ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภค14จว.ใต้ จี้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ

ภาพประกอบ

 

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้จาก 420 ตัวอย่าง เดือนกันยายน  พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม  ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวและภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น  โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องมาจากแนวโน้มที่ดีของการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยปัจจัยบวกจากการเปิดฤดูการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันในวันที่ 15 ตุลาคมและจากแนวทางการสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านรายได้จากการทำงาน โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง ราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน ผลผลิตมีจำนวนลดลง เนื่องจากมีฝนตกชุกทั่วทั้งภาคใต้ในช่วงนี้ ประชาชนจึงกังวลในค่าครองชีพและการจับจ่ายใช้สอย

“ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29.20 และ 35.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.10 และ 40.20 ตามลำดับ โดยคาดว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 32.60 หนี้สินครัวเรือนร้อยละ27.90 และราคาสินค้าร้อยละ 16.90  และปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ”ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image