“กรมชลฯ”เข็น5โครงการน้ำขนาดใหญ่มูลค่ากว่า4หมื่นล.เข้าครม.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ในระหว่างเร่งรัดดำเนินการเปิดโครงการก่อสร้างระบบชลประทาน ขนาดใหญ่ ตามแผนงานปีงบประมาณ 2561 เพื่อให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 40,895 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานรองรับน้ำฝน 72,500 ไร่ และแก้ไขพื้นที่ประสบภัยแล้ง 18,100 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติเปิดโครงการได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์นี้ 2.โครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อ.เมืองนครศรีธรรมราช วงเงิน 9,580 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอ.เมืองนครศรีธรรมราช ให้ลดลง 90% ของพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 17,400 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ได้ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2560

นายสมเกียรติ กล่าวว่า 3.โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช วงเงิน 2,377 ล้านบาท โดยมีความจุอ่าง 20.1 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 13,014 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯซึ่งมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เห็นชอบภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน 4.โครงการห้วยหลวง จ.หนองคาย วงเงิน 21,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 45,390 ไร่ และเพิ่มน้ำต้นทุน 245.87 ล้านลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน 5.อ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ วงเงิน 2,938 ล้านบาท โดยมีความจุอ่าง 70.21 ล้านลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 75,000 ไร่ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เห็นชอบภายในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าครม.ภายในเดือนพฤศจิกายน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมชลประทาน จะเร่งรัดผลักดันโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ภายหลังจากครม.ได้อนุมัติหลักการเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยขณะนี้กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯอยู่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ จากนั้นจะทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นคิดของผู้เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการปักหลักเขตที่ดินให้เกิดความชัดเจน ควบคู่ไปกับการสำรวจออกแบบ จากนั้นจะประเมินค่าใช้จ่ายของทั้งโครงการ และจะเสนอครม.เพื่ออนุมัติเปิดโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 8 – 9 เดือนนับจากนี้ และจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image