อาศรมมิวสิก ทีพีโอ ปีที่ 12 จบด้วยแร็กเควียม ถวายรัชกาลที่ 9 โดย:สุกรี เจริญสุข

ความจริงวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) บรรเลงจบฤดูที่ 12 ด้วยผลงานของเบโธเฟน ซิมโฟนี หมายเลข 9 เมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2560 ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการแสดงรายการพิเศษเพิ่มขึ้น ในวันที่ 30 กันยายน และวันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยมีชาวคริสต์ในประเทศไทยร่วมด้วยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และคณะนักร้อง 500 คน จากโบสถ์ต่างๆ มีอัลฟองโซ สการาโน (Alfonso Scarano) เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี ทั้งนี้จัดดนตรีเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (Requiem for King Rama IX)

ในรายการแสดงบทสวดแร็กเควียม (Requiem) มีผลงานเพลงของโมสาร์ท (Mozart) แฟเร (Faure) มีผลงานของแวร์ดี (Verdi) ซึ่งถือเป็นบทเพลงแร็กเควียมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดนตรี และยังมีบทเพลงที่ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่โดย ณรงค์ ปรางค์เจริญ ใช้บทกวีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ “ขวัญ” เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นเชื่อว่าชาวตะวันออกไม่ได้เชื่อเรื่องความตายและไม่รู้จักความตายด้วยซ้ำ เพียงแต่ขวัญได้ออกจากร่างหลงทางและหายไป จึงต้องเล่นดนตรีประโคมขับกล่อมเพื่อที่จะเรียกขวัญให้กลับคืนมา

เรื่องของ “ขวัญ” จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ในภูมิภาคอุษาคเนย์

Advertisement

ทีพีโอเปิดฤดูที่ 13 เพื่อรำลึกถึงครูอัลเบอร์โต นาซารี ด้วยโอเปร่าคาวาล์เลอเรีย รูสติกานา

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อทรงก่อตั้งวงเครื่องสายฝรั่งหลวง (พ.ศ.2457) กรมมหรสพหลวง สยามในขณะนั้น ยังไม่มีวงซิมโฟนีออเคสตรา โดยขอโอนนักดนตรีไทยที่มีฝีมือจากกรมพิณพาทย์หลวงให้มาฝึกหัดเล่นดนตรีสากล ทั้งเครื่องเป่าและเครื่องสาย ประมาณ 20 คน โดยมีฝรั่งชื่อ นายยอน อินโนเค ชาวอังกฤษ เป็นครูสอนซึ่งก็ไม่ได้ผล เพราะครูพูดภาษาไทยไม่ได้ สอนดนตรีก็ไม่เก่ง แถมนักเรียนดนตรีก็ไม่ชอบฝึกซ้อมเครื่องดนตรีสากล และไม่ชอบอ่านโน้ตอีกต่างหากด้วย

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ว่าจ้างครูอัลเบอร์โต นาซารี (Alberto Nazzari) จากเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกสอนวงดุริยางค์ของทหารอยู่ก่อนแล้ว (พ.ศ.2454) ที่ตึกกระทรวงกลาโหม เรียกวงเครื่องสายฝรั่งม้ารวม เนื่องจากครูนาซารีเป็นคนเก่ง สามารถสอนให้วงดนตรีเล่นเป็นเพลงได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน จึงมีการเสนอให้ขอครูนาซารีได้ไปสอนเครื่องสายฝรั่งหลวงแทนครูชาวอังกฤษ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้บันทึกไว้ว่า

Advertisement

“อาจารย์นาซารีผู้นี้ ข้าพเจ้ารู้จักดีและคุ้นเคยกันมาก แม้ในเวลานั้นข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรมรถไฟก็ตาม ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยอ่อนโยน อารีอารอบดี มีวิชาความรู้สูง มีความชำนาญ และมีความสามารถยิ่งในการปรับปรุงเพลงให้วงแตร เพราะเมื่อได้เข้าทำหน้าที่ไม่กี่ปี ก็สามารถนำแตรวงของกองทัพบกออกแสดงคอนเสิร์ตด้วยบทเพลงในขั้นวิจิตรศิลป์ภายในกระทรวงกลาโหมหลายครั้ง เป็นที่พอใจแก่ผู้ฟัง ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ” ต่อมาอัลเบอร์โต นาซารี ได้เป็นวาทยกรคนแรกและเป็นผู้นำวงเครื่องสายฝรั่งหลวงออกแสดงเป็นคนแรก (พ.ศ.2456) ถือเป็นกำเนิดวงออเคสตราในกรุงสยาม ซึ่งเป็นวงออเคสตราขนาดกลาง (45 ชิ้น)

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ครูนาซารีกลับไปรับใช้ชาติโดยเป็นทหารรบอยู่ในสงคราม (พ.ศ.2458-2460) เมื่อสงครามสงบลง ครูนาซารีก็ได้กลับมารับราชการเป็นผู้ควบคุมวงเครื่องสาย (28 มีนาคม 2460)

ผลงานชิ้นสำคัญของครูนาซารีคือ การแสดงโอเปร่าของมัสกัญญี (Pietro Mascagni) เรื่องคาวาล์เลอเรีย รูสติกานา (Cavalleria Rusticana) ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ.2431 ขณะนั้นมัสกัญญีอายุ 25 ปี

คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา เป็นบทเพลงมีความไพเราะ ง่าย เป็นเรื่องที่สั้น และเป็นโอเปร่าที่ชนะการประกวด ทำให้มีชื่อเสียงมาก ต้องใช้นักร้องประสานเสียงจำนวนมาก มีนักร้องตัวเอกถึง 5 คน คือ พระเอก นางเอก นางอิจฉา ตัวโกง และแม่พระเอก แต่ในสมัยนั้นไม่สามารถที่จะใช้คนไทยร้องเป็นตัวเอกได้ จะใช้ได้แค่เป็นนักร้องหมู่ประกอบเท่านั้น จึงต้องหาชาวฝรั่งที่อยู่ในเมืองสยามขณะนั้นมาช่วยร้อง

ก่อนที่คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา จะมาแสดงในเมืองไทย ก็ได้เปิดแสดงในยุโรปไปก่อนแล้ว 30 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่โด่งดังมากในยุโรป ในช่วงชีวิตของมัสกัญญี คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา ได้เปิดแสดงในอิตาลีถึง 14,000 ครั้ง โดยไม่ได้นับเมืองอื่นๆ ในยุโรป จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ครูนาซารีเลือกเรื่องนี้มาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และถือเป็นวันกำเนิดวงออเคสตราของไทย

คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา มีเนื้อเรื่องคล้ายๆ ขุนช้างขุนแผนของไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน แคว้นทัสกานี คือพระเอกต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อกลับมาบ้าน แฟน (นางเอก) ที่หมั้นหมายกันไว้ ก็ไปแต่งงานกับคนอื่น (ตัวโกง) พระเอกก็ไปควงผู้หญิงอื่น (นางอิจฉา) ซึ่งเป็นสาวในหมู่บ้าน นางเอกซึ่งเห็นแฟนเก่าทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็แต่งกับคนอื่นไปแล้ว ก็ยังรู้สึกอิจฉาและหึงหวง จึงหาโอกาสที่จะพบกับพระเอก ในที่สุดถ่านไฟเก่าก็กำเริบ เมื่อสามีจับได้ว่าเธอกลับไปเป็นชู้กับแฟนเก่า (พระเอก) ในฐานะของตัวโกงก็ท้าพระเอกดวลดาบกัน สุดท้ายพระเอกถูกฆ่าตาย เธอก็ร้องไห้คร่ำครวญ เรื่องก็จบลงแค่นั้น

วงออเคสตราที่ครูนาซารีใช้สำหรับการแสดงคาวาล์เลอเรีย รูสติกานา ครั้งแรกในสยาม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2461 มีฟลุต 2 ตัว พิกโคโล 2 ตัว โอโบ 2 ตัว คลาริเน็ต 2 ตัว เบสซูน 2 ตัว ฮอร์น 4 ตัว ทรัมเป็ต 2 ตัว ทรอมโบน 3 ตัว ทูบา 1 ตัว ทิมปานี 1 คู่ เครื่องเคาะ (ฉาบ กลองใหญ่ กลองแต๊ก โลหะสามเหลี่ยม กลองทอม ระฆังราว) ฮาร์ป ออร์แกน และเครื่องสาย

ซึ่งจากเครื่องดนตรีที่มัสกัญญีเขียนไว้ ดูจากเครื่องดนตรีในเมืองสยามสมัยนั้นแล้ว ไม่น่าจะมีครบทุกเครื่อง แต่ก็มีหลักฐานว่าเครื่องดนตรีที่ได้กล่าวถึง มีอยู่ในวงดนตรีต่างๆ อาทิ วงทหารบก วงเครื่องสายฝรั่งหลวง วงดุริยางค์ม้ารวม

และที่สำคัญก็คือ เป็นบทเพลงที่เล่นยากสำหรับนักดนตรีในสมัยนั้น ครูนาซารีก็ต้องเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นเสียใหม่ เพื่อทำให้เพลงง่ายขึ้น และทำเสียงจากเครื่องดนตรีอื่นๆ ทดแทนเครื่องที่ไม่มีในวงดนตรี

หลักฐานที่บันทึกไว้ในจดหมายของนาซารีเขียนส่งไปที่บ้านที่เมืองตูริน อิตาลี บอกว่าได้รับช่อดอกไม้จากคณะนักร้อง นักดนตรี และยังได้รับเหรียญตราพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งหลานสาวของอัลเบอร์โต นาซารี เก็บรักษาไว้กระทั่งปัจจุบัน โดยหลานสาว (Adriana Lo Faro) ต่อมาได้ค้นคว้าจากหลักฐานทั้งในประเทศไทยและที่อิตาลี เรื่องราวของคุณตานาซารีทำให้ทราบข้อมูลการแสดงดนตรีคลาสสิกในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างดี

อัลเบอร์โต นาซารี เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2426 เสียชีวิตวันที่ 28 มิถุนายน 2462 ด้วยโรคปอดบวม ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เพราะไปพายเรือในคลองสาทรแล้วเรือจม ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาล อายุได้ 36 ปี เรื่องคาวาล์เลอเรีย รูสติกานา ได้แสดงขึ้นครั้งแรกในกรุงสยาม จึงถือโอกาสรำลึกถึงบุคคลสำคัญที่ได้สร้างคุณงามความดีเอาไว้สำหรับคนรุ่นหลังได้ศึกษาพัฒนา

วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2560 เป็นการเปิดฤดูกาลปีที่ 13 ของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย โดยนำโอเปร่า คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา ของมัสกัญญี โดยมีนักร้องนำออสเตรีย/อิตาเลียน 4 คน ส่วนตัวพระเอกเป็นนักร้องไทย ณัฐพร ธรรมาธิ มีคณะนักร้องประสานเสียงของไทย 110 คน มีอัลฟองโซ สการาโน จากเมืองมิลาน อิตาลี เป็นผู้ควบคุมวง โดยแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร

คราวนี้ คาวาล์เลอเรีย รูสติกานา เป็นรายการเปิดฤดูกาลที่ 13 เพื่อรำลึกผู้เริ่มก่อตั้งวงออเคสตราในสยาม โดยครูอัลเบอร์โต นาซารี เมื่อ 104 ปีมาแล้ว และเป็นวันครบ 100 ปี ของการแสดงคาวาล์เลอเรีย รูสติกานา ในประเทศไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image