วา) แต่ละชั้น มีแขวนกลองชั้นละใบ

  1. ชั้นบนสุด (ชั้น 3) แขวนกลองชื่อ พระมหาฤกษ์ ตีเมื่อมีศึกมาชิดพระนคร
  2. ชั้นกลาง (ชั้น 2) แขวนกลองชื่อ พระมหาระงับดับเพลิง ตีเมื่อมีไฟไหม้ ตามกำหนด ได้แก่ ไฟไหม้ฝั่งแม่น้ำนอกกรุง ตี 3 ลา เป็นระยะๆ ถ้าไฟไหม้ฝั่งเกาะเมืองทั้งนอกและในกำแพงพระนคร ตีจนกว่าไฟจะดับ
  3. ชั้นล่าง (ชั้น 1) แขวนกลองชื่อ พระทิวาราตรี ตีตอนเที่ยงวัน และตอนเย็น (ตะวันตกดิน) แล้วตียามตลอดคืน

เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล เป็นผู้พิทักษ์รักษากลองทั้ง 3 ชั้น ต้องเลี้ยงแมว ป้องกันมิให้หนูกัดหนังหน้ากลอง

เวลาเช้า-เย็น พนักงานกรมพระนครบาลต้องตามเก็บเบี้ยรายได้ตามร้านตลาดหน้าคุกในอัตราร้านละ 5 เบี้ย สำหรับมาซื้อปลาย่างให้แมวกิน

ทุ่ม-โมง กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้ากุ้ง พรรณนาว่ากลางคืนตีกลองบอกเวลาเสียงดังตุ้มๆ เป็นต้นเค้าคำว่า ทุ่ม ส่วนกลางวันตีฆ้องเสียงดังโหม่งๆ เป็นต้นเค้าคำว่า โมง

[อาจจำลองสร้างหอฆ้องกลองให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวขึ้นตีทุ่มโมงบอกยามตามเวลาได้สนุกสนานเบิกบานอยุธยา]

ศาลพระกาฬ เป็นเทวสถาน (เหมือนลพบุรี) ในศาสนาพราหมณ์ เคยขุดพบซากฐานอิฐเทวสถาน (แต่ปัจจุบันดัดแปลงเป็นศาลหลักเมือง)

ตลาดศาลพระกาฬ อยู่ถนนย่านหน้าศาลพระกาฬ มีร้านชำ ขายหัวไน, โครงไน (ใช้ปั่นฝ้าย)

ตลาดหน้าคุก อยู่ถนนย่านตะแลงแกง มีร้านขายของสด เช้า-เย็น

ประตูไชย อยู่สุดถนนหน้าวังหลวง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์ และปทาคูจาม) มีท่าเรือหลวง (ทำนองเดียวกับท่าวาสุกรีที่สามเสน กรุงเทพฯ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image