สุจิตต์ วงษ์เทศ : โซตัสในความเป็นไทย

แขวนคอกลางกรุงเทพฯ เมื่อ 6 ตุลา 2519 แล้วหาคนร้ายไม่ได้ 41 ปีแล้ว (ภาพ “6 ตุลา 2519” ในสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)

หลังได้ยินรายงานข่าวเกี่ยวกับ อ.ธงชัย วินิจจะกูล พูดในงานเปิดเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” กล่าวโดยสรุปว่า “โซตัสใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่อยู่ทั่วประเทศไทยในระบบราชการ….” อะไรทํานองนี้

ทําให้ตาสว่าง ใจสว่าง มองเห็นหนทางกว้างขวาง ตั้งคําถามความเป็นไทย ผมจึงเขียนไปคราวก่อนว่าโซตัสขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อยู่ในโครงสร้างอํานาจรัฐราชการของความเป็นไทยทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งควบคุมพฤติกรรมทุกลมหายใจไทยทุกคนในชีวิตประจําวัน

ความเป็นไทย คือ วัฒนธรรมไทย ไม่มีอยู่จริง และไม่เคยมีตลอดยุคกรุงศรีอยุธยากับกรุงธนบุรี

แต่เป็นสิ่งถูกเสกสรรปั้นแต่งหรือสร้างขึ้นโดยคนชั้นนําราว 150 ปีมานี้ เพื่อผดุงโครงสร้างอํานาจตามอุดมคติของพวกตนให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วยัดเยียด (โดยผ่านสื่อมวลชน) คนทั่วประเทศให้เชื่อว่ามีอยู่จริงๆ

Advertisement

จึงมีลักษณะหยุดนิ่ง แข็งทื่อ ไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงความสืบเนื่องจากอดีตยาวนานที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง

ความเป็นไทยของคนชั้นนํามีเนื้อหาสําคัญเพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลา และควบคุมคนทั่วไปให้ยอมจํานนต่อความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม

ความเป็นไทย (หรือวัฒนธรรมไทย) ไม่ใช่สมบัติเป็นส่วนรวมทั้งสังคมของสาธารณชนคนทั่วไป จึงกลวงโบ๋และอ่อนแออย่างยิ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกที่ไม่เหมือนเดิม

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของความเป็นไทย เช่น ที่สูง-ที่ต่ำ, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, รุ่นพี่-รุ่นน้อง ฯลฯ มีต้นตอจากลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ตกทอดถึงอํานาจการปกครองระบบอุปถัมภ์แบบเจ้าพ่อกับลูกน้อง ที่ส่งต่อเป็นมรดกถึงรัฐราชการทุกวันนี้

โซตัส จะเป็นอะไร? มาจากไหน? ไม่สําคัญเท่ากับโซตัสเข้ากันได้ดีกับระบบราชการของรัฐราชการไทยปัจจุบัน จึงจำเริญเติบโตแข็งแรงในมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาทุกระดับ แม้จะออกนอกระบบ แต่สำนึกอยากอยู่ในกำกับ

ต่อให้ไม่อยู่ในกำกับ แต่สำนึกอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปล้วนวางตนเป็นเจ้าขุนมูลนายแบบราชการ หรือแบบอาณานิคมภายใน ที่เข้ากันได้ดีกับโซตัส

 

โซตัสในมหาวิทยาลัย

โซตัส คืออะไร? มาจากไหน? ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่อง ผมไม่เคยได้ยิน และไม่เคยรู้จักเลย แม้เมื่อเข้าเป็นนักเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2507

จะรู้ก็แค่เนื้อความของรุ่นพี่ที่ควบคุมแนะนํานักเรียนใหม่ให้ตะโกนพร้อมกัน (อย่างไม่เข้าใจ) ว่า “ภราดร สามัคคีธรรม มนุษยธรรม และประเพณี อาวุโส”

[นักเรียนใหม่ในครั้งนั้น รวมหมดแล้วไม่ถึง 100 คน มี 4 คณะ ได้แก่ จิตรกรรมประติมากรรม, สถาปัตย์, มัณฑนศิลป์, โบราณคดี]

แก้ผ้า วัดขนาดอวัยวะเพศชาย

รับน้องใหม่ พ.ศ. 2507 มี 2 คืน 1 วันเท่านั้น (คืนแรกสุกดิบ คืนสองงานเลี้ยง เมา สนุกสุดเหวี่ยง) แต่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมมีตลอดปี และมีตลอดมาไม่ลดละเลิกจนล่าสุด

ผมจะเล่าเรื่องเฉพาะคืนสุกดิบ เท่าที่จำได้อย่างไม่ชัดเจนนัก (อาจคลาดเคลื่อนได้บ้างในรายละเอียด) นักเรียนใหม่เฉพาะผู้ชายถูกสั่งไปนอนค้างคืนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย (อยู่หลังกรมศิลปากร สนามหลวง ยุคนั้นมีบริเวณแคบๆ เพราะยังไม่ขยายพื้นที่ทะลุถึงวังท่าพระ)

ราวหลังตีสองถูกปลุกโดยรุ่นพี่ทําทีโมโหโกรธาอะไรก็ไม่รู้ นักเรียนใหม่ตกใจตื่น แล้วถูกสั่งเข้าแถว ถอดเสื้อ (ยังไม่ถอดกางเกง) จากนั้นถูกยัดเยียดตื่นนอนต้องบำรุงกำลังกินไข่ไก่สดดิบคนละฟอง

หลายคนอ้วก แต่ผมเฉยๆ เพราะเคยกินบ่อยๆ ตอนเป็นเด็กบ้านนอกแอบขโมยจากเล้าไก่เพื่อนบ้าน (ยุคนั้นบ้านนอกไม่กินไข่ไก่ กินแต่ไข่เป็ดต้มลูกโตๆ ต้มลูกเดียวผ่าแบ่งกินทั้งบ้าน 8 คน)

เสร็จแล้วถูกสั่งให้ถอดกางเกง (เสื้อถอดทิ้งไปไม่มีแล้ว) แก้ผ้าหมดทุกคน

ผมถอดอย่างชินชากล้าหาญมาก เพราะเด็กบ้านนอกเมื่อออกเลี้ยงควายไปเป็นกลุ่มหาผักบุ้งกลางทุ่ง ต้องแก้ผ้าโดดน้ำเล่นเป็นประจําอยู่แล้ว ลงบ่อปลาของชาวบ้านไม่รู้สึกอับอายขายหน้าใคร

จากนั้นถูกสั่งเดินเรียงแถวออกจากห้องในคืนเดือนมืด ไปขึ้นเวทีเล็กๆ ปิดไฟไร้แสงกลางสนามหญ้าขนาดกะทัดรัด (ตรงอนุสาวรีย์ อ.ศิลป์ พีระศรี ทุกวันนี้)

ทันใดนั้นไฟฟ้าสว่างพรึบบนเวที มีสปอร์ตไลท์จากไหนไม่รู้ฉายจับแล้วกวาดให้เห็นหําทุกคน จึงมีเงาดําทอดทับฉากหลังสีขาวที่รุ่นพี่ทำไว้ (เหมือนภาพเขียนสีผนังถ้ำเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว)

ไม่นานนัก รุ่นพี่สั่งให้กึ่งเดินกึ่งวิ่งเป็นแถวลงจากเวที แล้วขึ้นเวที 2-3 รอบ ตอนนั้นไม่รู้สึกอะไรนอกจากทําตามสั่งอย่างสะพรึงกลัว โดยบอกไม่ถูกว่ากลัวอะไร? กลัวทําไม?

[แต่มานึกภาพในตอนหลังแล้ว ฝูงคนแก้ผ้าน่าจะเหมือนผีเปรตในนิทาน ที่ว่าเปลือยกายสูงๆ ผอมๆ โกโรโกโรค และน่าจะอย่างเดียวกับคนเปลือยหรือคนพื้นเมืองแก้ผ้า ที่ชาวชมพูทวีป (อินเดีย) เรียก นาค ส่วนสุนทรภู่เรียกในพระอภัยมณีว่าชีเปลือย]

จากนั้นรุ่นพี่ยกแผงกระดาษแข็งเจาะรู ซึ่งเขาทําเตรียมไว้แล้วขึ้นตั้งเป็นแผงหน้าบนเวที มีรูเรียงขนาดกลมๆ ตั้งแต่เล็ก-กลาง-ใหญ่

นักเรียนใหม่บนเวทีเข้าแถวหน้ากระดานหันหน้าหาคนดูกลางสนาม (ล้วนเป็นรุ่นพี่มีไม่มาก) เดินเรียงจับอวัยวะเพศของตัวเองยัดใส่รูว่าเข้าได้รูไหน? ซึ่งเท่ากับวัดขนาด โดยมีรุ่นพี่กํากับเคร่งครัดพลางก็หันหน้าไปทางคนดูกลางสนามประกาศขนาด (ไม่ทุกคน) เป็นทางการอย่างสนุกสุดๆ

ผลปรากฏว่าเพื่อนคนหนึ่ง (เพิ่งตายไป) คณะเดียวกับผม ยัดเข้ารูอื่นไม่ได้ รูใหญ่สุดยังคับ รุ่นพี่เลยประกาศอย่างลิงโลดว่าชนะเลิศ เป็นที่กล่าวขวัญต่อไปอีกนานหลายปี

ส่วนผมเดินจ๋องๆ ลงเวที เพราะรองบ๊วย ไม่มีใครไยดีอีกเลย

ใบบัวปิดช้างตายไม่มิด

แก้ผ้างานรับน้องใหม่ของนักศึกษาที่นี่ มักมีข่าวลงหนังสือพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ไม่ถึงกับทุกปี แต่มีเป็นที่รู้กัน ครูบาอาจารย์ปฏิเสธข่าวตามประเพณีทุกครั้งที่มีข่าว ทั้งๆ รู้ว่าเรื่องจริง

แต่ชาวบ้านคนอ่านข่าวไม่เชื่อคำปฏิเสธของอาจารย์ เพราะเชื่อตามข่าวว่ามีจริง

นานไปก็ลืม “ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด” พอเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ก็เริ่มใหม่

ดังนั้นมีข่าวแค่วันเดียวหรือสองวันก็เลิก เพราะคนอ่านไม่ถือสาหาความกับครูอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเล็กสุดในประเทศไทย (ครั้งนั้น) ที่ได้รับกล่าวขวัญว่านักเรียนไว้ผมยาวสุด สกปรกสุด ติสต์สุด และยุคนั้นถูกเหยียดสุดๆ

สังคมไทยสมัยนั้น (เป็นไปตามสังคมโลก) ยกย่องคนตัดผมเกรียนแบบนักเรียนนายร้อยนายเรือ แล้วประณามคนไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง (เป็นต้นเหตุให้มีขบวนการต่อต้านสังคมโดยไว้ผมยาวที่เรียกกันต่อมาว่า “ฮิปปี้”)

นักศึกษาสาวทุกมหาวิทยาลัยสมัยนั้น (มี 5 แห่ง) ยินดีเดินควงนักเรียนนายร้อยนายเรือตัดผมเกรียน แล้วเหยียดพวกติสต์ศิลปากรที่ผมยาวสกปรกหมกเหม็นเป็นขี้ครอกขี้ข้า ขี้ข้อย

โซตัสแข็งแรงขึ้น

ราว 10 ปีหลังจากผมเป็นนักเรียนใหม่ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ครั้นอีก 3 ปี ก็มี 6 ตุลาคม 2519  เหตุการณ์สังหารโหดกลางกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ แต่หาคนสั่งฆ่าและคนฆ่ายังไม่ได้ นับถึงขณะนี้ 41 ปี

โซตัสในความเป็นไทยยังแข็งแรงแผ่กว้างขวางดีกว่าแต่ก่อน ทั้งในมหาวิทยาลัยและในรัฐราชการ สอดคล้องกับความแข็งแกร่งของอำนาจนิยมเผด็จการทหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image