สุจิตต์ วงษ์เทศ: พระอินทร์ ผู้บันดาลน้ำฟ้าน้ำฝน

พระราชพิธีอินทราภิเษก (ผู้รู้บอกว่าเป็นภาพลายรดน้ำบนฉาก เคยตั้งอยู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว)

 

พระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นพิธีกรรมแสดงสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ หมายถึงเสด็จเสวยสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นพระโพธิสัตว์ แต่เมื่อยังทรงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินมีพระบรมเดชานุภาพดุจพระอินทร์ คือพระจักรพรรดิราช

ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ มีประวัติความเป็นมายาวนานมากนับพันๆ ปีมาแล้ว แต่สรุปย่อ (โดยศึกษาจากงานค้นคว้าอันมีค่าอย่างยิ่งของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน) ต่อไปนี้

  1. พระเมรุมาศ คือ เขาพระสุเมรุ

พระเมรุมาศ เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเหนือขึ้นไปเป็นที่สถิตมหาปราสาท ที่ประทับของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเหนือขึ้นไปอีกเป็นสวรรค์ชั้นดุสิต

Advertisement
  1. เขาพระสุเมรุจากอินทราภิเษก

เขาพระสุเมรุ ต้นแบบพระเมรุมาศ ได้จากพระราชพิธีอินทราภิเษก ที่ทำสืบทอดกันต่อมาจากบ้านเมืองและรัฐยุคแรกๆ ของภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ถึงยุคต้นอยุธยา พบหลักฐานในเอกสารเก่า ดังนี้

(1.) กฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยาราว พ.ศ. 2000 และ (2.) พระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง เมื่อลบศักราช พ.ศ. 2181

  1. อินทราภิเษกเป็นเสมือนพระอินทร์

อินทราภิเษก หมายถึง พิธียอยกพระเจ้าแผ่นดินมีบรมเดชานุภาพเสมือนพระอินทร์ ซึ่งเป็นจักรพรรดิราชในอุดมคติดั้งเดิม

พระอินทร์เป็นเทวดามีอำนาจสูงสุด ผู้บันดาลน้ำฟ้าน้ำฝนเกิดความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหาร ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของวัฒนธรรมฮินดูในอินเดียโบราณ

บ้านเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ รับความเชื่อเรื่องพระอินทร์มาแต่สมัยแรกติดต่ออินเดีย (โดยเฉพาะคนในตระกูลภาษาไต-ไท รับมาผสมกลมกลืนเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม) ครั้นสมัยหลังปรับเปลี่ยนตามศาสนาพราหมณ์ มีมหาเทพอื่นๆ ประสมประสานด้วย

ในไทยยกย่องพระอินทร์ไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน ดูจากชื่อกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง กรุงของพระอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image