ก.แรงงาน ร่วมสถาบันศึกษา เสริมแกร่งศูนย์ทดสอบฯ ติดดาวแรงงานสู่ 4.0

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่าจากการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็คือกำลังแรงงานที่มีความรู้และทักษะในงานอาชีพที่สูงขึ้น ต้องมีความรับผิดชอบและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เล็งเห็นว่า การตอบสนองความต้องการดังกล่าวคือการใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศ กพร.จึงส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการศึกษาและสถานประกอบกิจการ เป็นเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรม และศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้การบริการกำลังแรงงานและประชาชนได้อย่างทั่วถึง ในปีนี้ (2560) มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 124 แห่ง ในปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบฯ รวมทั้งสิ้น 444 แห่ง

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาเทคโนโลยีชั้นสูงกับกพร. ได้รับอนุญาตให้เป็น “ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี” สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารระดับ 1 เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบฯ ให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย แรงงาน ประชาชนทั่วไป ในการวัดระดับความรู้ความสามารถ ศักยภาพด้านทักษะฝีมือที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประกาศแล้ว 67 สาขา อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอยู่ระหว่าง 315-815 บาทต่อวัน รวมถึงเป็นการเผยแพร่มาตรฐานฝีมือแรงงานให้กว้างขวางเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่าล่าสุดด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้รับอนุญาตจากสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี (สนพ.นนทบุรี) เพิ่มสาขาที่ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ อีก 1 สาขา คือ สาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ระดับ 1 และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น สนพ.นนทบุรี จัดให้มีโครงการ “พิธีส่งเสริมศูนย์ทดสอบมาตรฐานที่เป็นสถานศึกษาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนตามวิถีประชารัฐ” ขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรม เพื่อมอบป้ายเครื่องหมายศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้กับทางมหาวิทยาลัยและมีการติดดาวให้แก่ผู้ผ่านการทดสอบฯ จำนวน 44 คน ในสาขาอาชีพต่างๆ ดังนี้ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ พนักงานนวดไทย

“เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่กพร. ดำเนินการเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ผ่านการทดสอบฯ และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนในกิจกรรมมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรกระจายไปสู่ชุมชนด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันศึกษา ช่างฝีมือในชุมชนท้องถิ่น นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสังคมและชุมชนต่อไป” อธิบดีกพร.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image